จุดกำเนิด ACN

กำเนิดโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา

ThaiEnglish

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2500 เกิดโรคระบาด "ไข้หวัดใหญ่ในเอเชีย" กระทรวงศึกษาธิการสั่งให้ปิดโรงเรียนทั่วประเทศ โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาที่ผมประจำการอยู่มีนักเรียนหอพักมากกว่าครึ่งหนึ่ง ได้ติดเชื้อไวรัสและ ล้มป่วย พวกเราโล่งใจที่ได้ส่งนักเรียนกลับบ้าน ซึ่งนับเป็นวันหยุดที่ไม่มีกำหนด บราเดอร์มงฟอร์ตอธิการโรงเรียนในขณะนั้น แนะนำพวกเราให้ไปพักผ่อนสักระยะหนึ่ง เราเลือกไปโคราช นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ ก่อนที่เราจะไปโคราช ขณะนั้นเรากำลังออกเดินทางจากโรงเรียน เราได้พบกับคุณพ่อเบรย์ บาทหลวงผู้ประจำอยู่ที่โคราช ซึ่งกำลังจะนั่งรถไฟกลับโคราช คุณพ่อบอกว่ายินดีต้อนรับหากพวกเราไปโคราช สิ่งที่คาดไว้เป็นจริง คุณพ่อไม่เชื่อสายตาตัวเอง เมื่อเห็นเราอยู่ที่สถานีรถไฟโคราชในตอนบ่ายวันนั้น สมัยนั้นถนนมิตรภาพเพิ่งสร้างเสร็จถึงสีคิ้ว และยังไม่เปิดใช้ พวกเรามาถึงสระบุรีและจะใช้เส้นทางใหม่นี้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ผ่าน เมื่อเราจะไปใช้เส้นทางเดิม มีตำรวจ คนหนึ่งจำบราเดอร์มงฟอร์ตได้และเข้ามาทักทาย ไม่กี่นาทีต่อมาเราก็ได้รับอนุญาตให้ใช้ทางหลวงเส้นนี้ เมื่อมาถึงเมืองโคราชก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น เราเข้าพักที่อาคารริมถนนที่ชื่อว่าโรงแรมพระเยซู คุณพ่อเบรย์ดูแลเราเป็นอย่างดี วันหนึ่งคุณพ่อพาเราไปที่ร้างข้างลำตะคอง และบอกถึงความฝันของคุณพ่อที่อยากจะมีโรงพยาบาล สักแห่งหนึ่ง และก่อตั้งโรงเรียนที่ดำเนินการโดยภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ผมนึกสงสารคุณพ่ออยู่ในใจ ผมไม่คาดว่าอีกสิบปีต่อมา ผมจะได้รับมอบหมายให้มาบุกเบิกโรงเรียนอัสสัมชัญแห่งใหม่ที่โคราช

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2510 ผมได้มาโคราช คุณพ่อเบรย์ ยังประจำอยู่ที่โคราชมาต้อนรับผม เนื่องจากที่นั่นยังไม่มีโรงเรียนและที่พัก คุณพ่อให้การต้อนรับผมเป็นอย่างดี พระสังฆราชอาแลงวังกาแวร์และบาทหลวงทุกคน ให้การต้อนรับผมอย่างอบอุ่นเช่นกัน บาทหลวงเหล่านั้นล้วนเป็นมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส คณะมิซซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) ผมได้รับมอบหมายให้แจกศีลมหาสนิทที่โบสถ์เมื่อพระสงฆ์ไม่ว่าง ซึ่งถือเป็นเกียรติสำหรับผมอย่างยิ่ง

การติดต่อกับหน่วยงานราชการนั้น แตกต่างกับ 4 ปีก่อนที่ผมได้เป็นผู้บุกเบิกโรงเรียนอัสสัมชัญระยอง ที่นั่น ดูเหมือนพระเจ้าทรงเกื้อหนุน เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการเรื่องเอกสารเองทั้งหมด ในเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการอนุญาตให้เปิดโรงเรียน ข้าราชการส่วนใหญ่มีความกระตือรือร้นที่จะส่งลูกหลานมาเรียนกับเรา เมื่อผมไปถึงระยองในกลางเดือนเมษายน อาคารเรียนสร้างเกือบเสร็จแล้ว ผมใช้บ้านพักบราเดอร์ต้อนรับผู้ปกครอง ส่วนที่โคราชผมไม่รู้ว่าจะติดต่อกับหน่วยงานราชการอย่างไร อย่างน้อยในขั้นเริ่มต้น เมื่อผมไปดูสถานที่ก่อสร้างโรงเรียน

