รูปภาพของชฎาพร โฉมประเสริฐ
รวมเทคนิคการถ่ายภาพท่องเที่ยวจากมือถือ ให้ออกมาสวยปิ๊ง
โดย ชฎาพร โฉมประเสริฐ - อังคาร, 3 เมษายน 2018, 04:40PM
 

เมื่อก่อนถ้าเราพูดถึงการ ถ่ายภาพมือถือ หลาย ๆ คนคงส่ายหน้า และไม่ยอมใช้เป็นกล้องหลักสำหรับเก็บภาพสวย ๆ อย่างแน่นอน โดนเฉพาะบางทริปที่ออกเดินทางไกลถึงต่างประเทศ ใคร ๆ ก็อยากจะได้ภาพที่ดีที่สวยที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่ปัจจุบันนี้ กล้องมือถือได้รับการพัฒนาขึ้นมาจนถึงขั้นใช้งานได้ดีมาก ๆ ทำให้เสมือนว่าเรากำลังพกกล้องแบบมืออาชีพไปทุกที่ทุกเวลา เพราะขนาดกะทัดรัดของมันนี่เอง วันนี้เราจึงขอรวบรวมเทคนิคการถ่ายรูปจากมือถือให้ดูออกมาสวยงามตระการตาเหมือนกับใช้กล้องใหญ่ ๆ มาลองดูกันว่ามือถือน้อย ๆ ของเรานั้นทำอะไรได้บ้าง

1. ลองหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์และปรับโหมดเป็น HDR

สมัยนี้กล้องมือถือจะพยายามใส่ฟังชั่น HDR (High Dynamic Range) เข้ามา ซึ่ง HDR นี้ก็คือการถ่ายโดยเก็บรายละเอียดในภาพทั้งส่วนมืดและสว่างให้มีรายละเอียดครบถ้วน ไม่มืดบางส่วน หรือสว่างจ้าเกินไปในบางส่วนนั่นเอง ทำให้แก้ปัญหาการถ่ายภาพย้อนแสงได้ดีในระดับหนึ่งเลย แต่โหมดนี้มันก็มีข้อจำกัดอยู่เวลาที่เจอแดดแรง ๆ มีความสว่างตัดกับความมืดอย่างรุนแรง ฉะนั้น ถ้าเราหาเวลาที่แดดไม่แรงมากนัก เช่นช่วงเย็น เราก็จะได้ภาพสวย ๆ ของเราที่มีฉากหลังเป็นท้องฟ้าหลากสีสันอย่างไม่ยากเย็นนัก ยิ่งกับกล้องมือถือสมัยนี้แล้ว โปรแกรมทำภาพอัตโนมัติฉลาดมาก ๆ จนบางทีเราก็ยังคิดเลยว่ามันเก่งกว่าเราที่ใช้โปรแกรมแต่งภาพราคาแพง ๆ เสียอีกในบางกรณี

2. ถ่ายช่วงเวลาทอง

 

หลาย ๆ คนพยายามจะถ่ายภาพช่วงกลางวันที่แดดจัดๆและเกิดความสงสัยมาตลอดว่า ทำไมภาพที่ถ่ายออกมาดูแข็ง ๆ แสงไม่สวยเลย ดูภาพไม่มีชีวิตชีวา ให้ลองเปลี่ยนเวลาถ่ายรูปโดยไปถ่ายช่วงเวลาก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน หรือที่คนทั่ว ๆ ไปเรียกว่าตอนเย็นนั่นแหละ ถ้าเป็นในประเทศไทยก็คือราว ๆ 5 โมงเย็น ช่วงเวลานี้ ถ้าเป็นวันที่มีแดด แสงแดดจะนุ่มเนียนตามากกว่าเวลาอื่น ๆ และเมื่อเราถ่ายรูปออกมา ภาพจะออกโทนเหลือง ๆ แดง ๆ คอนทราสของภาพก็จะสวยงามลงตัว เราเรียกเวลาช่วงนี้ว่า เวลาทอง ( Golden moment )

3. ลองหามุมที่แตกต่าง

เบื่อไหมที่ไปสถานที่เดิม ๆ ซ้ำ ๆ ก็ถ่ายออกมาแต่มุมเดิม ๆ หรือบางทีก็เหมือน ๆ กับคนอื่น ๆ จนแยกไม่ออกว่ารูปของเรามันพิเศษอย่างไร ลองยกกล้องขึ้นเหนือระดับสายตา หรือกดกล้องลงต่ำกว่าระดับสายตาดูสิ มุมมองที่ได้ออกมาจะดูน่าตื่นตาตื่นใจกว่าเดิมมากเลยทีเดียว นั่นเพราะเป็นมุมที่ปกติเราไม่ค่อยได้เห็นอย่างไรล่ะ

4. ถ่ายช่วงทไวไลท์

 

