รูปภาพของกลยุทธ จิตต์รุ่งเรือง
สรีรวิทยาสำหรับบาสเกตบอล
โดย กลยุทธ จิตต์รุ่งเรือง - พุธ, 18 เมษายน 2018, 02:42PM
 

ในการเล่นบาสเกตบอลให้ประสบความสำเร็จ นักกีฬาต้องมีการเตรียมความพร้อมจากหลักการของวิทยาศาสตร์การกีฬาในทุกด้าน สำหรับด้านร่างกาย นักวิชาการอธิบายว่านักบาสเกตบอลที่เล่นแบบรุกต้องการพลังงานแบบแอโรบิคในระดับปานกลางถึงมากที่สุด และผู้เล่นที่เล่นแบบรับใช้พลังงานแบบแอโรบิค ในระดับต่ำถึงปานกลางสำหรับการรีบาวนด์ อย่างไรก็ตามมีการเล่นบาสเกตบอลประกอบด้วยการระเบิดพลังในช่วงสั้น ๆ เช่น การกระโดดยิง การกระโดดแย่งบอล การวิ่งระยะสั้น ๆ การรับ-ส่ง และยิงประตูหรือเรียกได้ว่าใช้พลังงานในระบบแอน แอโรบิคด้วยในเวลาเดียวกัน

ในระหว่างการเล่นบาสเกตบอลมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นในขณะที่อัตราการใช้ออกซิเจนต่ำลง เพราะการใช้พลังงานแบบแอนแอโรบิคเป็นการใช้พลังในระยะสั้น ๆ ที่ต้องการการพัก และระบบออกซิเจนก็เข้ามาแทนที่ เพื่อช่วยในการสร้างพลังงานในการเล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่ต้องการการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วทั้งการหยุด การกลับตัว การกระโดด และการเคลื่อนที่ความเฉพาะในการเปลี่ยนตัวเข้า-ออกได้ตลอดเกมทั้งการแข่งขัน นักกีฬาที่ถูกเปลี่ยนตัวออกจะนั่งพักเพื่อรอการเล่นรอบต่อไป ซึ่งความเหนื่อยล้าจากการเล่นทำให้ร่างกายมีกรดแล็กติก ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เมื่อยล้า (Fatigue) หากมีสะสมมากเกินไป จะทำให้เกิดการคั่งของกรดแล็กติกในกล้ามเนื้อมากขึ้น เพราะปริมาณของออกซิเจนไม่เพียงพอแก่ความต้องการหรือเกิดภาวะเป็นหนี้ออกซิเจน (Oxygen Deficit)

การออกกำลังกายเช่นนี้ มักดำเนินต่อไปได้ไม่เกิน 2 -3 นาที เพราะกล้ามเนื้อไม่สามารถทำหน้าที่ของมันต่อไปได้ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งนักกีฬาที่มีสมรรถนะของร่างกายที่ไม่ดีก็จะทำให้เหนื่อยง่าย ไม่สามารถพักฟื้นสภาพได้อย่างรวดเร็วและมีผลต่อความแม่นยำในการรับ ส่ง และยิงบอลด้วย

สมรรถภาพที่สำคัญในการเล่นบาสเกตบอลแยกเป็น 2 ส่วน คือ การฝึกร่างกายขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย การฝึกที่เน้นการใช้พลังงานแบบแอนแอโรบิค ความยืดหยุ่น ความแข็งแรง ความทนทาน ความเร็ว และพลัง ส่วนที่สองเป็นการฝึกร่างกายเฉพาะส่วน เช่น ความเร็วในการก้าวเท้า ความเร็วในการใช้มือ ความสามารถในการสปริงตัว ความคล่องตัวในการหลบหลีก การวิ่งกระโดด และการทรงตัวเป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบแต่ละตัวจะมีส่วนช่วยในการพัฒนานักกีฬา ให้มีความสามารถทางกายที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการเล่นบาสเกตบอลในปัจจุบัน มีความหนักในการเล่นระหว่างเกมที่สูงมาก (การใช้ออกซิเจนมากกว่า 70% และใช้พลังงานมากกว่า 4,000 กิโลแคลลอรี่ในระหว่างการแข่งขัน)

ในเกมการเล่นประกอบด้วย การกระโดดมากกว่า 50 ครั้ง วิ่งประมาณ 1,500 – 2,000 เมตร จึงต้องมีการฝึกจึงต้องเน้นพัฒนากล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิต และความสามารถทางกายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตาม เพื่อการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายเป็นการปรับสภาวะของทางร่างกายให้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่สูง และมีการทำงานประสานกันของระบบต่างๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี มนุษย์ทุกคนคนย่อมมีสมรรถภาพทางกาย ในแต่ละด้านมากน้อยต่างกัน เราจะทราบว่าเรามีสมรรถภาพในด้านใด มากหรือน้อยได้ โดยการทดสอบสมรรถภาพทางกายด้วยแบบทดสอบ มาตรฐาน การฝึกเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายจะต้องฝึกความอดทนและความแข็งแรงควบคู่กันไป ส่วนการที่จะฝึกเน้นด้านใด มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการสมรรถภาพทางกายด้านใดเป็นสำคัญของแต่ละบุคคล

การฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬา

นักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หลังจากได้รับการรักษาในระยะเฉียบพลันแล้วมักจะมีปัญหาตามมาภายหลัง ได้แก่ อาการบวม ปวดข้อ ความคล่องแคล่วว่องไว ความแข็งแรง ความทนทานและสมรรถภาพด้านอื่นๆ ลดลง จึงจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูสมรรถภาพของนักกีฬาเพื่อให้สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมและปลอดภัย

วิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬา มีหลายวิธีเช่น การประคบร้อน การนวด การออกกำลังกายประเภทของการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ

1. การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง จะอาศัยน้ำหนักหรือแรงต้านเข้ามาเกี่ยวข้อง

2. การออกกำลังกายเพื่อให้ข้อที่ติดมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น มักพบที่ไหล่ ศอก เข่าและนิ้วมือ ทำโดยการบริหารร่างกายในส่วนนั้นๆเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น

3. การออกกำลังกายเพื่อให้มีการทำงานประสานกันระหว่างประสาทและกล้ามเนื้อดีขึ้น เช่นในรายที่เอ็นฉีกขาด หรืออัมพาต ต้องฝึกโดยการให้ทำซ้ำๆในกิจกรรมหนึ่งเพื่อให้เกิดการประสานงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โดยเริ่มจากง่ายๆ ก่อน แล้วจึงเพิ่มความซับซ้อนขึ้นตามลำดับ

4. การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความทนทาน เป็นการออกกำลังกายโดยใช้น้ำหนักน้อยๆ แต่เน้นจำนวนครั้งให้มาก

5. การออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลาย เป็นการออกกำลังกายในผู้ป่วยที่มีความเครียดสูง โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในสถานที่ที่สงบ อยู่ในท่าที่สบาย หายใจเข้าออกช้าๆเป็นจังหวะ บริหารโดยการเหยียดข้อต่อต่างๆไปมาอย่างสบาย

โดย ม.กลยุทธ จิตต์รุ่งเรือง บุคลากรทางการศึกษา