หลังจากมาถึงโคราชไม่นานนัก ผมแทบไม่เชื่อสายตาเลยว่าอาคารเรียนชั้นแรกก็ยังไม่เสร็จ บ้านพักบราเดอร์ก็อยู่แต่ในกระดาษเท่านั้น คาดว่าจะได้เปิดโรงเรียนในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 แต่ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมากมาย เช่น สัญญาการก่อสร้าง ซึ่งผมจะต้องดูแลทั้งหมด ทั้งค่าแรงงาน อีกทั้งต้องซื้อปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น เป็นต้น ผมไม่มีเงิน ต้องพึ่งบราเดอร์เกรกกอรี เหรัญญิกคณะฯ ท่านใจดีมากและให้ความช่วยเหลือผมในการก่อสร้างโรงเรียนแห่งนี้ ยังมีชายชราชาวจีนอีกคนหนึ่งที่คอยช่วยเหลือ นั่นคือ นายอรุณ โชคดีที่ผมรู้จักเฒ่าแก่คนนี้ เพราะผมมีโอกาสว่าจ้างเขาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามการจะเปิดโรงเรียนก็ต้องมีนักเรียน ครู คนงาน อีกทั้งเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ด้วย ขณะนั้นโรงเรียนมีเฉพาะชื่อเท่านั้น วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2510 ผมเริ่มรับนักเรียน คุณพ่อเบรย์ ให้ยืมห้องที่โรงเรียนมารีย์วิทยาในการประชาสัมพันธ์โรงเรียน วันสุดท้ายมีนักเรียน จำนวน 78 คน มาสมัครเรียน ผมใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เปิดรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนเต็มทุกห้อง เนื่องจากโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา ยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ ผมไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าเล่าเรียนให้กับผู้ปกครอง เป็นเวลานานกว่า 3 เดือน ผู้ปกครองจำนวนมากเป็นพนักงานของรัฐ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ บางคนที่ยังไม่มั่นใจพากันมาขอรับเงินคืน บางคนได้จ่ายเงินและถามติดตลกว่า ลูกของพวกเขาลงทะเบียนสำหรับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2510 หรือ พฤษภาคม พ.ศ. 2511 กันแน่

ในขณะเดียวกันผมต้องหาเจ้าหน้าที่ธุรการและครู ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าจะทำอย่างไรดี ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2510 ขณะที่ผมกำลังพบผู้ปกครองอยู่ นายเอ็ดวิน (มาสเตอร์สุขมิตร) มาจากศรีราชาโดยไม่คาดหมาย เมื่อ 10 ปีก่อน เราเคยร่วมกันดูแลนักเรียนประจำที่ตึกนฤมล นายเอ็ดวิน ต้องการลงหลักปักฐานในจังหวัดนครราชสีมา เขาอยากจะมีที่ดินสักผืนหนึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียน เพื่อจะสร้างหอพักนักเรียนและเป็นครูสอนที่อัสสัมชัญ เขาเป็นครูที่ดี มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี นอกจากนี้เขายังมีวุฒิการศึกษาที่สามารถบรรจุเป็นครูใหญ่ได้ การมาของเขาเหมือน พระเจ้าประทานพร เขาตกลงจะมาอยู่ที่นี่ การมาเริ่มทำงานของเขานับเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะมีผู้สมัครมามากขึ้น และยังมีศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ตามมาอีกด้วย เช่น นายประพันธ์ นายดรุณ นายโสภณ และครูจาก ภาคอีสานที่ได้เห็นป้ายประชาสัมพันธ์หน้าโรงเรียนก็ทยอยมาสมัครเช่นกัน ต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2510 สิ่งที่สบายเริ่มหมดลง วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 นายเอ็ดวินเริ่มช่วยทำงาน ผมจึงรู้สึกโล่งขึ้น และมุ่งความสนใจไปที่ปัญหาเร่งด่วนอื่น ๆ ลำดับแรก คือ การขออนุญาตเปิดโรงเรียน ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้พยายามผูกมิตรอย่างดีที่สุดกับศึกษาธิการอำเภอ เขาค่อนข้างจะเป็นมิตรและเข้าใจเรา แต่ไม่สามารถช่วยเราได้เลย เพราะโรงเรียนไม่มีอาคาร มีแต่กองไม้และนั่งร้าน ที่จริงแล้ววันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 โรงเรียนควรจะเปิดทำการแล้ว ผมพบว่าพิมพ์เขียวของอาคารยังไม่ได้ส่งมาเพื่อขออนุมัติ ผมดำเนินการทุกอย่างตามแผนของผม ภายใต้การอุปถัมภ์ของนักบุญโยเซฟ แม้ว่าจะโชคไม่ดีและการดำเนินการของผมจะไม่สะดวกนัก วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 เมื่อผม ได้จัดทำตารางสอน และปฏิทินปฏิบัติงานแล้วเสร็จ ผมได้รับแจ้งว่าครูสองคนจะไม่มาสอน ต่อมาอีกวันหนึ่ง ครูอีกหนึ่งคนไม่สามารถมาสอนได้ ดังนั้นผมจึงไปหาคนใหม่ที่มีความสามารถและคุณสมบัติมาช่วย และแล้ววันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 บราเดอร์หนูกาญจน์ หรือ บราเดอร์สิรินันท์ ก็มาถึงโคราช เขาเป็นลูกอีสานแท้จากหมู่บ้านหนองคู (จ.อำนาจเจริญ) เขากระตือรือร้นที่จะช่วยงานอย่างเต็มที่ จากนั้นเรามีการประชุมครูครั้งแรกของโรงเรียน ซึ่งใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง ผมจำได้ว่า ผมขอให้ครูผู้หญิงใส่เครื่องแบบ แต่พวกเขาปฏิเสธ

