รูปภาพของสมบูรณ์ สุขชัย
Seven Laws of Success (กฎแห่งความสำเร็จเจ็ดประการ)
โดย สมบูรณ์ สุขชัย - จันทร์, 28 มีนาคม 2022, 10:46AM
 

Seven Laws of Success
กฎแห่งความสำเร็จเจ็ดประการ

สมบูรณ์ สุขชัย
รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรการ-การเงิน โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา

sboon99@hotmail.com

1. การกำหนดเป้าหมาย (FIX GOALS)

1.1 หาความฝันและอยากของตัวเองให้เจอก่อน

จุดเริ่มต้นของการกำหนดเป้าหมายในชีวิต คือ การถามตัวเองว่าในอนาคตเราอยากจะเป็นอะไร อยากจะมีอะไร อยากจะได้อะไร อยากจะเป็นเหมือนใคร แค่ไหน เมื่อไหร่ เพราะถ้าเราไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ เราจะกำหนดเป้าหมายที่ดีไม่ได้เช่นกัน เหมือนกับการที่เราออกไปตลาดเพื่อซื้อของมาทำอาหาร ถ้าเราไม่มีรายการอาหารอยู่ในใจ คิดเพียงว่าไปดูก่อนแล้วกันค่อยคิดว่าจะทำอะไรกิน ผมคิดว่าคงต้องใช้เวลาเดินตลาดนานมาก เผลอๆอาจจะไม่มีอะไรถูกใจเลยสักอย่างเดียว ผิดกับคนที่คิดรายการอาหารไปจากบ้าน พอไปถึงตลาดก็สามารถเดินไปเฉพาะจุดที่ต้องการจะซื้อได้ทันทีไม่ต้องเสียเวลาเดินวนไปวนมา ถึงแม้รายการอาหารที่เราต้องการไม่มี แต่ถ้าเรามีรายการอาหารสำรองอยู่ เราก็สามารถเปลี่ยนรายการซื้อของได้ทันท่วงที ดังนั้น ใครที่ยังหาตัวเองไม่เจอก็ไม่ต่างอะไรไปจากคนที่ไปตลาดแล้วค่อยคิดว่าจะซื้ออะไรมาทำอาหาร

1.2 วิเคราะห์ความชอบของตัวเอง

ใครที่กำลังทำงานเป็นลูกจ้างอยู่และคิดจะออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ผมแนะนำว่าควรเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ตัวเองชอบเป็นอันดับแรก เพราะธุรกิจที่เราทำเราจะต้องอยู่กับมันนานและถ้าใครเลือกทำธุรกิจที่ตัวเองไม่มีความรักความชอบเป็นพื้นฐานแล้วจะทำได้ไม่ดี เช่น ใครไม่ชอบเล่นเกมส์ แต่อยากทำธุรกิจร้านวีดีโอเกม รับรองว่าโตยากครับ

1.3 ขีดกรอบเป้าที่มุ่งหมายและตีกรอบให้แคบลง

การเลือกเป้าหมายที่เราต้องการถ้าเรารู้ว่าเราชอบอะไร เวลามองออกไปภายนอกจะค่อนข้างง่าย เช่น เราอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้า เป็นเสื้อผ้าสตรี นำสมัย กลุ่มเป้าหมายคือคนทำงาน และธุรกิจเสื้อผ้าที่ลงทุนไม่เกิน 2 ล้านบาท อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ฯลฯ ถ้าเราสามารถกำหนดกรอบของเป้าหมายได้ชัดเจนและค่อยๆตีกรอบนั้นให้แคบลงๆ เราจะค้นพบว่าเป้าหมายนั้นเหมาะสมกับเราหรือไม่

