รูปภาพของเจนจิรา มากมี
บทความเรื่อง ร้อน เย็น ลดปวด
โดย เจนจิรา มากมี - พฤหัสบดี, 10 เมษายน 2014, 08:47AM
 

บทความเรื่อง ร้อน เย็น ลดปวด

มิสเจนจิรา     มากมี     

ที่มา: www.pt.mahidol.ac.th  ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล 

บทความโดย อ.ดร.ประเสริฐ สกุลศรีประเสริฐ

          มีผู้ป่วยที่มารับบริการทางกายภาพบำบัดจำนวนมากที่มีปัญหามาจากอาการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการปวดเกิดขึ้นในบริเวณต่างๆ เช่น ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดเข่า เป็นต้น ซึ่งอาการปวดที่กล่าวมา นับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสังคมยุคปัจจุบัน ซึ่งการรักษาทางกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดดังกล่าว นักกายภาพบำบัดสามารถรักษาได้หลากหลายวิธี ได้แก่ การใช้หัตถการบำบัด เช่นการกดจุด การขยับเคลื่อนข้อต่อ เป็นต้น การออกกำลังกายเพื่อบำบัดรักษา หรืออาจจะใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดต่างๆ เช่น ผ้าร้อน แผ่นเย็น เครื่องอัลตร้าซาวด์ เป็นต้น เพื่อการบำบัดรักษา

          ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เกิดความสงสัยถึงความแตกต่างของการใช้ความร้อนและความเย็นในการลดปวด ซึ่งผู้เขียนกล่าวโดยสรุปได้ว่า การใช้ความร้อนและความเย็นนั้น สามารถทำให้อาการปวดในบริเวณต่างๆ ลดลงได้ โดยความร้อนและความเย็นมีประโยชน์ในหลายๆ ด้านคือ

การเลือกใช้ความร้อนหรือความเย็น

     การเลือกใช้ความร้อนหรือความเย็นนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยมีข้อเสนอแนะเบื้องต้นคือ
           1. ขึ้นกับระยะเวลาของอาการ โดยถ้าเกิดการบาดเจ็บเฉียบพลันร่วมกับเกิดการบวมขึ้น ควรเลือกใช้ความเย็นเพราะความเย็นช่วยลดบวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  แต่ถ้าเป็นอาการปวดแบบเป็นๆ หายๆ มีอาการมานานหรือเรื้อรัง หรือปวดร่วมกับตึงกล้ามเนื้อ ควรใช้ความร้อนเพื่อลดปวดและคลายกล้ามเนื้อ

          2. ขึ้นกับข้อจำกัดบางประการหรือโรคประจำตัว เช่นโรคความดันโลหิตสูง ควรใช้ความเย็นด้วยความระมัดระวัง โดยการสอบถามอาการต่างๆ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นระยะๆ เนื่องจากความเย็นมีผลต่อการหดตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นได้ หรือโรคแพ้ความเย็น โดยจะทำให้เกิดผื่นแดงอย่างรุนแรงภายหลังสัมผัสกับความเย็น ก็ควรงดใช้ความเย็น ในส่วนโรคมะเร็งที่ยังมีการดำเนินของโรคอยู่ เพื่อความปลอดภัยควรงดใช้ความร้อนเป็นต้น

          ทั้งนี้ควรให้ความระมัดระวังในการใช้ความร้อนหรือความเย็นกับบริเวณที่รับความรู้สึกได้ลดลง เช่นในกรณีผู้ป่วยเบาหวานที่การรับความรู้สึกลดลง ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้ หากใช้ความร้อนหรือความเย็นที่มีอุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไปหรือนานเกินไป

