รูปภาพของดร.ยุภาพร เทพสุริยานนท์
แนวคิดการประเมินผลโครงการ
โดย ดร.ยุภาพร เทพสุริยานนท์ - อังคาร, 22 เมษายน 2014, 09:22AM
 
 

แนวคิดการประเมินผลโครงการ

 

 

ดร.ยุภาพร เทพสุริยานนท์

 

หัวหน้าฝ่ายวิชาการ

 

การประเมินผลโครงการขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ที่สำคัญมี 2 วิธี คือ Formative Evaluation และ Summative Evaluation

 

“Formative” evaluation” หมายถึง การประเมินผลโครงการที่กำลังมีการดำเนินการอยู่ เพื่อให้เกิดผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แล้วนำผลที่ได้มาใช้ในการปรับปรุง (Scriven, 1967; Tessmer, 1993) การประเมินแบบ Formative จะใช้พัฒนาและปรับปรุงสิ่งที่ถูกประเมิน ตรวจสอบคุณภาพของการปฏิบัติงาน พิจารณาปัจจัยนำเข้า(input factors) ละปัจจัยที่ส่งผลจากภายนอก (external factors) ใช้ประเมินผลระหว่างแผนหรือระหว่างพัฒนาโครงการ ผลจาก Formative evaluation จะช่วยตั้งวัตถุประสงค์ของโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่แท้จริง Formative evaluation อาจใช้ในระหว่างดำเนินโครงการ เพื่อตรวจสอบว่า โครงการได้ดำเนินไปตามแผนของโครงการอย่างไร เรียกอีกชื่อว่า Implementation evaluation หรือตรวจสอบความก้าวหน้าของโครงการว่าดำเนินได้ผลเพียงไร เรียกว่า Progress evaluation

 

 Formative evaluation อาจใช้ประเมินสิ่งต่อไปนี้

 

 1. ทบทวนแผนของโครงการ

 

 2. การสร้างแผนของโครงการ

 

  3. การพัฒนาแบบสอบถาม (Questionnaire) หรือรายการ (Check list)  

 

 4. การคัดเลือกวิธีการวัดผลที่เหมาะสม

 

 5. การกำหนดตารางเวลาการประเมินผลให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการ

 

 6. การเตรียมข้อมูลที่จะเป็นข่าวสารสำหรับการรายงานและเสนอแนะสำหรับการตัดสินเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ

 

  7. การแนะนำแนวทางปรับปรุง การแก้ปัญหา และการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติของโครงการ

 

"Summative evaluation" หมายถึง การประเมินเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติงาน เราจะใช้สารสนเทศจาก Formative evaluation มาร่วมอธิบาย เป็นการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของโครงการ Summative Evaluation เป็นการประเมินผลสรุปรวม ใช้ประเมินหลังสิ้นสุดโครงการ โครงการที่มีการดำเนินระยะยาวก็อาจใช้ Summative Evaluation ในการสรุปย่อความเป็นระยะต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยในการประเมินสรุปรวม ส่วนใหญ่จะรวบรวมผล Formative evaluation เป็น Summative Evaluation ซึ่งผลสรุปที่ได้จะรายงานว่า โครงการได้บรรลุเป้าหมาย (Goals) หรือไม่ สถานภาพของโครงการว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว มีปัญหาหรืออุปสรรคใดที่ต้องแก้ไขปรับปรุงข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริหารโครงการสามารถนำไปสู่การตัดสินว่า โครงการนั้นควรดำเนินการต่อหรือยกเลิก