ทไวไลท์คืออะไร ? มันคือช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตก หรือก่อนพระอาทิตย์ขึ้นซักพักนึง ถ้าเป็นในประเทศไทย ก็อยู่ที่ราว 15-20 นาทีหลังจากพระอาทิตย์ตกนั่นเอง เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาเราดูรูปของช่างภาพอาชีพหลายคน ท้องฟ้าในรูปมันเป็นสีฟ้า น้ำเงินสดใส แต่รูปของเราท้องฟ้ากลับดำมืด ทั้ง ๆ ที่เป็นกลางคืนเหมือนกัน คำตอบคือ เพราะเขาถ่ายในช่วงทไวไลท์นี่แหละ ในช่วงเวลาดังกล่าว สมดุลระหว่างแสงบนท้องฟ้าและแสงไฟในเมืองจะพอดี ทำให้เป็นช่วงที่ถ่ายได้สีสันสวยงามมากที่สุดของวัน ซึ่งช่วงดีที่สุดของทไวไลท์นั้นก็ขึ้นอยู่กับความสว่างของเมืองนั้น ๆ ด้วย ฉะนั้นถ้าอยากถ่ายไฟเมืองแบบสวย ๆ ลองรอหลังพระอาทิตย์ตกดู พอเมืองเริ่มเปิดไฟก็ลองถ่ายดูเลย รับรองว่าได้ภาพน่าประทับใจแน่นอน โดยเฉพาะมือถือรุ่นใหม่ ๆ ก็มักจะถ่ายในที่มืดได้ดีขึ้นมากด้วย เช่น GALAXY S8 ,Note8 หรือ IphoneX

5. ลองโหมดหน้าชัดหลังเบลอ

 

เมื่อก่อนโหมดคำนวนหน้าชัดหลังเบลอในมือถือทำออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ใช้ออกมาแล้วดูหลอก ๆ แปลก ๆ แต่ไม่ใช่กับมือถือยุคนี้ เพราะเดี๋ยวนี้มีการใช้กล้องคู่ ทำให้การทำหลังเบลอออกมาสวยสมจริงมากขึ้น ยิ่งเดี๋ยวนี้มีการใช้เลนส์อีกตัวสำหรับถ่ายคนด้วยแล้ว ผลที่ได้ยิ่งออกมาสวยงามน่าประทับใจมากเลย

6. หาเนื้อหาเด่นของภาพ

บางทีเราเห็นวิวที่สวยงามและยิ่งใหญ่ก็อยากจะเก็บภาพไปเสียทั้งหมด แต่พอถ่ายภาพออกมากลับดูไม่เหมือนที่เห็นด้วยตาเปล่า ภาพดูว่าง ๆ โล่ง ๆ ไม่น่าสนใจเอาเสียเลย ฉะนั้นแทนที่เราจะถ่ายแบบจะเก็บทุกอย่าง เราก็เปลี่ยนมาหาจุดเด่นในภาพดีกว่า นอกจากจะทำให้ภาพดูน่าสนใจแล้ว ยังสามารถบ่งบอกความพิเศษของสถานที่ที่เราไปเยือนได้ดีกว่าอีกด้วย และถ้ากล้องมือถือมีปัญหาเรื่องการซูมเข้าไปหาเป้าหมาย เราก็ใช้วิธี CROP ภาพทีหลังก็ได้ เพราะกล้องเดี๋ยวนี้ความละเอียดค่อนข้างสูงมากทีเดียว หรือมือถือหลาย ๆ ตัวอย่าง Galaxy note8 ก็มีกล้องติดมา 2 ตัวสำหรับถ่ายมุมกว้างและแบบ close up เลย

7. เก็บเรื่องราว

บางครั้งภาพที่ดูธรรมดา ๆ แต่พอมีคนมาเดินในภาพ กลับทำให้ภาพเกิดเรื่องราวขึ้นมาได้ ทั้งจาก การแต่งกาย ท่าทาง หรือสายตาของคนเหล่านั้น

 

ลองพยายามรวมคนหรือสัตว์เข้ามาในภาพดู และพยายามจัดให้คนหรือสัตว์นั้นเป็นจุดสนใจของภาพ จะทำให้ภาพน่าสนใจมากขึ้นเยอะเลย น่าดีใจที่การเก็บภาพคนและสัตว์ด้วยมือถือนั้นดูเป็นมิตรมากกว่าการแบกกล้องใหญ่ ๆ เข้าไปถ่าย แต่กระนั้นก็ตาม การถ่ายภาพบุคคลแบบใกล้ชิดและดูจงใจก็ควรจะขออนุญาตแบบก่อนทุกครั้ง

8.มือต้องนิ่ง

 