1.4 ศึกษาข้อมูลเพื่อไปสู่เป้าหมาย

เมื่อเราได้เป้าหมายที่ชัดเจนและอยู่กรอบที่เราสามารถทำได้ ขั้นต่อมาคือการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ว่าแนวทางในการไปสู่เป้าหมายนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าต้องการทำธุรกิจส่วนตัวเรื่องเสื้อผ้า ก็ควรจะไปศึกษาจากผู้ที่เคยประสบความล้มเหลวและผู้ที่กำลังประสบความสำเร็จในปัจจุบัน เพื่อวิเคราะห์ดูว่าเราจัดอยู่ในกลุ่มไหน หรือควรจะหาทางป้องกันไม่ให้เราผิดพลาดเหมือนกลุ่มที่เคยล้มเหลวมาแล้ว

1.5 ตั้งเป้าหมายให้ท้าทาย

การตั้งเป้าหมายในชีวิตควรจะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ซึ่งหมายถึงเป้าหมายที่ไม่ง่ายจนเกินไป เช่น ก่อนเกษียณอายุจากลูกจ้างควรจะดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโส (ไม่ต้องทำอะไรอยู่ไปนานๆอายุงานมากขึ้นไม่มีใครแก่กว่าเราอีกแล้วก็เป็นได้แล้ว) และไม่ควรตั้งเป้าหมายที่ยากเกินไป เช่น อยากเก็บเงินเดือนละห้าพันบาททั้งๆที่ได้เงินเดือนๆละหมื่นบาท

1.6 ควรจะมีเป้าหลักและเป้ารอง

การตั้งเป้าหมายในชีวิตที่ดีควรจะมีเป้าหมายหลักและเป้าหมายรองที่สอดคล้องกัน เพราะถ้าเป้าหมายหลักมีปัญหาอุปสรรคหรือเป็นไปไม่ได้ จะได้เอาสิ่งที่ได้ลงทุนไปกับเป้าหมายหลักมาใช้ประโยชน์กับเป้าหมายรองได้ การกำหนดเป้าหมายในชีวิตไม่จำเป็นว่าจะต้องกำหนดครั้งเดียวแล้วใช้ได้ตลอดไป เราควรจะทบทวนความสำเร็จของเป้าหมายที่กำหนดไว้เป็นระยะๆว่า ควรจะมีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร

สรุป การกำหนดเป้าหมายถือเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าคนๆนั้นจะทำงานเป็นลูกจ้างหรือทำอาชีพอะไรก็ตาม เพราะเป้าหมายคือสิ่งนำทาง เป้าหมายคือแสงสว่างที่จะช่วยให้เราเห็นทิศทางที่เราต้องการจะไปได้ง่ายและชัดเจนกว่า ถ้าถามกันง่ายๆว่าทำไมคนบางคนจึงประสบความสำเร็จในชีวิตดีกว่าและเร็วกว่าคนอื่นๆ ผมมั่นใจว่าสิ่งหนึ่งที่คนที่ประสบความสำเร็จน่าจะมีเหมือนๆกันคือการวางแผนชีวิตที่มีระบบและมีเป้าหมายในชีวิตที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง

2. การศึกษา (EDUCATION)

เรียนไปทำไม เรียนไปเพื่ออะไร

คำตอบคำปั้นทุบดิน คือ คำถาม

"อยากจะเป็นอะไร" ก็เน้นเรียนหนักไปทางนั้น

คำตอบที่สอง คือ

สิ่งที่เรียน จะมีวัตถุประสงค์อยู่ นั่นคือหัวใจ เช่น กีฬาสี

เพื่อความสามัคคี การทำงานกลุ่ม/ทีม รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เป็นต้น

