กำเนิดและความเป็นมา  การแข่งขันกรีฑาเครือฯ
                การแข่งขันกีฬาและกรีฑาระหว่างโรงเรียนต่างๆ ในสังกัดมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ดำเนินมา กว่า 40 ปีแล้วในขณะนั้นการแข่งขันกีฬาของประเทศไทยยังไม่เป็นที่เปิดแพร่หลาย  โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนเซนต์คาเบรียล  ได้ร่วมกิจกรรมทางด้านกีฬาขึ้นตามโอกาสจะอำนวย  ต่อมามีโรงเรียนเข้าร่วมแข่งขันอีก 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ และโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา  การแข่งขันกรีฑาได้ว่างเว้นไป  และกลับมามีขึ้นใหม่ในวันที่ 29 มกราคม 2498  โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรื้อฟื้นการแข่งขันกรีฑาเครือฯ ให้มีความสามัคคี รักใคร่ซึ่งกันและกันระหว่างพี่-น้อง ในการแข่งขันครั้งนี้มีทั้งทีมชายและทีมหญิง  ซึ่งถือว่าเป็นพี่-น้องในเครือเดียวกัน ได้แก่ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเซนต์หลุยส์ โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา โรงเรียนมงฟอร์ต โรงเรียนคอนแวนต์ โรงเรียนมาแตร์เดอี และโรงเรียนเซนต์ฟรังลิสเซเวียร์คอนแวนต์  แยกแข่งชาย-หญิง จากนั้นก็ไม่ปรากฏว่า ไม่มีการแข่งขันอีกเลย
จนกระทั้งในสมัยที่  ภราดาวิริยะ ฉันทวโรดม  เป็นอธิการเจ้าคณะเซนต์คาเบรียลฯ ในราวปี พ.ศ.2520 ท่านได้ดำริในการประชุมคณะภราดาว่า “สถาบันการศึกษาต่างๆ ของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยมีถึง 14 สถาบัน มีนักเรียนและนักศึกษารวมกันกว่า 3 หมื่นคน ครูเกือบสองพันคน น่าจะมีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน  เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีงามต่อกัน สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในอนาคต จึงต่างเห็นพ้องกันว่า ควรจัดการแข่งขันกีฬาและกรีฑาร่วมกัน  โดยมีอธิการเจ้าคณะแขวงฯเป็นประธานจัดการแข่งขัน”
                ดังนั้นการแข่งขันกรีฑาครั้งแรกจึงมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2524 ณ สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ  โดยจัดการแข่งขันเพียง 1 วัน ประธานผู้ให้เกียรติมาทำพิธีเปิดและปิดคือ  ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญสม  มาร์ติน  ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมเป็นจำนวนมากหลังจากสิ้นสุดการแข่งขันได้มีการประเมินผล  ข้อดีข้อผิดพลาดเพื่อนำมาปรับปรุงในการแข่งขันกีฬาเครือฯ ต่อไป  ซึ่งในที่ประชุมได้ลงมติให้จัด 2 ปีต่อ 1 ครั้ง  ต่อมาในปีพ.ศ.2526  ได้มีการจัดการแข่งขันกรีฑาเครือฯ ครั้งที่ 2 ขึ้น ณ สนามศุภชลาศัยฯ โดยเชิญนายสมาน  แสงมะลิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาเครือฯ  ครั้งที่ 3 ตามปกติจะต้องจัดขึ้นในปี พ.ศ.2528 แต่ว่าในปีนั้นประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์  ซึ่งไม่สะดวกต่อการจัด จึงมีมติให้จัดขึ้นก่อนกำหนด 1 ปี โดยจัดการแข่งขันกรีฑาและกีฬาขึ้นในปี พ.ศ.2527  ณ โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา  และได้จัดการแข่งขันกรีฑาเครือฯ ขึ้น ณ ที่นี้มาโดยตลอด ในครั้งที่ 3  ได้เพิ่มกีฬาเข้าไปด้วยในปี พ.ศ.2529 ได้มีการจัดการแข่งขันกีฬาและกรีฑาฯ ครั้งที่ 4 ขึ้น ประธานที่ให้เกียรติมาเปิดการแข่งขัน คือ พลเอกเทียนชัยสิริสัมพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี ศิษย์เก่าโรงเรียน เซนต์คาเบรีบล
                การแข่งขันกรีฑาเครือฯ ครั้งที่ 5 ซึ่งต้องจัดในปี พ.ศ.2531 นั้น เป็นอันต้องหยุดลง  เนื่องจากแต่ละสถานบันไม่พร้อมในการจัด  จึงเลื่อนมาจัดในปี 2532 ซึ่งให้มีการแข่งขันเฉพาะกรีฑาเพียงอย่างเดียว ผู้ที่ได้รับเชิญมาเป็นประธาน  ทำพิธีเปิดการแข่งขัน คือ ฯพณฯ  กร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และในปี 2534ทางคณะฯ ได้จัดการแข่งขันกรีฑาเครือฯ ขึ้นอีก นับเป็นครั้งที่ 6 ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากพลอากาศเอกสุวิช  จันทประดิษฐ์ ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ  เป็นประธานในพิธีเปิดใน ครั้งที่ 7 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2536 มีพลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์อธิบดีกรมตำรวจ  ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน กรีฑาเครือฯ ครั้งที่ 8 จัดขึ้นที่สนามสิรินธร โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา วันที่ 23-24 ตุลาคม 2539 มีนายวิวัฒน์  วิกรานโนรส รองผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นประธานมีกรีฑาทั้งหมด 17 ประเภท  การแข่งขันแบ่งเป็น 5 รุ่น คือ รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี 14 ปี 16 ปี 20 ปี และประเภทหญิงทั่วไป