ปัญหาหลักเลยที่ทำให้ภาพดูไม่น่าประทับใจคือ มือเราดันไม่นิ่ง ยิ่งบางคนไม่ถนัดกับการถ่ายด้วยมือถือเอาซะเลย เพราะมันเล็กเกินไป ฉะนั้น เราต้องมาฝึกถ่ายให้มือนิ่งกัน โดยเริ่มจากลองกลั้นหายใจตอนจะกดถ่ายดูก่อน เพราะส่วนใหญ่จะนิ่งขึ้นพอสมควร หรือหากเป็นช่วงเย็นที่แสงไม่พอ ลองหาพื้นหรือผนังที่แข็งแรง แล้วเอามือถือไปพิงแล้วค่อยถ่าย จะลดอาการสั่นได้ดีทีเดียว หรือหากถึงที่สุดจริง ๆ ให้ใช้ขาตั้งเล็ก ๆ และตั้งเวลาถ่ายเอา คราวนี้ยังไงก็นิ่งแน่นอน

9. ลองถ่ายPANORAMA

ในปัจจุบันฟังชั่นการถ่าย Panorama ของกล้องมือถือก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก โปรแกรมต่อภาพฉลาดมาก ๆ ทำให้เราสามารถถ่ายภาพมุมกว้างได้อยู่สนุกมากยิ่งขึ้น

 

ถ้ามีโอกาสที่จะอยู่กับมุมงาม ๆ วิวสวย ๆ นาน ๆ ลองใช้โหมด Panorama ดู รับนองว่าภาพที่ออกมาจะสวยแปลกตาแน่นอน

10. ฝึกจัดองค์ประกอบแบบง่าย ๆ

ไม่ต้องเป็นมืออาชีพก็จัดองค์ประกอบแบบง่าย ๆ ได้ โดยใช้วิธีที่ง่ายที่สุดคือ กฎ 3 ส่วน แบ่งภาพออกเป็นตาราง โดยใช้เส้นแนวตั้งหรือนอน 3เส้น และพยายามจัดองค์ประกอบให้อยู่ในเส้นเหล่านี้ ซึ่งพอเราใช้ทั้งเส้นแนวนอนและตั้งตีลงไปในรูป จะเกิดจุดตัดขึ้นมา เราเรียกว่าจุดตัดเก้าช่อง เราก็พยายามจุดสำคัญของภาพอยู่ที่จุดตัดทั้ง 4 ก็จะทำให้ภาพสวยขึ้นง่าย ๆ

 

แต่ แต่ แต่ กฎนี้ก็ไม่ได้ตายตัวขนาดนั้น เราสามารถหาวิธีอื่น ๆ ที่ทำให้องค์ประกอบดูดีขึ้นได้อีกมากมาย แต่สำหรับผู้เริ่มต้น ยึดหลักการนี้ไว้ก็จะเป็นการง่ายมากกว่า

11. พื้นอย่าเอียง

เวลาที่เรามองภาพเราแล้วรู้สึกแปลก ๆ ชอบกล ให้ดูก่อนเลยเป็นอันดับแรกว่าภาพตรงหรือเปล่า เพราะคนส่วนใหญ่จะไม่สนใจกันเท่าไหร่เรื่องภาพเอียง เวลาถ่ายออกมาก็ไม่ได้ดูตรงนี้มากนัก แต่จริง ๆ เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากต่อความรู้สึกของภาพทีเดียว ฉะนั้นพยายามถ่ายออกมาให้ภาพตรง พื้นตรง จะทำให้ภาพดูดีขึ้นมามากเลยเชียว

 12. ใช้ APP

แน่นอนถ้าใช้มือถือถ่าย การใช้ APP ก็เข้ามาช่วยได้อย่างง่ายดาย โดยการปรับหลาย ๆ อย่างที่เราว่ามาข้างต้น เช่น การจัดองค์ประกอบ การแก้พื้นเอียง หรือปรับแสงสีเล็กน้อย ก็สามารถทำได้ใน APP นี่แหละ และเราขอแนะนำ SNAPSEED APP ที่ใช้งานง่ายและฟรี สามารถปรับแต่งได้ค่อนข้างหลากหลาย ควรเก็บไว้ประจำเครื่องเลย

13. เรียนรู้มือถือตัวเองให้หมดทุกด้าน

 

นักดาบที่ดีควรจะรู้จักดาบของตัวเองทุกซอกมุม ถ้าจะถ่ายภาพด้วยมือถือเราก็ต้องรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับมัน ไม่ว่าจะความละเอียดเท่าไหร่ ถ่ายแบบไหนได้บ้าง ซูมแล้วภาพแตกไหม ถ่ายในที่มืดดีหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งข้อจำกัด และตัวสร้างไอเดียใหม่ ๆ ในการถ่ายภาพได้เสมอ ฉะนั้น ศึกษาอาวุธคู่กายของเราให้ดี และอย่าลืม ทำความสะอาดเลนส์บ่อย ๆ ด้วยล่ะ เพราะบางคนถ่ายภาพออกมามัวตั้งเป็นปี แล้วนึกว่าเป็นที่กล้อง แต่ที่แท้ เลนส์มีรอยนิ้วมือนี่เอง