รูปภาพของวารุณี ไชยทวีวิวัฒน์กุล
AI Revolution 2023 : รับมือการปฏิวัติ เทคโนโลยี เมื่อโลกถูกล้อมด้วย ‘เอไอ’
โดย วารุณี ไชยทวีวิวัฒน์กุล - พฤหัสบดี, 16 มีนาคม 2023, 11:08AM
 

AI Revolution 2023 : รับมือการปฏิวัติ เทคโนโลยี เมื่อโลกถูกล้อมด้วย ‘เอไอ’

เมื่อ 2-3 ปีก่อน มีคำกล่าวว่า ถ้าคุณยังมีชีวิตอยู่จนถึงปี 2041 ก็เตรียมรับมือกับการยึดครองโลกของ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เลย เพราะในอีก 20 ปีข้างหน้า จะเกิดความเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกโฉมกับทุกภาคอุตสาหกรรม เปรียบเสมือนการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบใหม่รอบที่ 4 นับจากการปฏิวัติจากแรงงานคน และสัตว์มาเป็น เครื่องจักรไอน้ำ การปฏิวัติจากการผลิตจากการใช้พลังงานถ่านหินมาสู่ การใช้พลังงานไฟฟ้า ก๊าซ และน้ำมัน

ล่าสุด กลุ่มบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า สิ่งที่เป็น Megatrend ที่จะสั่นสะเทือนโลกในปี 2023 คาดการณ์ว่า จะเป็นปีที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการเกิดขึ้นของเครื่องมือ AI เชิงสร้างสรรค์ที่กลายเป็นเอไอไวรัลเมื่อปลายปีที่แล้วอย่าง เช่น ChatGPT และ Midjourney

AI ยุคใหม่ พัฒนารวดเร็วแบบก้าวกระโดดและมีการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ในสาขาที่เราเคยมั่นใจว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ แต่ตอนนี้ความมั่นใจนั้นได้ถูกสั่นสะเทือนไปแล้ว จากการที่เราอาจได้เห็นข่าวเกี่ยวกับงานศิลปะ AI ที่ชนะรางวัล ความสามารถด้านภาษา ทั้งบทสัมภาษณ์และการเขียนงานบทความ

ระบบ AI ใหม่เหล่านี้ ไม่เพียงแค่ผลิตเดโมเจ๋งๆ ในแล็บวิจัยเท่านั้น แต่กำลังกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงและผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์จริงที่ทุกคนสามารถใช้ได้

หากย้อนกลับไปดูข้อมูล จะพบว่า การถือกำเนิดของ Generative AI (Gen AI) หรือ AI “ผู้สร้าง” ถูกพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ยุค 1950-1970 โครงข่ายประสาทเทียม (Neural Networks) การพัฒนาเริ่มแรกเกี่ยวกับโครงข่ายประสาทเทียมสร้างความประหลาดใจเกี่ยวกับ "เครื่องจักรที่มีความคิด"

ยุค 1980-2010 ซึ่งถือเป็นยุคแห่งการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) ส่งผลให้มีการเรียนรู้ที่นิยมอย่างแพร่หลาย จนมาถึงปัจจุบัน ที่มีการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) ซึ่งการค้นพบอันยิ่งใหญ่ของการเรียนรู้เชิงลึกนี่เอง ที่ช่วยผลักดันให้ AI ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด

เทคโนโลยีนี้ ยังคงเป็นทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน และเป็นช่องทางการทำตลาดรูปแบบใหม่ได้

เป็นที่น่าสังเกตว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น และยังเข้ามามีบทบาทในโลกมากขึ้น น่าสนใจว่า ‘ไทย’ พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีเหล่านี้...แค่ไหน?

