รูปภาพของศราวุธ ชนะบำรุง
คอมพิวเตอร์ชิปขาดตลาด วิกฤตใหญ่ในระดับโลก
โดย ศราวุธ ชนะบำรุง - จันทร์, 19 เมษายน 2021, 11:43AM
 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไอเอชเอส มาร์คิท บริษัทวิจัยระดับโลก เผยแพร่ผลการประเมินอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกไว้ว่า จะเผชิญปัญหาที่ทำให้ผลผลิตหายไปมากถึง 1.3 ล้านคัน เฉพาะในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลน “เซมิคอนดักเตอร์ชิป” หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า คอมพิวเตอร์ชิป ที่กลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับรถยนต์ยุคใหม่นั่นเอง

ไอเอชเอสฯตรวจสอบสถานการณ์ของระบบซัพพลายเชนของคอมพิวเตอร์ชิปแล้วบอกว่า ภาวะขาดแคลนนี้จะยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ นานกว่าที่เคยประเมินเอาไว้ถึง 1 ไตรมาสเต็ม ๆ

ผู้เชี่ยวชาญในวงการบางคนเชื่อว่า ปัญหานี้อาจจะยืดเยื้อออกไปจนถึงปีหน้าด้วยซ้ำไป และซัพพลายของคอมพิวเตอร์ชิปจะเปราะบางอยู่เช่นนี้อีกหลายปี

ภาวะขาดแคลนคอมพิวเตอร์ชิป จนถึงกับต้องหยุดสายพานการผลิตรถยนต์ของหลายบริษัทเป็นการชั่วคราวนั้น เริ่มต้นตั้งแต่เกิดภาวะ “ช็อก” ต่อดีมานด์รถยนต์ในช่วงวิกฤตโควิดเมื่อปีที่ผ่านมา หลายบริษัทชะลอการผลิต และชะลอคำสั่งซื้อชิปออกไปไม่มีกำหนด

แต่วิกฤตเดียวกันนั้นที่ทำให้ความต้องการชิปในอุตสาหกรรมรถยนต์ลดลง กลับไปเพิ่มความต้องการคอมพิวเตอร์ชิปในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมเกม เพราะสถานการณ์ล็อกดาวน์ ต้องทำงานอยู่กับบ้าน และหาเกมเล่นแก้เบื่อ ทำให้ความต้องการชิปประมวลผลสำหรับอุปกรณ์เหล่านี้เพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา

ความคาดหวังของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กระเตื้องขึ้นมาเร็วเกินคาดในช่วงปลายปี เพราะการมาถึงของวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเร็วกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับการอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์หันกลับมาผลิตเต็มกำลังกันอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ปัญหาก็คือ คอมพิวเตอร์ชิป ผลิตตามออร์เดอร์เท่านั้น นั่นหมายความว่า ผู้ที่สั่งซื้อในวันนี้จำเป็นต้องไปเข้าคิวรอเพื่อรับสินค้าที่เริ่มผลิตก็ต่อเมื่อการผลิตตามออร์เดอร์ที่ก่อนหน้านี้แล้วเสร็จ และจัดส่งแล้วเท่านั้น

ในช่วง “ระงับการผลิต” รถยนต์ที่ผ่านมา บรรดาผู้ผลิตชิปก็หันไปรับออร์เดอร์จากกลุ่มผู้ผลิตคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน, เกมคอนโซล เป็นหลัก

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม บริษัทรถยนต์อย่าง จีเอ็ม หรือ ฟอร์ด ที่สั่งซื้อชิปจากบรอดคอม อิงก์. ถึงจำเป็นต้องรออย่างน้อย 22.2 สัปดาห์ สินค้าที่สั่งถึงจะเริ่มส่งออกจากบริษัทผู้ผลิต

นั่นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ในขณะที่ในช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างช้าที่สุดจะได้รับสินค้าภายใน 12.2 สัปดาห์เท่านั้น

แต่ถ้าทุกอย่างจบลงแค่นั้น ปัญหาขาดแคลนชิปจะไม่รุนแรงและลุกลามเหมือนที่เป็นอยู่

เหตุผลสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ด้านซัพพลายของชิปคอมพิวเตอร์กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา เพราะห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดของชิปนั้นเปราะบางเหลือหลาย

สหรัฐเป็นประเทศที่ขายคอมพิวเตอร์ชิปมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนถึง 47 เปอร์เซ็นต์ของโลก แต่ผลิตชิปได้เองเพียงแค่ 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

บริษัทอย่าง อินเทล, ควอลคอม, บรอดคอม, เอ็นวีเดีย, เอเอ็มดี หรือกระทั่ง เทกซัส อินสตรูเมนต์ ล้วนแต่เป็นบริษัทชิปประเภท “แฟบเลส” คือ ทำหน้าที่เพียงแค่ออกแบบชิปที่มีคุณลักษณะที่ต้องการ แล้วส่งไปผลิตที่อื่น

บริษัทใหญ่ที่สุดที่ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ให้กับหลายบริษัทที่ว่านั้นก็คือ ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ เมนูแฟกเจอริ่ง หรือ ทีเอสเอ็มซี กับบริษัทที่อยู่ในเครือของซัมซุง อีเลคทรอนิกส์ ยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้

ในขณะที่ความต้องการคอมพิวเตอร์ชิปเพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดนั้น ปัญหาก็เกิดขึ้นกับโรงงานผลิตที่ผลิต 12 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐซึ่งครึ่งหนึ่งตั้งอยู่ในรัฐเทกซัส ที่เผชิญกับพายุฤดูหนาวรุนแรง ไฟดับ น้ำในท่อเป็นน้ำแข็งอยู่เป็นเวลานานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ กระทบต่อการผลิตชิปทั้งหมด

ในเวลาเดียวกัน โรงงานผลิตชิป ไมครอนที่ไต้หวัน ก็เจอกับภัยแผ่นดินไหวเมื่อ 10 ธันวาคมปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ทีเอสเอ็มซีเองก็เจอกับปัญหาการผลิตเพราะเกิดภาวะแล้งจัด จนถึงขนาดต้องปันส่วนน้ำกันใช้ในไต้หวันอยู่ในเวลานี้

ทั่วทั้งโลกผลิตชิประดับ 10 นาโนเมตร หรือต่ำกว่า อยู่ที่ไต้หวัน 92 เปอร์เซ็นต์ ที่เกาหลีใต้อีก 8 เปอร์เซ็นต์ ภาวะขาดแคลนชิปถึงลุกลามไปถึงผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่าง แอปเปิล, ซัมซุง อย่างช่วยไม่ได้ และกำลังกลายเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์, หน่วยความจำประเภทเอสเอสดี, เกมคอนโซล รวมไปถึงอุปกรณ์ประเภทสมาร์ทโฮมทั้งหลายอยู่ในเวลานี้

ภาวะขาดแคลนทำให้ตอนนี้ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชิปขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ของตนเองไปแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์

ทำให้คาดกันว่า ทุกอย่างที่มีชิปคอมพิวเตอร์ประกอบอยู่ในตัว รวมทั้งสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์พีซี อาจจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นระหว่าง 15-30 เปอร์เซ็นต์ในเร็ว ๆ นี้

ที่มา:
ชีพจรเศรษฐกิจโลก ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์