จากข่าวกรมการแพทย์พบคนไทยมีภาวะกระดูกพรุนกันมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ง่าย แม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง ภาวะกระดูกพรุนมักเกิดกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสตรีที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วใน 5 ปีแรก
สาเหตุของโรคกระดูกพรุน สามารถเกิดขึ้นได้หลายปัจจัยเสี่ยง เช่น ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอการใช้ยาบางชนิด การไม่ออกกำลังกาย การลดลงของฮอร์โมนเอสโตเจนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เป็นต้น
ดังนั้นยาแผนปัจจุบันสำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุน จึงมุ่งเน้นในการรักษาที่ต้นเหตุของการเกิดโรค ซึ่งก็แตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละคน โดยมียาอยู่หลายประเภท ทั้งช่วยสร้างมวลกระดูก ลดการสลายมวลกระดูก ยาบางตัวออกฤทธิ์ทั้ง 2 แบบเลยก็มี
ในการป้องกันโรคกระดูกพรุนนั้น ทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอาทิ เช่น เรื่องการรับประทานอาหาร ที่มีแคลเซียมเพียงพอ คือ ประมาณวันละ 1,000 – 1,500 มิลลิกรัม ข้อมูลจากกรมอนามัยได้ให้ข้อมูลไว้ว่า นอกจากแคลเซียมแบบเม็ดแล้ว เรายังสามารถได้รับแคลเซียมจากการบริโภค กุ้งฝอย ปลาเล็กปลาน้อย ถั่วเหลือง นม หรือผักใบเขียว ซึ่งก็เป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูง
พืช ผัก สมุนไพรที่มีแคลเซียม มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น ใบยอ ใบย่านาง ใบหญ้าปักกิ่ง ซึ่งมีปริมาณแคลเซียมสูงเมื่อเปรียบเทียบกับผักชนิดอื่น ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์ด้านโภชนาการแล้ว สมุนไพรบางชนิดยังมีสรรพคุณทางยาที่สามารถช่วยเรื่องกระดูกพรุนได้เช่นกัน
ลูกยอเป็นสมุนไพร ที่มีศักยภาพในเรื่องกระดูก จากงานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดจากส่วนผลยอ พบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และ B-sitosterol ที่เชื่อว่ามีผลต่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งได้สรุปว่าสารสกัดลูกยอมีผลต่อการเร่งสร้างกระดูกได้ในสัตว์ทดลอง สามารถนำมาต่อยอดในการทดสอบฤทธิ์ในมนุษย์ต่อไป
อย่างไรก็ตามควรระวังการกินน้ำลูกยอในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากมีรายงานในการทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง รวมทั้งผู้ป่วยโรคตับเช่นกัน
ที่มา : อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 163 ประจำเดือน มกราคม 2560