รูปภาพของพนิดา แก่นสำโรง
5 ประเภทพนักงานที่ควรเพิ่มศักยภาพในการทำงาน
โดย พนิดา แก่นสำโรง - จันทร์, 28 มีนาคม 2016, 01:45PM
 

          ในหนึ่งองค์กรก็เปรียบเสมือนสังคมขนาดย่อมที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายรูปแบบมารวมตัวกัน จึงไม่แปลกที่ทุกองค์กรจะต้องมีทั้งพนักงานกลุ่มแนวหน้าที่ผลงานโดดเด่นเป็นซุปตาร์ กับพนักงานธรรมดาสามัญชน รวมไปถึงพนักงานในมุมมืดที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์อะไรให้แก่องค์กร แน่นอนถ้าเลือกได้ ใครๆ ก็คงอยากอยู่กลุ่มพนักงานดีเด่นกันทั้งนั้น

แต่หลายครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พวกเราเหล่ามนุษย์เงินเดือนก็อาจจะมีเผลอก้าวเข้าไปอยู่หลังเส้น ควรปรับปรุงได้เช่นกัน วันนี้ลองมาสำรวจตัวเองตั้งแน่เนิ่นๆ  ว่าเรามีพฤติกรรมเข้าข่ายควรพัฒนาข้อไหนกันบ้างหรือเปล่า จะได้ก้าวหนีกลับออกมาอยู่ในกลุ่มพนักงานดีเด่นได้ทันก่อนจะสาย

ประเภทที่  1     เช้าชามเย็นชาม

          ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำงานมานานจนหมดไฟ หรือผู้ที่ไม่เคยมีไฟมาตั้งแต่ต้น พนักงานกลุ่มนี้ คือ กลุ่มคนนิยมการทำงานแบบสโลว์ไลฟ์ ทำงานสบายๆ ให้เสร็จไปวันๆ หนึ่ง ไม่เคยจะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้องค์กร ไม่เคยคิดจะทำให้มากขึ้นหรือดีขึ้น นิยมความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง เรียกว่าทำงานให้พอผ่านประเมินแค่ในระดับดีหรือพอใช้ได้ก็พอใจแล้ว พนักงานในกลุ่มนี้หลายคนไม่ได้มีปัญหาเรื่องความสามารถในการทำงาน แต่เป็นปัญหาด้านการขาดจุดมุ่งหมายและแรงจูงใจ ทำให้ไม่ค่อยอยากทำงาน บางทีก็อยากหยุดงานลางานเสียดื้อๆ หากคุณเริ่มมีอาการนี้ต้องรีบเติมพลัง เติมไฟให้ตัวเองเป็นการด่วน อย่าปล่อยให้ไฟมอดอย่างถาวร ควรหาเป้าหมายให้ชีวิตเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเวลาคุณเบื่อหรือท้อแท้ แต่หากงานที่ทำอยู่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตของคุณจริงๆ ก็ไม่เสียหายที่จะลองมองงานใหม่เอาไว้บ้าง

ประเภทที่  2    ประจบประแจง

          ตรงข้ามกับกลุ่มแรก พนักงานกลุ่มนี้มีพลังงานสูง มีความสามารถในการปรับตัวเป็นเลิศ ชอบเข้าสังคมทำความรู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่ มีความกระตือรือร้นที่จะดูแลเอาใจใส่เจ้านายเป็นพิเศษ แต่มักจะขาดการพยายามพัฒนาตนเองในเรื่องการทำงาน เรียกว่าใช้พลังงานไปกับเรื่องที่ไม่ใช่ใจความสำคัญ แม้ถ้าทำได้สำเร็จก็มักจะได้ดีมีตำแหน่งโดยไม่ต้องใช้ความสามารถในการทำงานมากนัก แต่การเอาตัวเองไปผูกติดกับเจ้านายนั้น แม้อาจเป็นบันไดสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ขาดความแน่นอน วันใดเจ้านายมีคนโปรดคนใหม่ หรือมีอันต้องโยกย้ายเปลี่ยนแปลง คนที่ขาดความสามารถในการทำงานจะอยู่ในองค์กรต่อได้อย่างลำบากแน่นอนยิ่งในโลกที่การแข่งขันสูงอย่างเช่นทุกวันนี้ จึงน่าจะดีกว่าถ้าคุณทั้งเก่งทั้งมีความสามารถและรู้จักเอาใจเจ้านายบ้างตามความเหมาะสม

