รูปภาพของราชินทร์ ประสิทธิ์
วินัย คือ ความสำเร็จ
โดย ราชินทร์ ประสิทธิ์ - ศุกร์, 11 เมษายน 2014, 10:41AM
 

http://www.thinkdd.com/cfcAdmin/images/mContent_Image24112550112016.jpgวินัย คือ ความสำเร็จ

  

             คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการใช้วิธีบังคับกฎระเบียบจะทำให้เด็กมีวินัย   สังคมไทยในอดีตเรานิยมใช้วิธีลงโทษหรือการเฆียนตี  ถ้าไม่ทำตามที่พ่อแม่สั่ง หรือนักเรียนมาสาย  ก็จะถูกครูลงโทษเป็นต้น  เมื่อเด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จึงคิดว่า วินัย คือ การทำตามคำสั่งหรือ การโดนบังคับ ทำให้รู้สึกอึดอัด  เมื่อได้ยินคำว่า วินัย  ด้วยเหตุนี้วินัยจึงไม่ใช่เรื่องที่สนุกเลย  ตรงกันข้ามหากกล่าวถึงคำนี้ขึ้นมาจะทำให้เกิดความเครียดเสียด้วยซ้ำ

  ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับ คือ การเรียนรู้อย่างหนึ่งและเป็นการเรียนรู้ที่มีความสำคัญที่สุด  การเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่ได้รับในวัยเด็กนั้น  ย่อมมีผลต่อเนื่องมาจนทั้งวัยผู้ใหญ่  ดังที่กล่าวข้างต้นว่า เราผูกวินัยไว้กับกฎระเบียบและการลงโทษ มากว่าที่จะผูกวินัยไว้กับความสำเร็จ  โดยลืมไปว่า การฝึกฝนคนนั้นจะต้องใช้ความเมตตา การสอนและการจูงใจด้วยวิธีที่เหมาะสมมากกว่าการใช้ความรุนแรง หรือการบังคับ  ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเข้าถึงและเข้าใจวินัยตามตัวหนังสือที่ได้นิยามไว้ 

  เราไม่เคยที่จะทำอะไรโดยไม่คิดและเรามักทำอะไรบนพื้นฐานของความคิดเดิม ๆ  ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องคิดใหม่ต่อความคิดของเรา  (Rethinking our thinking) เพราะความคิดของเราเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานั่นเอง

  หากพ่อแม่หรือครูเปลี่ยนจากการลงโทษ  เป็นการสอนด้วยความรักและความปรารถนาดี  

ลูกหรือนักเรียนเปลี่ยนจากความเข้าใจที่ว่า ถูกบังคับ หรือลงโทษเป็นการเข้าใจว่า ได้รับการสอนเพื่อฝึกฝนการดำเนินชีวิตให้ได้ผลดี    บรรยากาศในการส่งเสริมวินัยก็จะดีขึ้น

  นอกจากคนจำนวนมากจะเข้าใจว่าวินัยเหมือนกับการบังคับหรือเป็นกฎระเบียบแล้ว  

หลายคนก็อาจเข้าใจว่าวินัยคือการตื่นเช้าทุก ๆ วัน เพื่อไม่ให้มาทำงานสาย  เพราะหากมาทำงานสายก็จะได้รับการพิจารณาเกี่ยวกับความก้าวหน้า  นั่นก็คือการถูกลงโทษอีกเช่นกัน  การถึงที่ทำงานทันเวลาก็เปรียบเหมือนการมาโรงเรียนทันเวลา  เมื่อมาถึงแล้วก็ตั้งใจบ้างไม่ตั้งใจบ้างในการทำงาน หรือทำงานด้วยความเฉื่อยชาเพื่อรอเวลากลับ  นี่ก็อาจเป็นผลของการเรียนรู้เกี่ยวกับวินัยที่แคบเรียว และเป็นผลกระทบข้างเคียงด้านลบของการสร้างวินัยด้วยการควบคุม

  วินัยที่แท้จริง จะเกิดขึ้นต่อเมื่อคน ๆ นั้น มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนี้มาจูงใจการกระทำของตนเอง  ซึ่งเข้าจำเป็นจะต้องฝึกฝนตนเองใหม่ด้วยความเต็มใจ  ตัวอย่าง  ความเข้าใจต่อวินัยที่ถูกต้อง  เช่น

            วินัย   คือ การวางระเบียบสำหรับตนเองเพื่อฝึกฝนการดำเนินชีวิตให้ได้ผลดี

  วินัย  คือ  การทำงานอย่างทุ่มเทมาก  จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย  ถ้าไม่มีวินัย  เราก็ไม่มีหลอดไฟ  ไม่มียาเพนนิสซิลีน  เพราะกว่าจะประดิษฐ์หลอดไฟ หรือค้นพบยาเพนนิสซิลีน นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ

  วินัย  คือ  บางสิ่งบางอย่างนี้เราต้องทำทุกวันไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่  เพื่อบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ที่เราต้องการ  เช่นเราอยากมีสุขภาพดีก็ต้องเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังการสม่ำเสมอ  หรือต้องการเล่นดนตรีให้เก่งก็จะต้องฝึกซ้อมทุก ๆ วัน  เป็นต้น

  วินัย  จึงมีความหมายมากกว่า  ระเบียบหรือข้อบังคับ และมีความหมายต่อการพัฒนาชีวิตของเรามาก  หากเราเข้าใจว่า วินัยเป็นสิ่งดีงามเราย่อมปรารถนาที่จะฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีวินัย  จนสามารถใช้วินัยเป็นเครื่องมือในการทำงานจนบรรลุเป้าหมายและสร้างความสำเร็จในด้านต่าง ๆ  ที่เราต้องการให้เกิดขึ้นได้

 

มาสเตอร์ราชินทร์  ประสิทธิ์
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง