รูปภาพของช่อลดา โทอื้น
ไมเกรน (Migraine)
โดย ช่อลดา โทอื้น - อังคาร, 21 เมษายน 2015, 08:01PM
 

ไมเกรน (Migraine)

วันหนึ่ง ดิฉันเกิดอาการปวดศีรษะข้างขวา และปวดที่รอบดวงตาและขมับ ทานยาแก้ปวดไปสองเม็ด แต่อาการไม่ดีขึ้นเลย ดิฉันทานยาแก้ปวดไปเรื่อย ๆ ทุก ๆ 6 ชั่วโมง เป็นเวลาถึงสองวัน จนกระทั่งวันที่สาม อาการปวดค่อย ๆ รุนแรงขึ้น ปวดลามมาถึงท้ายทอย และขากรรไกร ดิฉันรู้สึกปวดมากจนถึงกับร้องไห้ออกมา  และเริ่มสงสัยว่าอาการแบบนี้คงไม่ใช่อาการปวดศีรษะธรรมดา ๆ เหมือนที่เคยเป็น เพราะทานยาแก้ปวดไปเท่าไร ก็ไม่ดีขึ้นเลย ดิฉันรีบไปพบคุณหมอทันที และก็ได้ทราบจากคุณหมอว่า ดิฉันมีอาการปวดศีรษะไมเกรนนั่นเอง

ดิฉันไม่เคยรู้จักโรคปวดศีรษะไมเกรนมาก่อนเลย ครั้งแรกที่เกิดอาการปวดศีรษะ  ดิฉันคิดว่าน่าจะเกิดจากการคร่ำเคร่งกับการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานติดต่อกันหลายชั่วโมงโดยไม่หยุดพักสายตาเลย  แต่เมื่อดิฉันกลายเป็นผู้ป่วยโรคนี้แล้ว ทำให้ดิฉันรู้จักไมเกรนดีขึ้นเรื่อย ๆ และรู้จักปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงกับการที่จะได้เจอมันอีก วันนี้ดิฉันได้นำเอาความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับโรคปวดศีรษะไมเกรน มาฝากท่านผู้อ่านค่ะ เผื่อว่าใครที่ยังไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยเป็นโรคนี้จะได้ระวังตัวไว้ เพราะโรคปวดศีรษะไมเกรนทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ค่ะ

โรคปวดศีรษะไมเกรนหรือโรคปวดหัวข้างเดียว เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของประสาทควบคุมหลอดเลือด จะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว อาจจะสลับซ้ายขวาได้ บางรายอาจปวดศีรษะทั้งสองข้าง แต่พบน้อยมาก ลักษณะปวดเป็นแบบตุ๊บ ๆๆๆ  ปวดศีรษะมากจนทำงานไม่ได้ บางคนปวดจนน้ำตาไหล ยิ่งเคลื่อนไหวศีรษะหรือใช้สายตามาก ก็จะยิ่งปวดมาก ส่วนใหญ่จะปวดนาน  4-72 ชั่วโมง อาจมีอาการคลื่นไส้ ถ้าเป็นมากจะอาเจียน และไวต่อแสง เสียงและกลิ่น

โรคปวดศีรษะไมเกรน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรม โรคปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคเรื้อรัง แต่มีโอกาสหายได้ โดยพบว่าประมาณ 30-40% ของผู้ป่วยไมเกรนที่เป็นมา 15 ปี แล้ว จะไม่มีอาการปวดศีรษะกำเริบมาอีกเลย ในช่วงที่ผู้ป่วยอายุน้อย อาการปวดศีรษะจะเป็นถี่และรุนแรงกว่าเมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังอายุ 40 ปี ความถี่และความรุนแรงของอาการปวดจะลดลง ยกเว้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนถาวร อาจกลับมามีอาการอีกได้

 

อาการของโรคไมเกรน

1.1 อาการไมเกรนแบบคลาสสิค  (Classical Migraine) จะมีอาการนำแบบออร่า นาน 5-20 นาที แล้วหยุดพักระยะหนึ่งก่อนที่จะมีอาการปวดศีรษะตามหลังมา อาการนำแบบออร่า มีลักษณะดังนี้คือ

เกิดความผิดปกติทางสายตา เช่น เห็นภาพผิดไปจากความเป็นจริง  เห็นภาพเป็นขาว-ดำ และเห็นแสงสว่างเกิดขึ้นเป็นจุด ๆ และค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น เป็นต้น เกิดความผิดปกติทางผิวหนัง เช่น รู้สึกคัน ชา และแสบร้อน และเกิดความผิดปกติทางประสาทสั่งการ ทำให้แขน ขา ไม่มีเรี่ยวแรง

1.2 อาการไมเกรนแบบพบบ่อย (Common Migraine) จะไม่มีอาการนำแบบออร่า แต่มีอาการอื่น ๆ นำแทน เช่น รู้สึกไวต่อแสง เสียงและกลิ่นมากกว่าปกติ รู้สึกเพลีย หาวบ่อย หิวบ่อย กินจุ กระหายน้ำบ่อย ท้องผูกหรือท้องเสีย ซึ่งอาการนำเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ก่อนปวดศีรษะได้นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน  สิ่งที่กระตุ้นทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้นได้แก่ แสงจ้า เย็นจัด ร้อนจัด และเสียงดัง