ประเภทที่  3    อีโก้สูงจัด

          คนที่มีผลงานดีเด่นมาตลอดจนเริ่มติดในวังวนแห่งความสำเร็จก็ถือเป็นอีกหนึ่งประเภทพนักงานที่ต้องพัฒนาเช่นกัน เพราะเมื่อใดที่คุณเริ่มคิดว่าตัวเองเก่ง นั่นเป็นสัญญาณแรกของการเริ่มหยุดเรียนรู้ และเมื่อใดที่คุณหยุดเรียนรู้ โลกของคุณจะแคบลงเรื่อยๆ สวนทางกับโลกแห่งการทำงานยุคใหม่ที่ข้อมูลเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมากมายในแต่ละวัน ต่อให้คุณเก่งขนาดไหนก็ย่อมไม่มีทางถึงขั้นสมบูรณ์แบบ ดังนั้นจึงควรเปิดใจรับฟังคำติชม คำแนะนำจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานด้วยใจเป็นกลางและนำมาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากทำได้แล้วคุณจะค้นพบว่ายังมีอีกหลายอย่างที่คุณทำได้หรือทำได้ดียิ่งขึ้นอีก การทำงานจะสนุกขึ้นมาก นอกจากนี้การเป็นคนเก่งที่นิสัยดีด้วย ย่อมทำให้คุณเป็นที่รักและมีความสุขในการทำงานมากกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว

ประเภทที่  4    ฉันทำไม่ได้

          อีกหนึ่งประเภทพนักงานที่ควรพัฒนาศักยภาพของตัวเองคือกลุ่มคนที่ขาดความคิดเชิงบวกในการมองปัญหา ทุกครั้งที่โปรเจคใหม่เข้ามา หรือเกิดปัญหาขึ้น พนักงานกลุ่มนี้จะตั้งแง่ทันทีว่าเรื่องนี้ไม่มีทางเป็นไปได้อย่างเด็ดขาด พวกเขาจะไม่ยอมลงมือทำใดๆ บางคนอาจจะลองอย่างขอไปทีและสุดท้ายก็ไม่เกิดผลสำเร็จใดขึ้นมา อย่าลืมว่าเมื่อปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นความแตกต่างระหว่างพนักงานติดลบกับพนักงานที่จะประสบความสำเร็จนั้นมีแค่ว่า คนที่ประสบความสำเร็จมักจะคิดว่า เรื่องนี้ต้องมีทางออกและพยายามไปคิดหาวิธีทำให้สำเร็จ และเมื่อพวกเขาลงมือทำอย่างสุดความสามารถ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร พวกเขาก็ได้เรียนรู้และเก่งขึ้นไปด้วยในกระบวนการแก้ปัญหานั้น ทุกปัญหาคือการเรียนรู้ การเผชิญหน้ากับความกลัวและความยากลำบากเท่านั้นที่จะทำให้คนเติบโตและเก่งขึ้นได้

ประเภทที่  5    งานกองท่วมหัว

          สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด พนักงานกลุ่มที่ยุ่งตลอดเวลาก็เป็นอีกหนึ่งประเภทที่ต้องลองหยุดพักและพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้ตัวเองต้องยุ่งทั้งวันทั้งคืนจนขาดชีวิตส่วนตัว ถ้าคุณมีงานเยอะล้นมือจริง อาจจะถึงเวลาต้องคุยกับหัวหน้างานในการหาคนมาช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง การให้คนหนึ่งคนรับหน้าที่มากเกินไปย่อมต้องมีสักวันที่ผลงานจะเริ่มต่ำกว่ามาตรฐานหรือต้องมีสักวันที่ร่างกายจะรับไม่ไหวจนต้องเจ็บป่วยร้ายแรงก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างกันมากมาย แต่หากเนื้องานจริงๆ ของคุณไม่มาก แต่อาจจะเป็นที่ตัวคุณเอง ไม่ว่าจะขาดความรู้ในงานนั้นๆ หรือขาดการบริหารจัดการเวลาที่ดี คุณต้องมองปัญหาให้ตรงจุดและแก้ไขที่ต้นเหตุ อย่ายึดติดกับค่านิยมเดิมๆ ที่ว่า การทำงานมาเช้ากลับดึก งานยุ่งตลอดเวลาเป็นเรื่องที่ดี คนที่สามารถทำงานปริมาณมากได้ดีโดยใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าต่างหากที่จะสามารถสร้างความแตกต่างให้กับตัวเองและองค์กรได้

          จริงๆ แล้วพนักงานที่จะต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเองไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ 5 ประเภทนี้เท่านั้น แต่เป็นพวกเราทุกคนที่จะต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ในการทำงานเป็นเรื่องปกติ ที่เราอาจจะต้องเจอปัญหาหนัก งานล้นมือ หรือต้องสู้กับความเบื่อหน่ายในการทำงานบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือเราจะทำอย่างไรเมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น จะปล่อยให้มันดึงเราจมลงสู่ความมืดและคิดว่านั่นคือตัวตนของเรา หรือจะฉุดตัวเองขึ้นมาในแสงสว่างและแสดงให้โลกเห็นถึงสิ่งที่เราเป็นจริงๆ คนทุกคนเกิดมามีศักยภาพมากอยู่แล้ว เหลือเพียงแค่การลงมือทำเท่านั้นที่จะสร้างความแตกต่างในชีวิตของแต่ละคนได้

***********************************