ความรู้เป็นสมบัติที่ตกทอดกันมา จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ทั้งได้มีการชำระความถูกต้องกันมาตลอด แต่อยู่ในรูป และวิธีการถ่ายทอด วิธีการเรียบเรียงที่ไม่เหมือนกัน จุดประสงค์คนละประเด็นกัน ในแต่ละครู ในแต่ละตำรา ขณะที่นักเรียนเอง ก็มีความพร้อมในการเรียนรู้ที่ไม่เท่ากัน บางคนฉลาด และถูกแนวทาง ก็จะไปได้เร็วกว่า คนที่มีจุดมุ่งหมายแต่ไม่พร้อมทางสติปัญญา แต่ท้ายที่สุดทุกคนก็อาจไปถึงที่หมายได้เหมือนกัน นักเรียนมีความรู้สึกเหมือนหุ่นยนต์ที่ต้องเข้าโปรแกรม ยัดเยียดการเรียนรู้ ทั้งอังกฤษ คณิต วิทย์ฯ สังคม ภาษาไทย พละ สุขศึกษา สร้างเสริมประสบการณ์ จริยธรรม บางทีก็มีฟิสิกส์ เคมี ชีวะ พ่วงด้วย ไม่เห็นน่าสนใจเลย จริงๆแล้ว ถ้าตัดเนื้อหา วิธีสอน วิธีถ่ายทอดออกแล้ว ทุกวิชาล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ สมัยก่อนผู้ต้องการรํ่าเรียน ต้องออกจากบ้าน ไปสืบเสาะแสวงหาครูเพื่อเรียนรู้วิชา โดยการอาสาตัวเป็นศิษย์ อันหมายถึงผู้ยอมรับในวิชา การสอนสั่งจากครู ไม่ว่าจะยากลำบากขนาดไหน เพื่อต่อไปภายภาคหน้า จะมีความเก่งกล้า เป็นบุรุษชาติ ที่มีความรู้ มีทักษะในการประกอบวิชาอาชีพต่อไป ต่อมาถึงปัจจุบัน เรามีโรงเรียน ที่ไม่ต้องออกแรงพยายามใดๆ เราว่ามันเป็นการยัดเยียด ขี้เกียจจำ คุณภาพของเยาวชนของชาติก็ไม่เกิด อาจกลายเป็นภาระของชาติแทนในอนาคต ยกตัวอย่าง เลข เป็นวิชาทั้งพื้นฐาน เป็นทั้งตรรกะ ที่เป็นจริงเสมอ และคำตอบที่ไม่มีผิดพลาด ทุกองค์ประกอบที่เป็นวิทย์ ล้วนแล้วแต่มีเลขเป็นองค์ประกอบ เมื่อเราไม่เรียนพื้นฐาน ดุจดั่ง เราไม่รู้จักภาษาไทย อนาคตเมื่อเข้ามหา'ลัย เรียนขั้นสูงขึ้นไป พื้นฐานไม่มี เพราะเอาแต่ลอกเพื่อน ได้แต่นั่งร้องไห้ ที่จบออกมาไม่ได้อะไรเลย ก็มี ที่ร้ายก็คือ สมมุติถ้าไปทำงาน ออกแบบตึก รากฐานที่ไม่แข็งแกร่ง เหมือนสร้างบ้านบนกองทราย อาจถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ เป็นอันตรายไม่เฉพาะตนเอง แต่กับชีวิตผู้อื่นด้วย แสดงถึงความไม่รับผิดชอบ ตั้งแต่เด็กมาเลย

3. สุขภาพดี (GOOD HEALTH)

ทำไม บางคนแก่เร็ว บางคนแก่ช้าคำตอบคือ การใช้ชีวิตที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติ จะช่วยให้มนุษย์มีสุขภาพดีไปตลอดช่วงอายุ เช่น ชาว Hunzas ชนเผ่าหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นเทือกเขาหิมาลัย พวกเขามีอายุยืนยาวถึง 150 ปี และแม้จะอายุนับร้อยปีแล้ว เขาก็ยังสามารถขี่ม้าไปไหนมาไหนได้ พวกเขาสามารถมีอายุยืนได้โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือของวิทยาการสมัยใหม่ เพียงแค่มีชีวิตอยู่กับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ แต่ในขณะที่ชีวิตในเมือกลายเป็นเรื่องปกติที่ดื่มนมจากกล่องกระดาษ ซื้อเนื้อมาประกอบอาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งอาจมีสิ่งเจือปนเป็นฮอร์โมนหรือยาปฏิชีวนะ ทำให้เด็กในสังคมเมืองไม่เข้าใจว่าในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ

วิธีการที่จะดูแลตัวเองอยู่ให้ห่างไกลจากโรคร้าย

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การอยู่โดยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บนั้นเป็นสุดยอดปรารถนาของทุกคน เพราะการมีสุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน เปรียบเสมือนการที่ร่างกายได้ใช้พลังงานที่เรามีอยู่ เพื่อสร้างสรรค์ความสำเร็จให้กับชีวิตตามเป้าหมายที่เราต้องการ เพราะคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยนั้นจะถูกดึงพลังส่วนหนึ่ง จากทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อต่อสู้กับโรคเหล่านั้น

สิ่งที่ทำให้เราห่างไกลจากโรคภัยทั้งหลายคือ การรู้ทันโรคภัยเหล่านั้น และป้องกันตัวเองอย่างถูกวิธี โรคที่คนส่วนใหญ่กลัวมักจะเป็นโรคเรื้อรังชื่อดังทั้งหลาย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น วิธีการที่จะอยู่ให้ห่างไกลจากโรคร้ายนี้คือ การดูแลสุขภาพของเราอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่

- กินผักผลไม้ ให้ได้ถึงวันละ 5-9 กำมือ เช่น ผัก ผลไม้ หลากสีสัน หรือน้ำผลไม้สีสด ลดกินอาหารประเภทเค็มจัด หวานจัด และมันเกินไป

- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว

- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 5-8 ชั่วโมง

- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 15 นาที

- หลีกเลี่ยงแหล่งของอนุมูลอิสระ เช่น แสงแดดจัด ควันบุหรี่ มลภาวะ

-จัดการกับความเครียด เพราะเมื่อร่างกายของเราเครียดเรื้อรัง ร่างกายจะหลั่งสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่าสารความเครียด ที่มีผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังและน้ำหนักเกิน

- ดูแลไม่ให้น้ำหนักตัวมากเกินไป หรืออ้วนเกินไป

- หมั่นตรวจสุขภาพร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

4. การลงมือทำ ความพยายาม (DOING)

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น”

คนเราทุกคนเกิดมา เชื่อว่าต้องมีความมุ่งหวังมีเป้าหมาย มีสิ่งมุ่งหวังในชีวิตในแต่ละช่วงหนึ่งของชีวิต เป้าหมายหรือสิ่งมุ่งหวัง สิ่งที่เราคาดหวังหรือความฝันในชีวิตของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน สมัยเด็กอาจมุ่งหวังอยากเป็นครูเวลาโตขึ้นแต่มาช่วงวัยรุ่นอาจอยากเป็นทหาร พอช่วงวัยผู้ใหญ่ความฝันสิ่งที่มุ่งหวังอาจเปลี่ยนแปลงไป แต่การที่คนเรามีเป้าหมายในชีวิตถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ถ้าคนคนนั้นคิดที่จะสานฝัน คิดที่จะลงมือทำ ลงมือไขว่คว้า และพยายามทำฝันทำสิ่งที่เราคาดหวังนั้นด้วยความตั้งใจ ความพยายามเชื่อได้ว่าฝันและความหวังที่เราหวังควรจะประสบความสำเร็จและได้หรือสมหวังในสิ่งที่เราหวังสมดังใจ

