รูปภาพของเจนจิรา มากมี
รู้ทัน...ป้องกันโรคลมแดด
โดย เจนจิรา มากมี - พฤหัสบดี, 6 เมษายน 2017, 11:38AM
 

เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย โดยเฉพาะใกล้เข้าสู่เดือนเมษายนซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนจัดที่สุด ซึ่งอาจส่งผลให้พบ โรคลมแดดได้บ่อยขึ้น มาเรียนรู้กันว่าอาการของโรคลมแดดเป็นอย่างไร สัญญาณเตือนที่ควรสังเกตมีอะไรบ้าง และจะสามารถป้องกันโรคลมแดดได้อย่างไร

 

โรคลมแดดคืออะไร

โดยปกติร่างกายของมนุษย์จะมีการรักษาความสมดุลของอุณหภูมิระหว่างความร้อนจากร่างกายและสภาพแวดล้อม โดยอุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 36 ถึง 37.5 องศาเซลเซียสตลอดทั้งวัน ทั้งนี้การระบายเหงื่อถือเป็นกลไกสำคัญในการลดความร้อนที่มากเกินไป

โรคลมแดดเกิดจากความล้มเหลวในการรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ (thermoregulation) ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ซึ่งหากอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

โรคลมแดดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1) โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (classical heatstroke or non-exertional  heatstroke: NEHS)   โรคลมแดดประเภทนี้เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่มากเกินไป มักพบได้ บ่อยในผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังซึ่งทำให้ไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนและการขาดน้ำได้

โรคลมแดดประเภทนี้ยังสามารถเกิดขึ้นกับคนในทุกๆ วัย โดยเกิดจากยารักษาโรคบางชนิด หรือ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย


2) โรคลมแดดที่เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (exertional heatstroke: EHS) เช่น การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป มักเกิดขึ้นกับคนอายุน้อย นักกีฬา และทหารเกณฑ์ที่ฝึกหนักในอากาศร้อนจัดและสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง


อาการของโรคลมแดด

โรคลมแดดไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่สัมผัสกับอากาศร้อน แต่เกิดขึ้นจากการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นเวลานานหรือใช้กำลังกายในอุณหภูมิที่ร้อนสูง ซึ่งเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น อาจเริ่มมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อ่อนแรงและคลื่นไส้ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น สับสน พูดไม่ชัดเจน กระสับกระส่าย หรือเห็นภาพหลอน หากรุนแรงมากอาจทำให้เกิดการชักเกร็งและมีอาการโคม่าได้ในที่สุด สังเกตได้ว่าเมื่อสัมผัสผู้ที่มีอาการจะพบตัวร้อนมากและมีผิวสีแดงกว่าปกติ (flushing)

แนวทางการรักษาโรคลมแดด

ผู้ป่วยโรคลมแดดควรได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเป้าหมายของการรักษาคือการลดอุณหภูมิภายในร่างกายของผู้ป่วย เช่น การใช้น้ำพรมตามร่างกายและใช้พัดลมเป่าให้น้ำระเหย หรือการใช้ถุงน้ำแข็งประคบตามรักแร้ คอ หลังและขาหนีบ

ทั้งนี้หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาโดยทันที อาจเกิดอาการที่รุนแรงและบางครั้งอาจไม่กลับมาเป็นปกติได้ ยิ่งผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษานานเท่าใด โอกาสในการเสียชีวิตจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

เคล็ดลับในการหลีกเลี่ยงโรคลมแดด

หากอยู่ในที่อุณหภูมิสูง สามารถหลีกเลี่ยงโรคลมแดดได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายสามารถทำตัวให้เย็นลงได้ตามธรรมชาติผ่านทางเหงื่อ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากขึ้น
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่เบาบางและไม่รัดแน่นจนเกินไป ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่เย็นอย่างเหมาะสม
  • อย่าใช้กำลังกายมากเกินไปในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน ให้ทำงานที่ใช้กำลังมากที่สุดในตอนเช้าหรือตอนเย็นเมื่ออุณหภูมิเย็นลง
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีแดดจัด รวมถึงการนั่งในรถยนต์ที่จอดไว้ถึงแม้จะเปิดกระจกทิ้งไว้หรือจอดรถยนต์ไว้ในที่ร่มก็ตาม เพราะอุณหภูมิในรถยนต์สามารถร้อนจัดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ที่มา: www.bumrungrad.com

บทความโดย     นพ.ชลทิตย์ จงบุญประเสริฐ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์