ความคิด การกระทำ และค่านิยม
ความคิดเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำพาให้เกิดการกระทำขึ้น
ถ้าการกระทำที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นช้า ๆ จนเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและเราก็เรียกการกระทำนั้นว่า
"ค่านิยม" ดังนั้นความคิด การกระทำ และค่านิยม จึงมีส่วนทำให้ชีวิต
สังคม ประเทศดีหรือไม่ดี เจริญหรือเสื่อมได้
การพัฒนา
"ค่านิยม" จึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการพัฒนาคน องค์การ สังคม
และประเทศ โดยการเน้นที่การพัฒนา ความคิด อันจะทำให้เกิดผลเป็นการกระทำที่ถาวร
มั่นคง และสามารถเป็นจริงได้ ซึ่งต้องอาศัย ความศรัทธา ความมุ่งมั่น และความตั้งใจจริงที่จะกระทำเป็นสำคัญ โดยทั่วไป เราสามารถพบบุคคลในองค์การหรือหน่วยงาน
แบ่งตามความคิดและการกระทำได้ 4 ประการด้วยกัน คือ
ประเภทที่ 1 : คิดและทำ
ผู้ที่เป็นนักคิด คือ ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ปัญหาเป็น มีหลักการ
มีอุดมการณ์ และมีความเป็นนักวิชาการอยู่ในตนเอง
ผู้ที่เป็นนักปฏิบัติ คือ ผู้ที่มีความพร้อมในการทำงานหรือลงมือ กระทำตามความรับผิดชอบอย่างเต็มที่
ผู้บริหารที่เป็นนักปฏิบัติจะต้องดูแลเอาใจใส่ ลูกน้อง คอยติดตามงานและมีส่วนร่วมในการทำงานและรับผิดชอบทุกขั้นตอนของการทำงาน
บุคคลที่เป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ ต้องมีความคิดและการกระทำอย่างผู้รู้
มีลักษณะ 3 อย่างด้วยกัน คือ
1. ไม่ยึดมั่นในความรู้ คือ ไม่ยึดมั่นความรู้ว่าเป็นของตายตัวเสมอไป แต่ต้องแสวงหาประสบการณ์ที่ไม่เกินความสามารถเป็นหลักในการปฏิบัติให้มากขึ้นด้วย
2. พยายามหลีกหนีความเคยชิน เพราะความเคยชินจะทำลายจิตสำนึก ที่ดีงามๆไปวันละเล็กละน้อยจนนานเข้าก็ไม่รู้สึกอะไรเลย
การปฏิบัติงานหากทำด้วยความเคยชินก็จะไม่มีการคิดและสร้างสรรค์เกิดขึ้น
3. ใฝ่กระทำเป็นกิจนิสัย ต้องกระทำให้สม่ำเสมอและมีจุดมุ่งหมายแนวทาง และพลังความปรารถนา
เพื่อให้เกิดความสำเร็จในตนเองและงานในหน้าที่
สำหรับภาวะปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตอยู่ขณะนี้ ประเทศชาติต้องการผู้นำที่เป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ
ซึ่งมีลักษณะที่คาดหวังและเป็นที่ต้องการของสังคม คือ เป็นผู้นำที่ยึดหลักการ มีความรู้
มีวิสัยทัศน์ เป็นนักปฏิบัติ และกล้าที่จะเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงและมีความมุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ดีในการทำงาน
เพื่อสามารถพัฒนาและนำพาองค์การ สังคม และประเทศให้พ้นภาวะวิกฤตไปได้
ประเภทที่ 2 : คิดแต่ไม่ทำ
บุคคลประเภทนี้ จะเป็นนักคิดแต่ไม่ลงมือปฏิบัติ เหตุผลของการไม่ปฏิบัติของแต่ละบุคคลแตกต่างกันออกไป
บางคนไม่กระทำเพราะไม่มีบทบาทหน้าที่ บางคนไม่กระทำเพราะไม่เห็นด้วยกับแนวคิด บางคนไม่กระทำเพราะไม่มีกำลังใจ
ท้อแท้ ผู้บริหารไม่สนใจ และไม่เห็นความสำคัญของงาน บางคนไม่ทำเพราะไม่มีโอกาสที่จะกระทำ
และบางคนไม่ทำเพราะเป็นค่านิยมส่วนบุคคลที่ชอบความสะดวกสบาย เป็นต้น
ประเภทที่ 3 : ทำแต่ไม่คิด
บุคคลประเภทนี้ เป็นนักปฏิบัติที่กระทำแต่ไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
เสนอแนะ กำหนดนโยบาย และแนวทางการปฏิบัติงานแต่อย่างใด หรืออาจจะเป็นบุคคลที่ชอบทำงานตามกฎระเบียบข้อบังคับ
หรืองานประจำจนเกิดความเคยชินและไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์
ประเภทที่ 4 : ไม่คิดไม่ทำ
บุคคลประเภทนี้ไม่เป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ สาเหตุอาจเกิดจากค่านิยมส่วนบุคคลหรืออาจเกิดจากบุคคลประเภทที่
2 คือ คิดแต่ไม่ทำมาก่อน เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ เข้า ความคิดริเริ่มถดถอยหมดกำลังใจที่จะคิดต่อไปจนกลายสภาพมาเป็นบุคคลประเภทนี้ได้
