กิน “หอย” ให้ปลอดภัยจาก “ขี้ปลาวาฬ”
ช่วงหน้าร้อนแบบนี้
ทั้งอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมอย่างยิ่งในการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์
ทำให้อาหารที่เรากินนั้นเน่าเสียได้ง่ายขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ปรุงแล้วหรืออาหารสด โดยเฉพาะอาหารทะเล
ล่าสุด มีคำเตือนออกมาจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
เกี่ยวกับการกินอาหารในหน้าร้อนอย่างปลอดภัย โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเลประเภทหอย
เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมขี้ปลาวาฬ โดย ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า
อุณหภูมิที่สูงในช่วงหน้าร้อนทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในอาหารทะเลเจริญเติบโตได้ง่าย
อีกทั้งยังพบมีโลหะหนักหลายชนิด ทั้งตะกั่ว สังกะสี แคดเมียม และทองแดง
ในอาหารทะเล ประเภทปูม้า หอยนางรม และปลาหมึก
โดยสารพิษเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และยังมีพิษอื่น ๆ
ที่อาจพบได้ในอาหารทะเล อาทิ ขี้ปลาวาฬ ที่เกิดขึ้นจากแพลงตอนจำพวกไดโนแฟลกเจลเลต (dinoflagellate) สามารถพบได้ในน้ำทะเลทั่วๆ ไป สังเกตได้จากน้ำมีสีน้ำตาลแดง
เมื่อมีอากาศร้อนจัดสัตว์ชนิดนี้จะแบ่งเซลล์และเจริญเติบโตได้ในน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว
โดยขี้ปลาวาฬจะเข้าสู่สัตว์ทะเลผ่านทางห่วงโซ่อาหาร พบมากในหอย ซึ่งจะสร้างสารพิษพวกไบโอท็อกซิน
(biotaxin) ที่ทนความร้อน
ไม่สามารถทำลายได้ในกระบวนการปรุงอาหาร
เมื่อกินเข้าไปจะทำให้มีอาการชาบริเวณปากและทำให้แน่นหน้าอก เคลื่อนไหวลำบาก
บางรายมีอาการอาเจียนด้วย
จากการตรวจวิเคราะห์น้ำตัวอย่าง 1 ลิตร พบขี้ปลาวาฬสูงถึง 40,000 เซลล์ และตรวจพบไบโอท็อกซินในปริมาณที่สูงมาก ส่วนใหญ่พบในหอยสองฝา เช่น
หอยกะพง หอยนางรม ซึ่งกินแพลงตอนทุกชนิด โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน
เป็นช่วงที่มีแพลงตอนชนิดนี้มากในน้ำทะเล
โอกาสที่หอยนางรมเป็นพิษก็เกิดได้มากเช่นเดียวกัน ก่อนกินจึงควรนำไปแช่น้ำปูนเพื่อลดความเป็นพิษ
หรืองดกินในช่วงนี้ก็จะเป็นการดีนอกจากนี้ในอาหารทะเลยังพบแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของโรคท้องร่วงมากที่สุดคือ
เชื้ออหิวาต์เทียม หรือ วิบริโอ พารา ฮีโมไลติคัส (vibrio
parahaemolyticus) เชื้อชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งในน้ำทะเลและอาหารทะเล
เช่น ปลา ปูม้า หอย กุ้ง กั้ง ปูทะเล และปลาหมึก เป็นต้น
และยังพบในอาหารประเภทหอยแครงลวก ปลาดิบ ยำหอยนางรม ปูดอง หอยดอง
ซึ่งพบเชื้อได้ทั้งปีแต่จะพบมากช่วงหน้าร้อนในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
ซึ่งอาการที่ปรากฏชัดหลังจากกินเข้าไป 12-24 ชั่วโมง คือ
ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง อาจมีอาการปวดศีรษะและหนาวสั่นร่วมด้วย
ส่วนคำแนะนำในการเลือกกินหอยให้ปลอดภัยจากขี้ปลาวาฬ
ผู้บริโภคจึงต้องหมั่นฟังข่าวจากสื่อต่าง ๆ ว่ามีขี้ปลาวาฬเกิดขึ้นในช่วงใด
บริเวณใด ก็ควรงดกินในช่วงนั้น หรือให้เลือกกินอาหารทะเลที่สดและสะอาด มีการ ล้างน้ำทำความสะอาดทุกครั้งโดยเฉพาะสัตว์ทะเลที่มีผิว
เปลือก หรือกระดอง เพื่อกำจัดแบคทีเรียที่ปนเปื้อน
สำหรับกุ้งถ้าจะเก็บให้เด็ดหัวทิ้งก่อนแช่แข็งจะช่วยลดแบคทีเรียได้ถึงร้อยละ 50 และที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยต้องผ่านการปรุงสุกทุกครั้ง
แหล่งที่มา http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/general_knowledge/18274/
ผู้สรุป มิสรุ่งทิวา นาเมืองรักษ์
ตำแหน่ง บุคลากรทางการศึกษา
วันที่ 3 เมษายน 2557