เทคโนโลยี ทําให้มนุษย์มีความสะดวก และจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ธุรกิจสามารถใช้ระบบ Automation จัดการคลังสินค้าโดยแทบไม่ต้องใช้แรงงาน หรือผู้บริโภคสามารถควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้านผ่านมือถือเครื่องเดียว ขณะที่แพทย์ มี AI ช่วยในการวินิจฉัยโรคมากขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยีก็อาจสร้างผลกระทบต่อมนุษย์ได้ หากมนุษย์ปรับตัวไม่ทันหรือใช้อย่างไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ การผลิตในบางอุตสาหกรรมของไทย เช่น ยานยนต์ มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้หุ่นยนต์ติดอันดับ 9 ของโลก ซึ่งหากกระแสเทคโนโลยียังดําเนินต่อไป โดยไม่มีการเตรียมทรัพยากรมนุษย์ที่ดีพอ เป็นไปได้ที่ Automation อาจส่งผลต่อความมั่นคงในอาชีพของ แรงงานบางประเภท ดังนั้น มนุษย์กับเทคโนโลยีจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ต้องปรับตัวมากแค่ไหน เพื่อจํากัดผลกระทบให้น้อยที่สุด

หากลองวิเคราะห์ดูว่า ‘AI’ มาทำอะไรใน ธุรกิจ จะพบว่า ในหลากหลายสาขาธุรกิจได้นำ เอไอ มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการทำงาน ยกตัวอย่าง เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ แอปพลิเคชัน AI สามารถจัดยาให้กับคนไข้แต่ละรายและสามารถอ่านผลเอ็กซ์เรย์ได้ ผู้ช่วยดูแลสุขภาพส่วนตัวสามารถทำหน้าที่เสมือนโค้ชในชีวิตประจำวัน คอยเตือนให้คุณรับประทานยา ออกกำลังกาย หรือทานอาหารที่มีคุณประโยชน์

ในธุรกิจค้าปลีก ก็เป็นอีก 1 สาขา ที่นำ AI มาใช้สร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งเสมือนจริงให้ลูกค้า โดยลูกค้าจะได้รับคำแนะนำเป็นรายบุคคล และได้รับข้อเสนอในการซื้อสินค้า เทคโนโลยีการจัดการสต็อกสินค้า และการวางผังสถานที่จะได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นด้วย AI

ขณะที่ ธุรกิจการผลิต ก็ได้ใช้ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล IoT เกี่ยวกับการจัดการในโรงงาน เนื่องจาก AI จะทำการเชื่อมโยงอุปกรณ์เพื่อพยากรณ์ปริมาณและความต้องการในสินค้า ผ่านเครือข่ายเน็ตเวิร์ค

ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีการตื่นตัวเรื่องนี้ และมีแนวโน้มการใช้งานหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก งานวิจัยของ “Automation and Productivity : Evidence from Thai Manufacturing Firms” ได้ศึกษาผลของการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ต่อผลิตภาพรวม และการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย พบข้อสรุปในมิติที่เกี่ยวข้องกับการใช้หุ่นยนต์ ใน 3 มิติ คือ

  มิติแรก ลงทุนระบบอัตโนมัติที่ผ่านมาอยู่ในระดับเบื้องต้น โดยสัดส่วนการใช้ระบบอัตโนมัติต่อมูลค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งหมดในปี 2563 มีค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเป็น 47.16% จากปี 2560 ที่มี 45.81%

 มิติที่สอง พบว่า การลงทุนในระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มีผลเชิงบวกต่อ ระดับผลิตภาพรวม (total factor productivity : TFP) ในภาคอุตสาหกรรมไทย กล่าวคือ โรงงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติจะมี TFP สูงกว่าโรงงานที่ไม่ได้ใช้ระบบอัตโนมัติอย่างมีนัยสำคัญเฉลี่ยที่ประมาณ 23%

 ทั้งนี้ รายงานพบอีกด้วยว่า ภาคกลาง และภาคตะวันออกโดยเฉพาะ 3 จังหวัดในเขต EEC มีสัดส่วนการใช้หุ่นยนต์สูงกว่าพื้นที่อื่น โดยเปรียบเทียบ ส่วนหนึ่งมาจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ขณะที่ประเภทอุตสาหกรรมมีผลต่อระดับการใช้งานหุ่นยนต์

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการใช้หุ่นยนต์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เหล็ก และการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ สัดส่วนการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานยังขึ้นอยู่กับลักษณะการประกอบธุรกิจแต่ละประเภท และจากข้อมูล พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่จะมีการใช้หุ่นยนต์มากกว่าธุรกิจที่เป็น SME หรือหากเป็นธุรกิจที่มีการทำแบรนด์สินค้าของตัวเอง (original brand manufacturing : OBM)