บุคคลประเภทที่ 1 ที่เป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ
จึงเป็นบุคคลที่ประเทศชาติ ต้องการในการพัฒนามาก โดยเฉพาะสภาวะปัจจุบันที่ทุกองค์การจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทตามสภาพสังคม
ส่วนบุคคลประเภทที่ 2, 3 และ 4 นั้น เป็นบุคคลที่ไม่อยากให้มีอยู่ในองค์กรเลย
ไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ และถือว่ามีบทบาทที่สำคัญในการบริหารงานในองค์การคงต้องให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านี้
การวิเคราะห์พฤติกรรมการทำงานของบุคคลในแต่ละบุคคลเป็นราย ๆ ไปนั้น จึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริหาร
พบว่า บุคลากรในองค์การนั้นมีพฤติกรรมอย่างไร และจัดอยู่ในประเภทไหน และสาเหตุของการไม่คิดและไม่ทำนั้น
เกิดจากอะไรที่เป็นต้นเหตุของการไม่คิดและไม่ทำของบุคลากรก็เป็นไปได้ การสรุปพฤติกรรมแบบเหมารวมโดย
ไม่ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุและค่านิยมส่วนบุคคลนั้น จะเป็นการไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ที่ถูกประเมินเป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งผู้บริหารเองก็คงต้องวิเคราะห์ ตนเองว่าเป็นนักคิดและนักปฏิบัติหรือไม่ เพียงใด
การแก้ไขปัญหาของการไม่คิดและไม่ทำของบุคลากรนั้น
ต้องแก้ปัญหาที่สาเหตุโดยตรง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของระบบ โคตรงสร้างและบุคลากร ฯลฯ
และต้องพัฒนาค่านิยมส่วนบุคคลและองค์การไปพร้อม ๆ กันด้วย ผู้บริหารต้องเป็นแบบอย่างของการเป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา
การให้โอกาสแก่นักปฏิบัติให้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และร่วมกำหนดนโยบาย
ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้นักคิดทั้งหลาย ได้มีส่วนในการปฏิบัติให้มากขึ้น จะมีส่วนช่วยให้บุคลากรในองค์การเป็นนักคิดและนักปฏิบัติได้มากไปด้วย
วิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ก็มีส่วนช่วยให้บุคลากรทำงานมากขึ้น
ในเรื่องของการพิจารณาความดีความชอบ และผลงานที่ต้องพิจารณาจากผลงานที่เกิดจากการกระทำจริง
ๆ มากกว่าผลงานที่เกิดจากการเขียนรายงานเพียงอย่างเดียว การมุ่งเน้นการเขียนผลงานหรือรายงานมากกว่าการทำงานที่เป็นการกระทำ
องค์การหรือหน่วยงานจะมีแต่บุคคลที่เป็นนักคิดมากกว่านักปฏิบัติ ซึ่งผู้บริหารต้องติดตามการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงและยุติธรรมต่อผู้ที่ถูกประเมิน
และจะเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรในหน่วยงานมีความกระตือรือร้นในการทำงานและเป็นการทำงานและนักปฏิบัติได้มากยิ่งขึ้น
การประชุมสัมมนาและการฝึกอบรมก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาความคิด การกระทำ
และค่านิยม ซึ่งมักจะออกมาในรูปของการกำหนดนโยบาย แนวทางการปฏิบัติแบบกว้างๆ ความรู้
ทฤษฎี และความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ การที่จะทำให้การประชุมสัมมนาและการฝึกอบรมบรรลุผลสำเร็จตามความคาดหวังหรือจุดประสงค์หลักได้นั้นจะต้องนำความคิดสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลขึ้นจริงๆ
ผู้บริหารจะต้องคอยกระตุ้น ช่วยเหลือและติตามประเมินผลของการปฏิบัติตามแนวคิดเหล่านั้นด้วยจึงจะทำ
ให้ความคิด การกระทำ และค่านิยมเกิดการพัฒนาขึ้นอย่างแท้จริง
ดังนั้น ผู้บริหารจึงเป็นบุคคลที่จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาบุคลากรให้เกิดค่านิยมทั้งทางด้านการเป็นนักคิดและนักปฏิบัติ
โดยการใช้ความคิด ความรู้ โอกาสและอำนาจที่มีอยู่ ให้เกิดการกระทำดังกล่าวข้างต้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติโดยส่วนร่วม
มาสเตอร์ตระการ แสนแก้ว
หัวหน้าฝ่ายปกครอง