รูปภาพของดร.ยุภาพร เทพสุริยานนท์
การธำรงรักษาบุคลากร (Personnel Retention)
โดย ดร.ยุภาพร เทพสุริยานนท์ - อังคาร, 1 พฤษภาคม 2018, 10:55AM
 

การธำรงรักษาบุคลากร (Personnel Retention)

  โดย ดร.ยุภาพร เทพสุริยานนท์

 

เพื่อให้บุคลากรที่ดีมีคุณภาพทำคุณประโยชน์ให้แก่องค์กร เพราะหากไม่รักษาคนดีมีความสามารถเอาไว้ องค์การย่อมจะพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองเติบโตไปได้ยาก การธำรงรักษาบุคลากรเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาและผู้บริหาร มิใช่เป็นงานของฝ่ายบุคคลโดยลำพัง

การธำรงรักษาบุคลากรจะต้องส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของบุคคลให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อให้บุคลากรอยู่กับองค์การอย่างมีคุณค่าและมีแผนพัฒนาความก้าวหน้าในงานอาชีพของผู้ซึ่งมีศักยภาพสูง บุคลากรก็จะมีความรักองค์การและรักงานที่ทำ ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจทำงานเต็มความสามารถ ผลิตผลงานที่ดีออกมา ฝ่ายบริหารก็จะต้องดูแลให้ความเป็นธรรมและยอมรับในผลงานของผู้ปฏิบัติงานงานดี

การรับพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน จะต้องใช้เวลาฝึกสอนงาน ให้ความรู้และทักษะในการทำงานซึ่งมีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่าจะได้ผลงานที่เกิดประสิทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพเท่าคนเดิมที่เป็นผู้ที่มีความสามารถพร้อมที่จะทำงานให้เกิดผล

ความสำคัญของการธำรงรักษา

ทำให้องค์การมีบุคลากรที่ดีมีความสามารถและความชำนาญจัดเจนเพิ่มจำนวนมากขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ลดอัตราการเข้าออกงาน ทำให้ไม่ต้องมีภาระในการสอนงานพนักงานใหม่ เกิดทีมงานที่มั่นคงมีความรักความผูกพันและเข้าใจกัน พนักงานที่มีทักษะในงานสูงสามารถช่วยแบ่งเบาหน้าที่งานให้แก่ผู้บังคับบัญชาได้มากกว่าพนักงานที่อยู่ระหว่างการเรียนรู้งาน ทำให้ไม่เกิดปัญหาในการปฏิบัติงานหรือมีปัญหาน้อยมาก เพราะพนักงานจะมีความชำนาญมากกว่าพนักงานเข้าใหม่ องค์การจะเกิดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีพนักงานที่รู้งานเป็นงานมีความชำนาญสามารถคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในงานใหม่ ๆ ได้ ทำให้สามารถปลูกฝังทัศนคติที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา อันจะเป็นผลให้สามารถลดเวลาและค่าใช้จ่าย ทำให้ไม่เกิดความติดขัดหยุดชะงัก งานสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง สร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานรักงานที่ทำและรักองค์การ เป็นการเตรียมกำลังคนสำหรับอนาคต ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีเพราะมีพนักงานที่ทำงานอยู่กับองค์การเป็นเวลานาน แสดงให้เห็นว่าองค์การให้ความเป็นอยู่ที่ดีมีความอบอุ่นมั่นคง เป็นผลให้มีผู้ต้องการมาสมัครงานใหม่มาก โดยอาศัยพนักงานเก่าช่วยแนะนำกันมา

 

สาเหตุที่พนักงานลาออก

 

การออกงานมีหลายสาเหตุ ถ้าเป็นการไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก ก็ย่อมมีสาเหตุมาจากการกระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน แต่การที่พนักงานลาออกก็จะมีสาเหตุที่ต้องค้นหาความจริงให้พบ เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้พนักงานคนอื่นต้องลาออกไปด้วยสาเหตุเดียวกันอีก เพราะตราบใดที่สาเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข ผลของสาเหตุก็จะต้องเกิดตามมาอีก และปัญหาก็จะยังคงอยู่ ไม่หมดสิ้นไป

สาเหตุที่พนักงานลาออกตามที่พนักงานได้ตอบแบบสอบถาม หรือให้เหตุผลในหนังสือขอลาออกหรือจากการสัมภาษณ์พนักงานที่ลาออกจากงาน (Exit Interview) มีทั้งที่เป็นจริง และอาจไม่เป็นจริง เนื่องจากเหตุผลหลายประการ อาจเป็นด้วยผู้ขอลาออกเห็นว่าตนจะลาออกอยู่แล้วไม่ต้องการเสียเวลาอะไรก็ตอบไปพอให้เสร็จเรื่อง เว้นเสียแต่ว่าได้มีการทำความเข้าใจกันได้ว่าเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนพนักงานที่ยังอยู่จะได้ไม่ต้องลาออกด้วยสาเหตุเดียวกันอีก เป็นการช่วยเพื่อนที่เคยร่วมงานกันมา