 

แนวทางการรักษาโรคไมเกรน

1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้อาการปวดศีรษะกำเริบขึ้น ได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การเจอแสงแดดจ้า หรือไฟสว่างเกินไป กลิ่นที่รุนแรง เช่น น้ำหอม บุหรี่ หรือกลิ่นอาหาร เป็นต้น สภาพอากาศที่เย็นจัดหรือร้อนจัด ผู้ป่วยโรคไมเกรนแต่ละคนจะมีปัจจัยกระตุ้นไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผู้ป่วยจะต้องสังเกตตัวกระตุ้นอาการของตนเองว่าคืออะไร เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงได้ถูกทาง

2. การใช้ยารักษา มีสองแบบคือ ใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ กับใช้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรเลือกซื้อยามาทานเอง เพราะแพทย์จะวินิจฉัยความถี่และความรุนแรงของอาการที่เป็น ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะควรบันทึกวันและเวลาที่เกิดอาการปวด ระยะเวลาที่ปวด อาการอื่นที่พบร่วม และสังเกตปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ รวมทั้งบันทึกเกี่ยวกับรอบเดือนด้วย  เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง

3. การใช้วิธีทางการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น การใช้หลักทางจิตวิทยามาร่วมรักษา การสะกดจิต การฝึกโยคะ การฝังเข็ม การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้น เป็นต้น

 

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ในผู้ป่วยไมเกรน

1. ผู้ป่วยโรคไมเกรนแบบมีออร่าเป็นอาการนำ จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก มากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า ส่วนผู้ป่วยไมเกรนแบบไม่มีออร่าเป็นอาการนำ อาจมีความเสี่ยงของโรคเหล่านี้เพิ่มขึ้นได้บ้าง

2. ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มบรรเทาอาการขณะปวดศีรษะบางตัวบ่อยเกินไป แทนที่จะช่วยบรรเทาอาการ อาจกลับทำให้อาการรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง(Chronic migraine) คือมีอาการปวดศีรษะในแต่ละครั้งยาวนานมากกว่า 15 วัน และอาการนี้เป็นอยู่นานมากกว่า 3 เดือน

หากคุณผู้อ่านกำลังสงสัยว่าอาการปวดศีรษะของตนเข้าข่ายอาการปวดศีรษะไมเกรนหรือไม่  ควรจะรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากอาการปวดศีรษะเรื้อรังอาจเป็นอาการของโรคอื่น ๆ ก็ได้ และถ้าหากเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนจริง คุณผู้อ่านก็จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่าควรจะหลีกเลี่ยงอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างไร และจะรักษาด้วยวิธีไหน เนื่องจากผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงควรดูแลร่างกายและลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆในการเกิดโรคนี้ด้วย เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การไม่สูบบุหรี่ การหลีกเลี่ยงยาคุมกำเนิดชนิดมีฮอร์โมนเอสโตรเจน  และการควบคุมน้ำหนักตัว ไขมัน และน้ำตาลในเลือด

ดิฉันป่วยเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนมาเป็นระยะเวลา 4-5 ปีแล้ว โดยทุกครั้งก่อนที่จะมีอาการปวดศีรษะ จะมีอาการนำเช่น ท้องเสีย เหนื่อยเพลีย กระหายน้ำ และมักจะมีอาการนำแบบนี้ในช่วงใกล้มีรอบเดือน จากนั้นประมาณชั่วโมงกว่า ๆ จะเริ่มปวดที่บริเวณรอบดวงตา ในขณะที่เริ่มมีอาการปวดศีรษะแล้ว ดิฉันจะต้องรีบหาสถานที่ที่มีอุณหภูมิที่ไม่ร้อนและเย็นจนเกินไป นั่งหรือนอนลง หลับตา หยุดทำทุกอย่าง ทำสมาธินิ่ง ๆ ประมาณ 20 นาที อาการก็จะดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องทานยา แต่ถ้าดิฉันปล่อยให้อาการปวดศีรษะค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น จากปวดแค่รอบดวงตา ก็จะปวดลามไปที่ขมับ ท้ายทอยและขากรรไกร อาการปวดแบบนี้ต้องทานยาเท่านั้นจึงจะบรรเทาลง แต่ถ้าไม่ทานยาหรือไม่พยายามหาวิธีลดปัจจัยกระตุ้นอาการปวดศีรษะ ก็จะทำให้มีอาการอื่นแทรกเข้ามา เช่น สายตาเริ่มผิดปกติ คลื่นไส้และอาเจียน และอาจต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คร่ำเคร่งกับการทำงาน พักผ่อนไม่เพียงพอ และต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด ดูแลรักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ

 แหล่งที่มา:

http://haamor.com/th

http://siamhealth.net/public_html/Disease/neuro/Headache/Migrain.htm