หรือเป็นธุรกิจที่เน้นการส่งออก หรือธุรกิจที่พึ่งพาการขายสินค้าออนไลน์ (e-Commerce) จะมีสัดส่วนการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสูงกว่า ธุรกิจที่ไม่ได้มีลักษณะดังกล่าว

และมิติที่ 3 พบว่า การใช้ระบบอัตโนมัติ ส่งผลให้การจ้างงานโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการแรงงานในกลุ่มทักษะสูง ขณะที่สัดส่วนแรงงานไร้ฝีมือปรับลดลง หมายความว่า หากมีการเพิ่มทักษะให้แรงงานสามารถทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ได้ทันจะทำให้ไม่มีผลต่อการลดการจ้างงาน( ดร.คณิศ แสงสุพรรณ และคณะ 2565.ร่วมด้วยช่วยคิด.)

 อย่างไรก็ตาม เชื่อแน่ว่า ขณะนี้สังคมเริ่มมีประเด็นความกังวลว่าเทคโนโลยีอย่าง Automation จะมาทำงานแทนคน กรณีของ Automation อย่างการนำหุ่นยนต์มาใช้ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานมา 5–10 ปีแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่นโยบายค่าจ้างของแต่ละประเทศปรับสูงขึ้น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มาสนับสนุนให้เอกชนหันมามองการใช้ AI แทนคน

 ซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจของ เควิน เคลลี (Kevin Kelly) บรรณาธิการบริหาร ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าว Wired และอดีตบรรณาธิการนิตยสาร Whole Earth Review และผู้เขียน “โลกอัจฉริยะแห่งอนาคต” (The Inevitable)(2566) ที่ให้มุมมองว่า AI จะเป็นเทคโนโลยีที่จะมีอิทธิพลไปในอีก 20 ปีข้างหน้า เห็นได้จากชีวิตเราเกี่ยวข้องกับ AI มากขึ้น เช่น Facebook ถึงแสดงผลในสิ่งที่เรายังไม่ทันคิดว่าจะสนใจอย่างจริงจัง เพราะAI หรือ Netflix หรือ Amazon คอยแนะนำหนัง หรือสินค้าให้คุณได้แบบที่ตรงความความชื่นชอบของคุณ

 สะท้อนว่า เรากำลังก้าวไปยุคที่จะต้องทำงานร่วมกับ เอไอ และกำลังจะกลายเป็นอาชีพที่จะได้ค่าตอบแทนการทำงานในอนาคต ด้วยโจทย์ว่าคุณจะสามารถทำงานกับ เอไอ ได้ดีแค่ไหน เราควรมองมันให้แตกต่าง มองมันเป็นเครื่องมือ เป็นสิ่งที่เราต้องร่วมงานด้วยแทนที่จะต่อต้าน

 ดังนั้น ต้องคิดว่าในอนาคต พวกมันจะนำเราไปยังจุดไหน ซึ่งที่น่ากังวล ไม่ใช่เรื่องที่ เอไอ จะมาแย่งงาน แต่ควรกังวลว่า ณ วันนี้ เรายังไม่มีผู้เชี่ยวชาญ เอไอ มากเพียงพอกับความต้องการเลย เราเห็นเม็ดเงินมากมายใช้ไปในการพัฒนา เอไอ เม็ดเงินเป็นพันล้านเหรียญ แต่เรายังไม่มีผู้เชี่ยวชาญเมื่อเทียบกับสิ่งที่จะมีในอีก 20 ปีข้างหน้า

นับเป็นจุดเปลี่ยนที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าจากนี้ มนุษย์จะสร้างสมดุลการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิต ไม่กระทบต่อการอาชีพการทำงานในอนาคตได้อย่างไร

 เพราะ AI กลายเป็นเทรนด์ไปแล้ว ถึงขนาดที่ว่า องค์กรขนาดใหญ่ที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตได้ จำเป็นต้องยอมรับ Al และปรับกระบวนการทางธุรกิจให้เหมาะสมสำหรับแนวทาง Al-first. นั่นเอง

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/23-2sme1-ai-revolution-2023