รูปภาพของพนิดา แก่นสำโรง
พูดประทับใจ เมื่อเข้าใจคน
โดย พนิดา แก่นสำโรง - พุธ, 29 เมษายน 2020, 01:03PM
 

การพัฒนาทักษะการพูด นั่นคือ เราจะต้องเข้าใจผู้ฟังให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถพูดได้แตะใจ สร้างความประทับใจแก่ผู้ฟัง ส่งผลให้เราบรรลุเป้าหมายการพูดได้มากที่สุด

ถึงกระนั้น เราจะเข้าใจผู้ฟังได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่เคยรู้จักเขาเลย อีกทั้ง คนฟังนั้นอาจมีความหลากหลาย เราย่อมไม่สามารถพูดให้ทุก ๆ คนพึงพอใจได้ เพราะเป็นความจริงที่ว่า การเข้าใจผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องยาก ทว่าไม่ยากเกินไป หากเรามีความเข้าใจในจิตวิทยาพื้นฐานของคน

โดยทั่วไปในทางจิตวิทยาพบว่า คนปกติโดยทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่มักจะชอบให้คนอื่นทำดีกับตน มองตนในด้านดี มากกว่าด้านเสีย เราในฐานะผู้พูด จึงควรพยายามตอบสนองในด้านที่จะทำให้คน ชอบ พึงพอใจ มากกว่า หงุดหงิด ไม่พอใจ ดังนั้น หากต้องการพูดให้ประทับใจ ควรจดจำว่า คนฟังส่วนใหญ่

ชอบคนอารมณ์ดี กล่าวกันว่า คนเราต้องการอยู่ใกล้กับคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส หรือมีใบหน้ารับแขกมากกว่าคนที่หน้าตาเคร่งเครียด หรือใบหน้าไม่รับแขก ดังนั้น เวลาพูด เราจึงควรมีสีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ดูเป็นมิตร น่าคบค้าสมาคมด้วย อีกทั้ง ในการพูดของเรา ควรแทรกเรื่องตลกไปบ้าง ยิ่งโดยเฉพาะคนไทย ส่วนใหญ่จะชอบคนที่มีบุคลิกตลก ร่าเริง สนุกสนาน การแทรกมุขตลกจะเพิ่มสีสันการพูดได้เป็นอย่างดี ช่วยให้ผู้ฟังเกิดความสุขและประทับใจเราได้มากขึ้น

ชอบคำชม ให้เกียรติ ยกย่อง เราควรจำไว้ว่า คนเรามักต้องการเป็นคนสำคัญ มีคนเห็นคุณค่า ให้เกียรติ ชื่นชมยกย่องในสิ่งดีที่ตนได้ทำ ดังนั้น ในการพูด เราจำเป็นต้องมีคำพูดชมผู้ฟังแทรกมาในช่วงที่เหมาะสมด้วย เช่น ชื่นชมว่าเป็นบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ยกย่องว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นบุคคลที่ควรปรบมือให้

ชอบได้รับความสนใจ จำไว้ว่า เมื่ออยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ไม่มีใครชอบการถูกเพิกเฉย ไม่มีใครใส่ใจ เพราะจะเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว แต่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ต้องการให้ผู้อื่นสนใจ เอาใจใส่ ดังนั้น ในการพูด เราควรให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม อาจเป็นการตั้งคำถาม หรือยิ่งหากเรารู้จักบางคนที่ฟัง และเอ่ยชื่อเขา สิ่งดีที่ทำ หรือให้เขามีส่วนร่วมบางอย่าง เขาจะรู้สึกมีความภูมิใจและประทับใจในเรา

ชอบฟังเรื่องที่ตนสนใจ เช่นเดียวกับเรา เราย่อมให้ความเอาใจใส่จดจ่ออยู่กับเรื่องที่สนใจ มากกว่าเรื่องที่ไม่สนใจ ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ เราย่อมไม่สนใจการ์ตูน แตกต่างจากเด็ก ๆ ดังนั้น เราควรรู้ข้อมูลพื้นฐานของผู้ฟัง กลุ่มผู้ฟังเป็นกลุ่มใด มีความสนใจในเรื่องใดบ้าง เพื่อนำมาปรับให้เรื่องที่พูดสอดคล้องกับความสนใจของผู้ฟังให้มากที่สุด ย่อมจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ฟังสนใจและประทับใจในสิ่งที่เราพูดได้

ไม่ชอบถูกต่อว่า ถูกตำหนิ คนเราจะเกิดความรู้สึกไม่พอใจ ยิ่งหากทำต่อหน้าผู้อื่น ยิ่งก่อให้เกิดความโกรธ เพราะเกิดความรู้สึกเสียหน้า ดังนั้น ในการพูด เราต้องระมัดระวัง ไม่ใช่คำพูดในเชิงเหน็บแนม ต่อว่า ตำหนิ เสียดสีผู้ฟัง แม้โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น การพูดถึงคนที่มีน้ำหนักมากในเชิงลบหรือขบขัน ผู้ฟังที่มีน้ำหนักมากจะรู้สึกถูกต่อว่า และจะเกิดความไม่พอใจทันที เป็นต้น

การเข้าใจธรรมชาติพื้นฐานความชอบ-ไม่ชอบของคนโดยทั่วไปเช่นนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามการพูดจริง อันจะช่วยให้เกิดความชื่นชมและประทับใจ ก่อเกิดทัศคติที่ดีต่อเรา ซึ่งจะส่งเสริมให้การพูดในครั้งต่อ ๆ ไปของเราได้รับการยอมรับอย่างง่ายดาย

โดย.....มิสพนิดา แก่นสำโรง