                ในโอกาสที่ พ.ศ.2544  เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปี  ของภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ทางคณะภราดาได้กำหนดจัดงานเฉลิมฉลองทั้วระดับชาติและระดับภูมิภาค  การแข่งขันกรีฑาเครือฯ ครั้งที่ 9 เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองนี้  จึงได้จัดการแข่งขันขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 ตุลาคม 2544 ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ  โดย พล.อ.อ.สิทธิ์ เศวตศิลา  องคมนตรี ศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียลเป็นประธานในพิธี และภราดาเรอเน  เดอลอร์ม อัคราธิการภราด คณะเซนต์คาเบรียลเป็นประธานในพิธีปิด  ท่ามกลางอธิการแขวงฯ จากประเทศต่างๆ ในวังกัด ของภราดาคณะเซนต์คาเบรียล  นับว่าเป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่  ประทับใจบรรดาแขกต่างประเทศและทุกๆ คนที่เข้าร่วม มีการถ่ายทอดสดทางทีวีสีช่อง 9 ให้ชมทั่วประเทศ
                การแข่งขันกรีฑาเครือครั้งที่ 10 ได้กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 29-30 ตุลาคม 2547  ที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาโดยมีจุดประสงค์เพื่อถวายเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษาในวันที่ 12 สิงหาคม 2547 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานถ้วยรางวัลคะแนนรวมทุกรุ่น จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และถ้วยรางวัลชนะเลิศแต่ละรุ่นจำนวน 6 ถ้วย จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโดยมี พล.อ.พิจิตร กุลวณิชย์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด และ ฯพณฯ สนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เป็นประธานในพิธีปิด การแข่งขันกรีฑาเครือ ครั้งที่ 11  ได้กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 27-29 ตุลาคม 2549 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา  โดยมีจุดประสงค์เพื่อถวายเป็นเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในนโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานถ้วยรางวัลคะแนนรวมทุกรุ่นจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ และถ้วยรางวัลแต่ละรุ่นจำนวน 6 ถ้วย จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  โดยมี พล.ร.อ.ชุมพล  ปัจจุสานนท์  องคมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิด และภราดาศักดา  กิจเจริญ  อธิการเจ้าคณะเซนต์คาเบรียลแขวงประเทศไทย เป็นประธานในพิธีปิด

ประวัติความเป็นมา
                คณะภราดาที่เดินทางจากประเทศฝรั่งเศสมาประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2444 มี 5 ท่านคือเจษฎาธิการมาร์ติน เดอ ตูรส์, เจษฎาธิการอาแบล, เจษฎาธิการออสต์กูส, เจษฎาธิการคาเบรียล ฟาเรตต์ และ เจษฎาธิการฟรังชัวส์ ฮีแลร์
                การเดินทางมาของคณะภราดาครั้งนั้น เพื่อดำเนินการบริหารและสอน ณ โรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพฯซึ่งบาทหลวงเอมิล คูสติน กอลมเบต์ ได้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2428 และท่านบาทหลวงกอลมเบต์ได้ยกโรงเรียนนี้ให้กับคณะเซนต์คาเบรียลเข้สมาดำเนินการต่อ จากนั้นท่านคณะภราดาเซนต์คาเบรียลได้เข้ามาดำเนินการศึกษาในประเทศไทย นับแต่นั้นมา
การดำเนินงานสอนในโรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพฯ ในลักษณะทุ่มเทชีวิตจิตใจของคณะเซนต์คาเบรียล ทำให้ชาวไทยบังเกิดความศรัทธาต่อวิธีการฝึกอบรมนักเรียนของคณะภราดาอย่างกว้างขวาง จึงได้ขอร้องให้สร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีก  ต่อมาจึงสร้างโณงเรียนเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง  ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพมหานคร โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นต้น
                งานให้การศึกษาแก่เยาวชนไทยของคณะภราดา ได้เจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยเป็นอย่างมาก จนถึงปัจจุบันนี้ คณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย มีสถาบันทั้งสิ้น 14 สถาบัน
                นักบวชในคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย  มีเฉพาะนักบวชผู้ชายเท่านั้น เรียกกันทั่วไปว่า “บราเดอร์” คำว่า “บราเดอร์” หรือ “ภราดา” นี้มาจากภาษาอังกฤษ “brother” แปลว่าพี่ชายหรือน้องชาย เราถือว่าผู้ที่ถวายตัวเป็นผู้รับใช้พระเป็นเจ้าในศาสนจักรนั้นต่างก็เป็นพี่น้องกัน เปรียบเสมือครอบครัวเดียวกันในทางศาสนา “brother” หรือ “ภราดา” คือนักบวชที่ได้รับปฏิญาณตนต่อหน้าท่านอธิการเจ้าคณะและพระศาสนจักรที่เป็นตัวแทนพระเป็นเจ้า ถือความยากจน ความบริสุทธิ์ และความนอบน้อม สำหรับภราดาในคณะเซนต์คาเบรียล คือบุคคลที่ได้ปฏิญาณตนเพื่อ
                1. ดำเนินชีวิตตามอย่างท่านนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต ผู้สถาปนาคณะฯ ในการติดตามพระเยซูเจ้า
                2. รับใช้เพื่อมนุษย์ รับใช้พระศาสนจักร รับใช้พระเจ้า โดยให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กจนๆ ที่ไม่มีใครเหลียวแล เด็กกำพร้า ฯลฯ