สาเหตุของการลาออกจากงานเท่าที่ประมวลได้จากการสอบถามและการสัมภาษณ์ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีดังต่อไปนี้

1. ไม่พอใจอัตราค่าจ้าง

2. งานไม่ตรงกับสายวิชาที่เรียนมา

3. งานหนัก

4. ที่พักอยู่ไกลที่ทำงาน และเดินทางไม่สะดวก

5. ที่ทำงานอบอ้าวอุดอู้ คับแคบอากาศร้อน

6. เสียงดัง

7. ไม่มีค่าล่วงเวลา

8. ผู้บังคับบัญชาไม่เอาใจใส่พนักงาน

9. เข้ากับผู้ร่วมงานไม่ได้

10. ผู้บังคับบัญชาตำหนิรุนแรงหรือดุด่า

11. ทำงานต่ำกว่าคุณวุฒิ

12. ไม่พอใจสวัสดิการ

13. ไม่มีความก้าวหน้าในงานที่ทำ

14. สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี

15. ผู้บังคับบัญชาไม่สอนงานดีแต่ดุว่า

16. มีความคาดหวังในงานสูงและผิดหวัง

17. มีแต่ตำหนิไม่มีคำชม

18. ขาดความอบอุ่นใจ

19. ผู้บังคับบัญชามีอคติ

20. กลับไปช่วยงานที่บ้านต่างจังหวัดในฤดูทำนา

21. การชักจูงจากเพื่อนในที่ทำงานซึ่งมีรายได้สูง

22. เบื่องานและผู้บังคับบัญชา

23. ได้งานที่ดีกว่า ค่าตอบแทนสูงกว่า

24. ได้รับข้อเสนอตำแหน่งสูงกว่าเดิม

การแก้ไขสาเหตุที่พนักงานลาออก

ในฐานะเพื่อนพนักงานก็มีส่วนช่วยแก้ไขสาเหตุที่พนักงานลาออกได้มาก จากความใกล้ชิดและความไว้วางใจที่มีต่อกัน สามารถให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานร่วมกัน ช่วยปลอบโยนและให้ความหวังให้เกิดกำลังใจในยามทุกข์ยาก ผิดหวัง สร้างแรงจูงใจให้โอกาสแสดงความคิดเห็นในการทำงานร่วมกันเป็นทีม ช่วยให้เพื่อนที่ท้อแท้ต่องานซึ่งยากลำบากได้ทำงานจนสำเร็จ และถ้าเห็นว่าปริมาณงานมากในบางครั้งก็นำมาช่วยทำเป็นการแบ่งเบา แต่ถ้าเห็นว่างานมากและหนักเกินกำลังจริง ๆ ก็ควรจะเสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาว่าปริมาณงานมาก เกินกว่าที่จะทำลำพังผู้เดียวได้ ควรแบ่งงานเสียใหม่ และเฉลี่ยกระจายงานไปทั่วๆ ถ้าเกลี่ยงานไม่ได้ต้องเสนอให้พิจารณาเพิ่มอัตรากำลังหรือนำงานบางอย่างส่งให้บุคคลภายนอกรับจ้างทำ เพื่อนพนักงานที่รักและหวังดีต่อกัน จะช่วยยึดเหนี่ยวไม่ให้พนักงานลาออกโดยง่าย เพราะติดเพื่อนและทำงานเข้าทีมกันได้อยู่แล้ว

ในฐานะฝ่ายบริหาร จะต้องค้นหาสาเหตุของการลาออกของพนักงานให้พบ และสามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ เพื่อจะหาทางแก้ไขที่สาเหตุ เพราะการแก้ไขที่ปลายเหตุหรือแก้ไขด้วยการหว่านล้อม เกลี้ยกล่อม ชักจูงให้เห็นแก่ส่วนรวม ที่จะขาดกำลังคนที่ดีมีความสามารถอาจจะไม่ได้ผล เพราะผู้ที่ลาออกจะนึกย้อนว่าเมื่อก่อนหน้าที่ตนจะตัดสินใจลาออก ทำไมไม่เห็นคุณค่าของตน เพิ่งจะมาคิดถึงคุณค่าเมื่อจะจากไปอยู่แล้ว จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเหนี่ยวรั้งผู้ซึ่งตัดสินใจแล้วให้กลับใจเพิกถอนการลาออก การธำรงรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายจึงจะได้ผล

 เรียบเรียงจาก สมิต สัชฌุกร