          3. ถ้าไม่แน่ใจระหว่างความร้อนหรือความเย็นอาจเลือกใช้ความเย็น

          4. ความชอบส่วนตัว มีผลเล็กน้อย

การประคบร้อนและประคบเย็นอย่างง่าย ด้วยตัวเองที่บ้าน

การประคบร้อน

     บริเวณที่ควรประคบร้อน เช่น ปวดตึงคอ-บ่า ปวดตึงหลัง ปวดตึงน่อง ภายหลังจากการทำงาน หรือภายหลังจากการเล่นกืฬา  เป็นต้น

            1) อาจพิจารณาใช้กระเป๋าน้ำร้อน เติมน้ำร้อนลงไป โดยก่อนการประคบ ควรนำกระเป๋าน้ำร้อนไปสัมผัสกับบริเวณที่รักษาโดยตรง ซึ่งอุณหภูมิที่พอเหมาะคือรู้สึกอุ่นสบาย ไม่ควรรู้สึกร้อนเกินไป ถ้ารู้สึกร้อนเกินไป ควรหาผ้าขนหนูมาพันรอบกระเป๋าน้ำร้อนนั้นก่อนการประคบ และใช้ระยะเวลาในการประคบประมาณ 15-20 นาที ในกรณีที่ใช้กับผู้ที่มีการรับความรู้สึกลดลง ก่อนการประคบ ผู้เตรียมอุปกรณ์ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุณหภูมิที่ใช้ไม่ร้อนจนเกินไป โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในการรักษาไม่ควรเกิน 45 องศาเซลเซียส
          2) หรืออาจใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน โดยการเตรียมน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิอุ่นจัดหรือไม่เกิน 45 องศาเซลเซียสในภาชนะขนาดพอเหมาะ แล้วนำผ้าขนหนูจุ่มในน้ำดังกล่าว บิดพอหมาด คลี่ผ้าออกให้พอเหมาะกับบริเวณที่ต้องการความร้อน แล้วนำมาประคบในบริเวณที่ต้องการประมาณ 2-3 นาที แล้วทำซ้ำประมาณ 5-7 ครั้ง

 

การประคบเย็น

     บริเวณที่ควรประคบเย็น เช่น ปวดบวมข้อเท้า จากข้อเท้าพลิกฉับพลัน หรือปวดบวมบริเวณอื่นๆ ที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บเป็นต้นหรือเพิ่งมีอาการใหม่ๆ
          1) ทำถุงน้ำแข็งด้วยตนเอง โดยการใช้ถุงพลาสติกบรรจุอาหารขนาดพอเหมาะกับส่วนที่ต้องการรักษา แล้วเติมน้ำเปล่าผสมกับน้ำแข็งอย่างละครึ่ง ลงไปในถุง ตรวจสอบว่าไม่เย็นเกินไป โดยการนำมาประคบกับส่วนที่ต้องการรักษา หากเย็นเกินไป ควรเพิ่มน้ำเปล่าและลดน้ำแข็งออกบางส่วน เมื่อได้อุณหภูมิที่เย็นพอเหมาะ ควรทำการไล่ลมออกจากถุง แล้วรัดปากถุงให้แน่น นำมาประคบเพื่อการรักษานานประมาณ 15-20 นาที โดยผู้ที่มีอาการบวมหรือปวดมากจากการบาดเจ็บ อาจทำการประคบ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-20 นาที ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่ากระดูกหักหรือข้อต่อเคลื่อน ควรรีบพบแพทย์โดยทันที

   2) อาจใช้การแช่ในภาชนะที่บรรจุน้ำเย็น โดยการเตรียมภาชนะขนาดพอเหมาะ แล้วเติมน้ำเปล่าและน้ำแข็งอย่างละครึ่ง แล้วลองจุ่มส่วนที่ต้องการรักษา เช่น มือหรือเท้า ลงไป หากเย็นจัด ควรเติมน้ำเปล่าลงไปเพิ่ม จนได้อุณหภูมิที่พอเหมาะ จึงทำการแช่นานประมาณ 15-20 นาที วิธีการรักษานี้อาจจะเหมาะกับมือและแขนหรือขาและเท้ามากกว่าส่วนอื่นของร่างกาย