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 เป็นวันที่ทุกคนแต่งกายเครื่องแบบโรงเรียนอัสสัมชัญ การเปิดตัวของโรงเรียนอัสสัมชัญแห่งใหม่นี้ มีผู้ปกครองจำนวนมากมาพร้อมกับเด็กๆ นักเรียนภูมิใจที่ได้สวมเครื่องแบบของโรงเรียน ผมถือโอกาสนี้กล่าวขอบคุณผู้มีอุปการคุณ ที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือโรงเรียนมาโดยตลอด จากนั้นนักเรียนแยกย้ายไปห้องเรียนและพบครูประจำชั้น วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ได้ขนย้ายวัสดุก่อสร้างออกไปหมด และ ในที่สุดก็มีอาคารเรียนตามที่ตั้งใจไว้ ขณะนั้นโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา เป็นสถาบันการศึกษาที่ไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย หลังจากที่เราได้เริ่มต้นการเรียนการสอนแล้ว บางครั้งศึกษาธิการจังหวัดมาตรวจเยี่ยมโรงเรียน และเตือนครูใหญ่ว่าจะไม่อนุญาตให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 7 สอบเลื่อนชั้น นักเรียนต้องมีเวลาเรียนครบ 180 วัน แต่เจ้าหน้าที่คนเดียวกันนี้มาพบผมในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2510 แจ้งให้ผมทราบว่า เขาได้ลงนามในเอกสารและส่งไปยังกรุงเทพฯ แล้ว และคาดว่าจะได้รับคำตอบที่น่ายินดี ผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ที่ศึกษาธิการจังหวัดกล่าวเช่นนี้ เพราะในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2510 บราเดอร์ฟิลลิป อำนวย ปิ่นรัตน์ อธิการเจ้าคณะฯ เดินทางมาพร้อมกับเอกสารสำคัญที่เรารอคอยมานาน โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอน อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 7 จะสามารถสอบเลื่อนชั้น และผู้ปกครองสามารถรับใบเสร็จรับเงินได้