การลงมือทำหรือลงมือปฏิบัติในสิ่งที่เราหวังคงเป็นจุดเริ่มต้น คงเป็นรากฐานที่ดีให้กับเป้าหมายที่เราคาดหวังไว้ แต่ถึงแม้บางครั้งสิ่งที่เราหวังเราตั้งใจทำสิ่งนั้นตั้งใจไขว่คว้าสิ่งนั้นด้วยความพยายาม บางครั้งสิ่งที่เราได้มามันอาจไม่ประสบผลสำเร็จหรือได้โดยไม่สมใจที่เราหวังแต่เราก็จงภูมิใจ ที่ว่าอย่างน้อยๆ เราก็ได้ทำสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เราทำสิ่งนั้นดีที่สุดแล้ว ความสำเร็จที่ได้ ก็คือ การตั้งใจของเราที่เราลงมือทำสิ่งนั้นๆ แล้วความสำเร็จที่ได้ ก็คือ เราได้ลงมือทำในสิ่งนั้นๆ อย่างเต็มความสามารถเราทำอย่างดีที่สุดแล้ว หากเราจะไปให้ถึงฝันหรืออยากได้อะไร เราต้องมีความพยายามที่ทำสิ่งนั้น และพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่าง ทำอย่างตั้งใจอย่างมั่งมั่นเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา เช่น คนที่เป็นนักเรียนนักศึกษา จุดมุ่งหวัง ก็คือ เรียนหนังสือให้เก่งๆ เพื่ออนาคตที่ดี เพื่อเวลาจบการศึกษามาจะได้มีงานทำมีรากฐานที่ดีให้กับชีวิต ผู้ทำงานแล้วหรือเป็นพนักงานบริษัทก็จะพยายามทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งหน้าที่และความเจริญก้าวหน้าทางการงาน ผู้ที่แต่งงานใหม่หรือผู้ที่คิดจะแต่งงานมีครอบครัวก็พยายามเก็บเงินสร้างตัวสร้างครอบครัว เพื่ออนาคตของลูกที่จะเกิดมาเพื่อความมั่นคงของครอบครัวต่อไป จะเห็นว่าสิ่งที่เราหวังหรือความคาดหวังในชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกันและความสำเร็จที่ได้มาอาจไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่ามีความพยายามมากน้อยเพียงใด บางคนอาจเจออุปสรรคเจอปัญหา และท้อถอยกับปัญหาที่เจอท้อถอยกับปัญหาที่เกิดขึ้นความสำเร็จที่ได้อาจไม่สมดังใจที่หวัง

เชื่อว่าความพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความตั้งใจจริง ถึงแม้บางครั้งจะเจอปัญหาเราอาจจะท้อกับปัญหา แต่ขอให้คิดเสมอว่าปัญหาทุกปัญหาต้องมีทางแก้เสมอ ขอให้เราไม่ถอยไม่ท้อและตั้งใจทำในสิ่งที่เราหวัง ตั้งใจทำในสิ่งที่เราฝันด้วยความพยายาม และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดซักวันชัยชนะหรือความฝันของเราก็จะมาหาเราดังที่เราหวัง หากเราไม่ละทิ้งความพยายามและการลงมือทำด้วยความตั้งใจ ความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกล ถ้าใจเราพยายามและทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

5. การแก้ปัญหาได้ดี การมีสติปัญญาดี (RESOURCEFULNESS)

ดอกบัว ที่กำลังบานชูช่ออยู่เหนือน้ำ เมื่อได้รับแสงสว่างก็จะเบ่งบานในทันใด เปรียบมนุษย์ผู้มีปัญญาสูงสุดเมื่อได้รับคำชี้แนะ หรือเมื่อได้รับฟังคำอบรมสั่งสอนจากผู้รู้จริง ก็จะได้บรรลุถึงปัญญาที่แท้จริง

