รูปภาพของวรนุช แนบพุดซา
พอเพียงและเพียงพอ
โดย วรนุช แนบพุดซา - อังคาร, 14 มีนาคม 2023, 02:20PM
 

พอเพียงและเพียงพอ

ในปัจจุบันการดำเนินชีวิต ในยุคเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็ม

ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐนักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี ความเพียงพอ หมายถึง การรู้จักประมาณตนเองที่จะบริโภค อุปโภค ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีคุณค่าให้สูงสุด ความรู้สึกว่าครบแล้วไม่ต้องการอีกแล้ว สรุปคือ มีความพอใจในสิ่งที่ตัวองมีอยู่นั้นเอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความพอเพียง พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรดา วันที่ 4 ธันวาคม 2533 ว่า

ความฟุ้งเฟ้อเป็นปากที่หิวไม่หยุด เป็นปากที่หิวตลอดเวลา ป้อนเท่าไรไม่พอ หาเท่าไรไม่พอ ฉะนั้นจะต้องหาทางป้องกันความฟุ้งเฟ้อ และป้องกันการที่จะนำมาป้อนความฟุ้งเฟ้อซึ่งก็คือ การทุจริต

คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็จะมีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้ามีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภมาก ครเราก็เป็นสุข

ดังนั้น พอเพียง เน้นความพอดี ความไม่ขัดสน และไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่ เพียงพอ เน้นความจำเป็น หรือความต้องมีตามระดับที่กำหนดไว้ตามความจำเป็น แต่ไม่ว่าเราจะใช้คำไหนความหมายก็ไม่แตกต่างกันนัก

มิสวรนุช แนบพุดซา

14 มีนาคม 2566