ส่วนบราเดอร์สิรินันท์ และผมได้พักอยู่ที่บ้านพักคุณพ่อเจ้าอาวาสที่โรงเรียนมารีย์วิทยา จากนั้นชีวิตหมู่คณะนักบวชของเราเริ่มขึ้นทีละน้อยๆ เราอยากจะมีแม่ครัวและแม่บ้านสักคนหนึ่ง ทุกเช้าเราไปโรงเรียนด้วยกันโดย "เจ้าฮอนด้าน้อย" ในช่วงเย็นหลังจากที่เรากลับมาที่บ้านพักชั่วคราว จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 เราได้เข้าพักในบ้านหลังใหม่ บราเดอร์สิรินันท์ ไปธุระที่เมืองหลวงและจะนำแม่ครัวมาด้วย แม่ครัวคนนี้เคยเป็นซิสเตอร์คณะ อูร์สุลิน และเป็นแม่ครัวที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ ในขณะที่ผมเป็นอธิการที่นั่น แต่แล้วบราเดอร์ สิรินันท์ ก็กลับมามือเปล่า ผู้หญิงคนนั้นป่วยจึงมาไม่ได้ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบ้านพักหลังใหม่อีกหนึ่งเรื่อง คือ ขโมยได้ทุบหน้าต่างห้องครัวเข้ามาขโมยของ เราแก้ปัญหาโดยการติดลูกกรงเหล็กดัด ขโมยกลับมาอีกในคืนวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2511 และพกปืนมาด้วย คืนนั้นเราปิดกุญแจลั่นกลอนบ้านเป็นอย่างดี เมื่อผมรู้สึกตัวตื่นขึ้น ผมตะโกนให้ แม่ครัวเข้าไปหลบในห้องน้ำเพื่อความปลอดภัย และผมเป่านกหวีดสุดแรง เพื่อจะขู่ให้หัวขโมยกลัว มันได้ผลจริงๆ หัวขโมยคงคิดว่าตำรวจไล่ตามมันไปติดๆ พวกหัวขโมยวิ่งหนีและหายไปในความมืด ตำรวจแนะนำให้ผมพกพาอาวุธปืน ตั้งแต่นั้นมาผมเตรียมปืนไว้ที่โต๊ะหัวเตียงเสมอ และแล้วคืนหนึ่งขณะที่ผมกำลังจะเข้านอน มีคนขว้างก้อนหินเข้ามาในบ้าน ผมรีบคว้าปืนและหยิบไฟฉายขึ้นมาและยิงปืนขึ้นฟ้า ผมเห็นเงาคนวิ่งกระจายไปคนละทิศ คนละทางอย่างรวดเร็ว หายไปในความมืด พวกหัวขโมยไม่กล้ามาก่อกวนเราอีกเลย วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ผมไปร่วมพิธีฝังศพของบราเดอร์ฮีแลร์ ที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ผมนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ และกลับมาถึงโรงเรียนในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ผมอยากจะอาบน้ำแต่ไม่มีน้ำให้อาบ เพราะพวกหัวขโมยยกมอเตอร์เครื่องสูบน้ำของเราไป ทั้งๆ ที่ยามกำลังนอนหลับอยู่ใต้ต้นไม้ห่างออกไปไม่กี่เมตร ผมสงสัยอยู่ในใจว่าเขาสมรู้ร่วมคิดกันหรือไม่ ต่อมาในเช้าวันหนึ่งพวกเราไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะสายไฟฟ้าถูกรื้อออกจากหม้อแปลง ที่เดินสายไปยังบ้านพักของเรา ครึ่งหนึ่งเป็นสายทองแดงอีกครึ่งหนึ่งเป็นสายตะกั่ว ใครเล่าจะรู้ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือว่าผู้ติดตั้งระบบไฟฟ้าเป็นผู้กระทำเสียเอง ในทั้งสองกรณีนี้เราได้แจ้งความไว้กับตำรวจ แต่ตำรวจไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย และยังมีเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเกิดขึ้น หลังจากเปิดเรียนได้ไม่กี่เดือนครูที่ดีที่สุดของเราคนหนึ่ง คือ นายนิพนธ์ เริ่มบ่นว่า ปวดหลังอย่างรุนแรง เขาพยายามทานแอสไพริน เพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง ไม่นานก็รู้ว่าอาการป่วยไม่ธรรมดา เขาต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และเข้ารับการผ่าตัดโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ ครั้งสุดท้ายที่ผมไปเยี่ยม ดูเขาเหนื่อยอ่อนมาก และหลังจากนั้นอีกไม่กี่สัปดาห์เขาก็เสียชีวิตลง วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2511 ปกติผมจะคุยอยู่กับนักเรียนหลังเลิกเรียน ส่วนใหญ่พวกเขาจะกลับบ้านประมาณ 16.15 น. อีกสิบนาทีก่อนจะปิดสำนักงาน ครูคนหนึ่งรีบมาบอกว่า มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ถูกรถชน