รูปภาพของทัศนีย์ ช้อนขุนทด
เลือกอาหารตักบาตรพระอย่างไรดี
โดย ทัศนีย์ ช้อนขุนทด - พฤหัสบดี, 29 เมษายน 2021, 04:22PM
 

เลือกอาหารตักบาตรพระอย่างไรดี

ประเพณีการทำบุญตักบาตรมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุจะถือบาตรออกบิณฑบาตเพื่อรับอาหารหรือทานอื่นๆ ตามหมู่บ้านในเวลาเช้า ผู้คนที่ออกมาตักบาตรจะนำข้าว อาหารแห้ง มาถวายพระ ซึ่งชาวพุทธถือกันว่าเป็นการสร้างกุศลและแผ่ส่วนกุศล โดยเชื่อกันว่าอาหารที่ถวายไปนั้นจะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับด้วยเช่นกัน หรือบางคนอาจจะมีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถบริโภคอาหารได้ตามปกติ แต่อยากรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไขมัน แป้งและน้ำตาล ทั้งที่รู้ว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย จะทำให้ไขมันและน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดโรคอ้วนและอื่นๆ ตามมา แต่เมื่อไม่สามารถรับประทานเองได้จึงนำมาถวายพระ เพราะความเชื่อที่ว่าเก็บไว้กินชาติหน้าหรือชาติต่อๆไป จึงทำให้อาหารที่ใส่ไปในบาตรพระไม่ได้คุณค่าตามหลักโภชนาการ

ดังนั้น การเลือกอาหารใส่บาตรให้คำนึงถึงสุขภาพของพระสงฆ์ที่มารับบิณฑบาตว่าควรเลือกอาหารอย่างไรเพื่อให้พระสงฆ์ปราศจากโรคที่ตามมา อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคหัวใจตีบ ซึ่งเกิดจากการฉันอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลมากเกินไป พุทธศาสนิกชนควรเลือกอาหารตักบาตรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของพระสงฆ์และถูกหลักโภชนาการ เช่น ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันจนเกินไป เน้นอาหารจำพวกเนื้อปลา ไข่ขาว เต้าหู้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอล เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เนย เนยแข็ง ครีม ไอศกรีม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารที่ทอดในน้ำมันมาก เช่น ปาท่องโก๋ ไก่ทอด หมูสามชั้น หรือหมูติดมันทอด สำหรับผลไม้ควรเลือกที่รสไม่หวานจัดจนเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของพระภิกษุในระยะยาวได้ สำหรับอาหารที่จะนำไปถวายควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิ ข้าวต้มปลาทรงเครื่อง น้ำเต้าหู้ทรงเครื่อง ปลานึ่งผักลวก ผลไม้ หรือเครื่องดื่มสุขภาพ

นอกจากนี้ อาหารที่เหมาะกับพระภิกษุสงฆ์ควรประกอบไปด้วยสารอาหารครบทั้ง ๕ หมู่ ที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม

กลุ่มที่หนึ่ง อาหารจากธัญพืช คือข้าวประเภทต่างๆ อาทิ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ โฮลวีท รำข้าว งาดำ ลูกเดือย เห็ด และพืชตระกูลถั่ว ธัญพืชที่ไม่ขัดสีจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะมีเส้นใยสูง มีสารอาหารครบ ๕ หมู่ มีวิตามินบี อี ช่วยให้หลอดเลือดมีสุขภาพดีป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ ป้องกันโรคเหน็บชา ตะคริว ช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอล ช่วยบำรุงระบบประสาทในสมอง

กลุ่มที่สอง อาหารที่มีแร่ธาตุ ส่วนใหญ่จำพวกพืชผัก ซึ่งมีวิตามินและแร่ธาตุสูง มีเส้นใยที่ช่วยให้ขับถ่ายเป็นปกติ จะช่วยป้องกันโรคร้ายต่างๆ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด

กลุ่มที่สาม คือ ผักเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะผักตามฤดูกาล เพราะได้ผักที่สดและราคาถูก หรือผักโครงการปลอดสารพิษ เพราะผักแต่ละชนิดจะมีสรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

อย่างไรก็ตาม การเลือกอาหารใส่บาตรควรคำนึงถึงสุขภาพของพระสงฆ์เป็นหลักแล้ว ยังจะเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่งด้วย

ข้อมูลอ้างอิง : นิยะดา พันธุ์เพ็ชร ส่วนการประชาสัมพันธ์

สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์