รูปภาพของจตุรงค์ นัดสันเทียะ
บทความเรื่องกล้องฟิล์ม คุณค่าของความช้าในยุคแห่งความเร็ว
โดย จตุรงค์ นัดสันเทียะ - จันทร์, 29 เมษายน 2019, 12:11PM
 

ทุกวันนี้การสื่อสารรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถถ่ายทอด บอกเล่า และบันทึกภาพต่างๆ ที่นำเสนอเหตุการณ์ได้แบบเรียลไทม์ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กแทบวินาทีต่อวินาที ใครเผลอวางมือถือหรือช้าไปนิดเดียวถือว่าตกเทรนด์ แต่ทว่าทุกยุคทุกสมัย เมื่อเกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป ก็มักจะมีการสวนกระแส หรือการกระทำเชิงต่อต้านขึ้นมา เมื่อโลกหมุนเร็วมากเกินไป บางคนก็อยากใช้ชีวิตให้ช้าลง เลือกฟิล์มที่ชอบจับใส่ตัวกล้อง เลือกมุมและโมเมนต์ที่จะถ่าย วัดแสง ปรับองค์ประกอบอื่นๆ และรอให้ได้จังหวะที่เพอร์เฟ็กต์ที่สุด นั่นเพราะคุณสามารถถ่ายได้แค่ 36 รูป อีกทั้งยังเช็กรูปไม่ได้ด้วย แล้วจึงกดชัตเตอร์ ทำแบบนี้ครบ 36 ครั้ง ได้ 36 รูป ต่อฟิล์ม 1 ม้วน จากนั้นนำไปส่งร้านล้างรูป รอล้าง สแกน หรืออัดภาพ ก็จะได้เห็นรูปที่เราถ่าย ดูเหมือนวิธีการเหล่านี้จะง่ายนิดเดียว แต่ถ้าเพียงใช้มือถือถ่ายรูป ใส่ฟิลเตอร์ แต่งรูป แล้วลงไอจี ทุกอย่างกลับเสร็จภายใน 2 นาที เรียกได้ว่าง่ายกว่าการถ่ายภาพด้วยฟิล์มเป็นไหนๆ คุณเคยมีอาการใช้มือถือถ่ายรูปสิ่งหนึ่งซ้ำๆ กันหลายครั้งเพื่อความชัวร์ไหม ในยุคที่การถ่ายรูปไม่มีขีดจำกัด เราสามารถถ่ายรูปซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะถ่ายกี่รูปก็ได้ จนกว่าเม็มโมรีการ์ดจะเต็ม นั่นทำให้กระบวนการคิดก่อนถ่ายภาพๆ หนึ่งนั้นลดทอนลงไป ถ้าถ่ายพลาดก็ถ่ายใหม่ได้ ไม่ต้องคิดเยอะ ถ้าเปรียบการบันทึกภาพกับสมองมนุษย์ ก็คงเหมือนเป็นความทรงจำ บางครั้งถ้าเรายิ่งเก็บสิ่งต่างๆ ไว้เป็นความทรงจำมากๆ โดยไม่ได้คิดให้มากก่อนจะเก็บไว้ ก็อาจทำให้เกิดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ความทรงจำที่รกสมองแต่นั่นไม่ได้แปลว่าการถ่ายรูปด้วยมือถือเป็นเรื่องผิด แต่การถ่ายภาพด้วยฟิล์มที่แต่ละภาพ แต่ละความทรงจำจะถูกคัดกรองด้วยสมอง สายตา และการใช้สมาธิ

เสน่ห์ของรูปภาพจากฟิล์มที่แตกต่างจากกล้องดิจิทัล
สิ่งที่ทำให้หลายคนหลงใหลการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม ไม่ใช่เพียงการปรับตั้งค่าแบบแอนนะล็อก หรือการรอคอยให้ถ่ายครบทั้ง 36 รูป แต่ยังรวมถึงฟิลเตอร์ที่ต่อให้ใช้โปรแกรม Lightroom หรือโปรแกรมแต่งภาพระดับเทพ ก็ไม่สามารถให้ความรู้สึกเหมือนกับการถ่ายภาพฟิล์มได้ อีกทั้งโทนสีที่เกิดจากการเลือกใช้ฟิล์ม หรือเกรน (film grain) ที่เกิดบนภาพที่อาจไม่ได้คมชัดแบบภาพจากดิจิทัล ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากได้ภาพโทนสีจัดจ้าน โทนสีเขียว โทนสีแดง ก็จะมีฟิล์มรุ่นที่ให้โทนดังกล่าวบนภาพของคุณได้ ฟิล์มบางรุ่นจะให้เกรนที่เนียน เหมาะกับการถ่ายคน หรือบางคนอาจชอบเกรนหยาบๆ ก็แล้วแต่จะเลือกใช้กัน ใครอยากทดลองใช้ฟิล์มที่หมดอายุถ่าย ก็จะได้ผลลัพธ์บนรูปภาพที่แตกต่างออกไปจากฟิล์มปกติ ถ้าอยากได้สีแปลกๆ แหวกแนว ก็อาจใช้การล้างฟิล์มแบบ Cross Process หรือแม้กระทั่งรูปภาพบางรูปที่เกิดจากความบังเอิญ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพที่เกิดจากการวัดแสงผิด แสงรั่ว รูปที่ถ่ายจากต้นฟิล์ม ก็อาจทำให้ได้ภาพที่สวยและแตกต่างไปอีกแบบ นั่นจึงทำให้การถ่ายกล้องฟิล์มมีความสนุก สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยในกระบวนการถ่ายภาพในมือถือ หรือดิจิทัล อีกทั้งยังสร้างคุณค่าทางจิตใจ เพราะกว่าจะได้มาในแต่ละรูปนั้นต้องเกิดจากความตั้งใจ เสมือนการสร้างความทรงจำอันมีค่าที่สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งใดที่เราได้มาง่ายๆ เราก็มักจะลืมมันง่าย แต่สิ่งใดที่เราได้มายาก เราย่อมจะจดจำได้ตลอดไป

ที่มาภาพเปิด: Photo by Colin N on Unsplash เรื่อง: ภีร์รา ดิษฐากรณ์