รูปภาพของสุภาพร แสนบรรดิษฐ์
ปรับการกิน แค่ลดเค็ม ก็ลดโรคไต
โดย สุภาพร แสนบรรดิษฐ์ - ศุกร์, 25 มีนาคม 2016, 12:10PM
 

ปรับการกิน แค่ลดเค็ม ก็ลดโรคไต

ทุกวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวัน ไตโลก (world kidney day) ซึ่งในปีนี้ ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการจัดกิจกรรมและรณรงค์ ภายใต้คำขวัญที่ว่า โรคไตเป็นได้ตั้งแต่เด็ก รู้แต่เล็กป้องกันได้โดยมุ่งเน้นโรคไตในเด็กเป็นสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีผู้ป่วยไตซึ่งอายุน้อยลงไปเรื่อยๆ สาเหตุอาจเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่ไม่มีเวลา ต้องทานอาหารนอกบ้าน อาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วน ต่างๆ ซึ่งมีการปรุงแต่งโดยคำนึงถึงรสชาติมากกว่าสุขภาพของผู้บริโภค สำนักโภชนาการ กรมอนามัย สำรวจพบว่าคนไทยมีการบริโภคเกลือหรือโซเดียมสูงเกินปริมาณแนะนำถึง 2 เท่า ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อไตตามมาได้ หน้าที่สำคัญของไต คือ การขับของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย ควบคุมความสมดุลย์ของเกลือแร่และน้ำในร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ นอกจากนี้ไตยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ด้วย เช่นการสร้างวิตามินดี (vitamin D) เพื่อช่วยควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย รวมถึงการสร้างฮอร์โมนอีริโทรพอยอิทิน (erythropoietin) เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และการหลั่งเอนไซม์เรนิน (renin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิต

ส่วนอาการของโรคไต เริ่มจากตั้งแต่ไม่มีอาการผิดปกติอะไรเลย บางคนมีอาการบวม ปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน โลหิตจาง อ่อนเพลีย จนกระทั่งมีการคั่งของของเสียมาก ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เกิดภาวะชัก และหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและเสียชีวิตตามมาได้

จากสถิติของคนไข้ โรคไต ในผู้ใหญ่ เราพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไตอักเสบ นอกจากนั้น สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้แก่ นิ่วที่ไต เก๊าท์ หรือยาที่มีผลกระทบต่อไต เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ที่เราเรียกว่า NSAID และกลุ่มยาสมุนไพรที่ไม่ทราบสรรพคุณที่ชัดเจน

สำหรับการรักษาโรคไตนั้น ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรหมั่นพบแพทย์ให้สม่ำเสมอเพื่อปรับยาเพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของไต และควรควบคุมเบาหวาน และความดัน ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ส่วนคนทั่วไปที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แนะนำให้ตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงยาที่ไม่จำเป็น ดื่มน้ำให้เพียงพอ ประมาณ 1.5 – 2 ลิตรต่อวัน ลดอาหารเค็มเพราะทำให้ไตทำงานหนัก และทำให้บวมและมีความดันโลหิตสูง

สำหรับคำแนะนำทั่วไปในการเลือกรับประทานนั้น คุณหมอแนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็มหรือลดปริมาณการใช้สารปรุงรสในอาหาร เช่น เกลือ ผงชูรส น้ำปลา ซีอิ๋วหรือซอสต่างๆ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทผลไม้แช่อิ่ม อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บางครั้งอาหารบางอย่างไม่มีรสชาติเค็มแต่มีส่วนประกอบของโซเดียมอยู่ด้วยก็ควรระมัดระวัง เช่น ขนมที่ใช้ผงฟู เค้ก คุ๊กกี้ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าอาหารนั้นมีผลกระทบต่อโรคไต ดังนั้นจึงควรช่วยกันรณรงค์ปลูกฝังให้เด็กยุคใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกาย ไม่อ้วน ไม่กินหวาน ไม่กินเค็ม เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง และมีสุขภาพไตที่ดีต่อไปในอนาคต

บทความโดย โดย นพ.สุรวัฒน์ อดิเรกเกียรติ / อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลปิยะเวท

มิสสุภาพร  แสนบรรดิษฐ์