เดี๋ยวนี้คนเราไม่ค่อยมีสติ ความรู้ก็ไม่มาช่วยเพราะไม่มีสติที่จะขนเอาความรู้มาช่วยแก้ปัญหา หรือมาช้าไปบ้างก็แก้ไม่ได้ หรือมาผิดแล้วใช้ไปผิดกาลเทศะก็ไม่มีประโยชน์อะไร ผิดเรื่องผิดราว มันก็ไม่มีปะโยชน์ ฉะนั้นปัญญา กับสติต้องไปด้วยกันเสมอ ถ้าไม่มีสติเพียงพอแล้ว ปัญญาจะเป็นความโง่ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เช่นเรื่องที่ หลังสวนนี้เอง เด็กเล็กๆคนหนึ่งกลืนสตางค์เข้าไปติดคอ แม่ของเด็กก็หล่อน้ำกรดลงไปในคอลูก หวังให้มันกัดสตางค์ นั้นให้ละลายไป แล้วมันก็จะหมดปัญหา ซึ่งความจริงแล้ว น้ำกรดกัดสตางค์ ได้นั้นเป็นปัญญา แล้วเทลงไปโดยไม่มีสติ ปัญญาก็เลยกลายเป็นความโง่ หรือกลายเป็นอันตราย

เพราะฉะนั้น เราต้องสนใจพร้อมกันทั้งสองอย่างคือ มี สติและปัญญา เพื่อกำจัดโรคทางวิญญาณ ถ้ามีความถูกต้องในทางวิญญาณแล้ว ทางกายและทางจิตจะพลอยถูกต้องด้วย คือ ถ้ามีปัญญาระบบปัญญาถูกต้องไม่มีโรคแล้ว ระบบกาย ระบบจิตก็พลอยถูกต้องไปด้วย

6. ความเพียร ความขยันหมั่นเพียร ความบากบั่น ความอุตสาหะ (PERSEVERANCE)

ความอุตสาหะและพัฒนาตนเอง ศาสนาต่างๆ สอนให้คนมีความเพียร อดทน ขยันขันแข็ง และมีความอุตสาหะ มีความพยายาม อันจะช่วยให้บุคคลประสบความสำเร็จและรู้จักพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เช่น พระพุทธศาสนาสอนให้คนเคารพในการศึกษา สรรเสริญความเจริญก้าวหน้า มีหลักคำสอน อิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มีคติเตือนใจ เช่น ความเพียรอยู่ในความสำเร็จอยู่ที่นั่น ศาสนาอิสลามสอนให้คนใฝ่หาความรู้ตั้งแต่เกิดจนตายและมีคำสอนว่า ผู้ใดมีความพยายาม ผู้นั้นจะได้รับผลสำเร็จ หรือคำสอนในศาสนาคริสต์ก็มีกล่าวไว้ว่า เราทั้งหลายภูมิใจความยากลำบาก เพราะรู้ว่าความยากลำบากนั้นทำให้เกิดความอดทนและความอดทนนั้นทำให้เกิดอุปนิสัยที่ดี เป็นต้น

7. ศาสนา (RELIGION/GOD)

ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับใช้ประกอบในการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะศาสนามีคุณค่ามากมายต่อมนุษย์ในด้านจิตใจซึ่งถือว่าสูงกว่าคุณค่าทางวัตถุ เป็นที่พึ่งทางใจทำให้มนุษย์ไม่อ้างว้างเวลาประสบปัญหาในชีวิต ผู้มีปัญหาย่อมสามารถนำหลักธรรมคำสอนของศาสนาซึ่งตนนับถือและเลื่อมใสศรัทธานำพาชีวิตให้ไปสู่เป้าหมาย ที่ตนได้ตั้งไว้ ศาสนิกชนทุกศาสนาคงไม่ตกเป็นเครื่องมือของอำนาจใฝ่ต่ำ เพราะคำสอนทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี สอนให้มนุษย์ละเว้นจากความชั่วทั้งปวง เป็นเครื่องแยกมนุษย์ออกจากสัตว์ ศาสนาจึงเป็นเหมือนประทีปส่องโลกเราให้สว่างไสวด้วยความรู้แจ้ง และยังสอนให้มนุษย์รักสามัคคี มีความยุติธรรมต้องการปฏิบัติแต่สิ่งที่ถูกต้อง รักความเมตตากรุณา ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่อิจฉาริษยาพยาบาทต่อกัน เมื่อพิจารณาหลักธรรมของศาสนาต่างๆ จะเห็นว่ามีความสอดคล้องกันในการปลูกฝังความเป็นคนดี และศาสนิกชนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ความรัก ความเมตตา แต่ละศาสนากล่าวถึงความรักความเมตตาไว้มากมายทั้งหลักธรรมคำสอนในคัมภีร์ และคำสอนแทรกไว้ในแต่ละตอนของคำสอนนั้น ๆ บางครั้งก็มีคำสอนทำนองภาษิตเตือนใจ เช่น พระพุทธศาสนามีคติธรรมที่ยึดถือ เช่น เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลกและพึงเอาชนะความชั่วด้วยความดี ในศาสนาคริสต์พระเยซูทรงสอนว่า จงรักพระเจ้าอย่างสุดใจสุดความคิด และสุดกำลัง และจงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตัวเอง ดังนั้น ทุกศาสนาจึงเน้นเรื่องความรัก ความเมตตา เพราะหากมนุษย์ทุกคนมีความรักความเมตตาอยู่ในใจแล้ว ก็จะไม่มีการเบียดเบียนกัน ต่างให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อศาสนิกชนทุกคนยึดมั่นในหลักธรรมในศาสนาแล้ว ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะแก้ไขได้ ปัญหาต่างๆ จะลดน้อยลงและไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขัดแย้งจนลุกลามเป็นสงครามหรือข้อพิพาทระหว่างสังคม ไม่เกิดการเอาเปรียบในสังคม ไม่เกิดการทำร้ายร่างกายจิตใจซึ่งกันและกัน ไม่มีปัญหาการทำลายสภาพแวดล้อมหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ จนทำให้สังคมที่ตนอยู่อ่อนแอลง ศาสนาจัดเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แก่นแท้ของศาสนาอยู่ที่หลักธรรม คำสั่งสอนของศาสดา ซึ่งทุกศาสนามีหลักตรงกัน คือ ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ มีความรัก ความเมตตา มีความอุตสาหะและมีความยุติธรรม ซึ่งหลักธรรมเหล่านี้เราสามารถ นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ในการครองตน ครองคนและครองงาน อันส่งผล ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่ตนเอง สังคมและสร้างสันติสุขในโลก สำหรับสังคมไทยศาสนาเป็นสถาบันที่สำคัญสถาบันหนึ่ง เพราะศาสนาเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตของคนไทย เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นบ่อเกิดที่สำคัญของวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี กฎเกณฑ์ ค่านิยมของสังคมไทย ประชาชนชาวไทยมีอิสระที่จะเลือกนับถือศาสนาใดๆก็ได้ตามความพอใจ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับศาสนาอื่น ๆ ให้ตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ เพราะทุกศาสนาล้วนแต่สอนให้เป็นคนดีด้วยกันทั้งสิ้น

ในสังคมปัจจุบันศาสนามีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณธรรมของประชาชน เพราะสภาพสังคม ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพราะอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้สภาพจิตใจของคน ในสังคมเริ่มเสื่อมถอยตกต่ำ เห็นแก่ตัว แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ก่อให้เกิด ปัญหาในสังคมมากมาย เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด เป็นต้น ดังนั้นศาสนาจึงมีบทบาท และคุณประโยชน์ต่อสังคมไทย เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีระเบียบวินัยและ ข้อตกลงร่วมกันในสังคม เพื่อความสงบสุขต่อการดำเนินชีวิตประจำวันต่อไป

แหล่งอ้างอิง :

Herbert W. Armstrong. (1974). The Seven Laws of Success. Worldwide Church of God : Ambassador College Press.