เหตุเกิดห่างจากโรงเรียนไปประมาณครึ่งกิโลเมตร ผมรีบไปที่สถานที่เกิดเหตุ พบว่าเด็กชายศิริชัย ถูกรถบรรทุกชนขณะขี่จักรยานกลับบ้าน กะโหลกศีรษะกระแทกพื้นและเสียชีวิต หลังจากนั้นไม่นานนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัส นับเป็นเหตุการณ์ที่ น่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อต้องเปิดโรงเรียนใหม่ การสร้างอาคารเรียน การลงทะเบียนเรียน นักเรียน ครูและอื่นๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องไม่ยากนัก แต่ในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัฒนธรรมองค์กร ดูเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก ผมพบกับปัญหาหนักๆ อยู่ 2 อย่าง คือ ปัญหาครูขาดสอน และนักเรียนขาดวินัย ส่วนใหญ่นักเรียนมาเรียนตอนเช้า แล้วไม่เข้าห้องเรียน หรือบางครั้งก็หายไป 2 หรือ 3 วัน โดยไม่แจ้งให้ทราบ ผมได้แต่ทำตามระเบียบอย่างเข้มงวด และมีการตักเตือนอย่างรุนแรง และรอจนถึงสิ้นปีการศึกษา เพื่อให้พวกเขาลาออก ในการสร้างระเบียบวินัยแก่นักเรียน เมื่อให้การบ้านเราต้องกำชับกับเขาว่า เขาต้องทำให้เสร็จ และเราต้องตรวจการบ้าน ขณะเดียวกันต้องสอนมารยาทเขาด้วย บราเดอร์สิรินันท์ และ นายเอ็ดวิน ช่วยผมได้มากในเรื่องนี้ และโดยเฉพาะจากบรรดาครูที่เป็นศิษย์เก่าจากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ลำพังผมคนเดียวคงไม่สามารถทำเรื่องดังกล่าวได้สำเร็จเป็นแน่ จากนั้นไม่กี่เดือนทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง และในปีการศึกษาแรกโรงเรียนสามารถผ่านไปได้ด้วยดี ปีการศึกษาต่อมาเริ่มมีครูหน้าใหม่และนักเรียนใหม่ เพิ่มมากขึ้น วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 บราเดอร์เลอชัย ที่เพิ่งจบการศึกษาจากประเทศอินเดีย ได้ย้ายมาอยู่กับเรา เป็นที่น่าประหลาดใจมาก แค่ภายใน 1 ปี บราเดอร์เลอชัย สามารถสอบวิชาครูพิเศษระดับมัธยม (พ.ม.) อีกทั้งยังได้คะแนนสูงสุดด้วย บราเดอร์เลอชัย บราเดอร์สิรินันท์ และผม ร่วมกันทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ บราเดอร์ทั้งสองเคยเป็นลูกศิษย์ของผมมาตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา แม้ว่ายังอยู่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของภาคเรียนที่ 2 ก็ตาม ผมได้วางแผนการทำงานสำหรับปีการศึกษาหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว แต่แล้วผมได้รับจดหมายจาก บราเดอร์โรเบิร์ต ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการเจ้าคณะฯ ว่าผมได้รับเลือกเพื่อไปศึกษาต่อทางบริหารธุรกิจกับ บราเดอร์สมพงษ์ ชีรานนท์ และจะกลับมาทำงานในมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ ที่จะเปิดในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2512 น่าจะเป็นจริงที่ว่า ชีวิตคนเราเริ่มเมื่ออายุ 40 ผมเองก็อายุเกือบ 40 ปีแล้ว ผมต้องเปลี่ยนแนวการทำงานโดยสิ้นเชิง ในการบุกเบิกงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง นับว่าเป็นงานที่ท้าทายยิ่ง มันทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นอยู่ไม่ใช้น้อย และนี่เป็นความใฝ่ฝันของผมที่มีมาแต่ต้น ผมพร้อมจะติดปีกและบินไปให้สมความตั้งใจ ส่วนเรื่องของโรงเรียนนั้น คงจะมีคนสืบทอดเจตนารมณ์ ดูแลต่อไป และผมมั่นใจว่าคนอื่นก็สามารถบริหารโรงเรียนต่อจากผมได้ ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2512 ผมได้อำลาจากโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา และได้เริ่มทำหน้าที่ใหม่ที่ได้รับมอบหมายของผมต่อไป