รูปภาพของรัตนา วงษ์พุฒ
การบริหารครอบครัว
โดย รัตนา วงษ์พุฒ - อังคาร, 2 พฤษภาคม 2017, 02:21PM
 

การบริหารครอบครัว

พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า ทุราวาสา ฆรา ทุกฺขา. เรือนที่ปกครองไม่ดีนำทุกข์มาให้หรือเหย้าเรือนที่ปกครองไม่ดีนำทุกข์มาให้ (พระไตรปิฏกเล่มที่ 25)

ครอบครัวหรือเหย้าเรือนย่อมมีขนาดแตกต่างกันไป บางครอบครัวมีทั้งปู่ ย่า พ่อ แม่ ตนเอง เมีย ลูกอยู่รวมกัน บางครอบครัวแยกออกมาเป็นอิสระ มีสมาชิกในครอบครัวคือ พ่อ แม่ ลูก ส่วนบุคคลที่เป็นปู่ ย่า ตายาย แยกอยู่ต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม ย่อมจะต้องมีหัวหน้าครอบครัวเป็นหลัก เป็นประธานเพื่อปกครองดูแล หัวหน้าครอบครัวต้องพยายามสร้างครอบครัวให้มั่นคงอบอุ่น ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวสมควรที่จะต้องมีหลักการบริหารครอบครัวหรือหลักธรรมการครองเรือนประจำใจ หลักธรรมของผู้ครองเรือนหรือข้อปฏิบัติของผู้ครองเรือนเรียกว่า ฆราวาสธรรมได้แก่ ซื่อสัตย์ ฝึกฝน อดทน แบ่งปัน มีอรรถาธิบายดังนี้

1. ซื่อสัตย์ต่อกันทั้งต่อหน้าลับหลัง (Truth and honesty between people )คือมีความจริงใจต่อกันไม่คิดนอกใจกันและกันตลอดชีวิต ความซื่อสัตย์แบ่งเป็น 5 คือ

1. รักษาคำมั่นสัญญา ไม่หลอกลวงใครๆ เริ่มตั้งแต่คนคนใครอบครัวและสังคม

2. ประพฤติดีต่อคู่ครองตน มีความประพฤติซื่อตรงไม่คดโกงตลอดชีวิต

3. ปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มตามหน้าที่ ไม่เหลาะแหละเหลวไหลในกิจอันเป็นหน้าที่ของคน

4. ยึดมั่นในทางที่ดี สม่ำเสมอทั้งต่อหน้าและลับหลัง

5.ตั้งใจทำงานให้ดี ทำเต็มความสามารถ เป็นคนหนักแน่นมั่นคง ไม่เจ้าเล่ห์ แสนกล นาฬิกาไม่ตรงเวลายังไร้คุณค่า คู่ชีวิตที่ไม่ซื่อตรงก็ไม่น่าคบหาเช่นกัน

2. ฝึกฝนตนเอง,ยับยั้งชั่งใจ คือฝึกฝนยับบั้งชั่งใจตัวเองสม่ำเสมอ ( knowing how to restrain one’s own heart) คือ ฝึกทำงานให้เป็น การฝึกตนให้เป็นงานทำงานเป็น ทำมาหากินเป็น ทำให้เรามีความสามารถในการทำงาน ไม่เป็นที่รังเกียจของคนอื่น ไม่มีเวรกับใคร

2.1 ฝึกหัดวิธีปรับตัวเข้ากับคู่ครอง มีความรักความนับถือญาติของคู่ชีวิตเหมือนญาติของตนเอง ไปเยี่ยมญาติทั้งสองฝ่ายเท่าๆกัน

2.2 ฝึกบังคับควบคุมตนเองให้ตั้งอยู่ในความดีได้สม่ำเสมอและควบคุมจิตใจฝึกนิสัยแก้ไขข้อบกพร่องหรือรู้จักยับยั้งใจตัวเองไม่ให้ทำความชั่วได้ทุกกรณี

2.3 ฝึกยับยั้งตัวเองไม่ให้ถลำไปสู่ความชั่วความผิด ตัวเรานี้ถ้าไม่มีการยับยั้งชั่งใจไว้เลยก็จะไปทำผิดหนักเข้าก็จะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและครอบครัวตลอดถึงสังคมเช่นกลายเป็นคนติดเหล้า เจ้าชู้ เป็นนักพนัน เป็นไปได้ทั้งนั้นถ้าเราไม่รู้จักยับยั้งใจยับยั้งตัว

2.4 ฝึกหยุดตนเอง หยุดทะเลาะวิวาท หยุดคิดทำทุจริต หยุดไม่ยอมไปสู่อบายมุข หยุดเป็นคนเลว

2.5 ฝึกข่มใจตัวเอง อย่ากำเริบเสิบสานจนเกินไป อย่าปล่อยตัวทำอะไรตามอำเภอใจ ไม่กินอยู่สูงจนเกินฐานะ อย่าทำให้รายจ่ายเกินรายได้ ไม่ใฝ่ชั่วจนตัวต่ำศักดิ์ผิดศีลธรรม ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ เมื่อฝ่ายหนึ่งทำหรือพูดไม่ถูกใจต้องให้อภัยกันได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธีปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้นทุกกรณี อีกทั้งรู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่องปรับปรุงตนเองให้ก้าวหน้าด้วยสติปัญญา เช่น

1. อย่าทำผิดศีลเพราะไร้ยางอาย

2. อย่าทำสิ่งชั่วร้ายเพราะไม่รู้ว่ามันชั่วและมีภัย

3. อย่าทำผิดเพราะเข้าใจว่าควรในสิ่งที่ไม่ควรทำ

4. อย่าทำฝืนทำเมื่อสงสัยว่าผิด

5. อย่าทำชั่วทุกชนิดเพราะไม่มีสติยับยั้งชั่งใจ

6. อย่าโลภจนหน้ามืดตามัว จนไม่รู้บาปบุญคุณโทษ

7.อย่าโกรธโหดร้ายจนทำร้ายตนเองและผู้อื่น

8.อย่าหลงงมงายจนไม่รู้ดีชั่วถูกผิดอันตราย

9. อย่าขาดความยับยั้งชั่งใจจนทำครอบครัวแตกสลาย แต่จงรู้จักข่มจิตมิให้เห่อเหิมเกินฐานะ

3. อดทนยืนหยัดอยู่ในทางที่ดี (putting up with adversity - patience) คือมีความอดทนเข้มแข็งยืนหยัดอยู่ในทางที่ดีและถอนตนออกจากความชั่ว อดทนต่อฝ่ายที่ไม่ดีเพื่อยืนหยัดอยู่ในทางที่ดีให้ได้

4. ความเสียสละ, เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คือมีน้ำใจไมตรีเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูล ( renouncing and giving away one’s own possessions to whom it is right and proper to give them) คือแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลคนในครอบครัวและคนที่ควรช่วยเหลือเช่นญาติพี่น้องเป็นต้น มีน้ำใจเสียสละเพื่อประโยชน์ของคนในครอบครัว เมื่อหาทรัพย์มาได้นอกจากออมแล้ว ต้องรู้จักสละปล่อยวางคือ

4.1 สละวัตถุ คือหาทรัพย์มาได้แล้วใช้จ่ายเลี้ยงดูคนในครอบครัวให้เป็นสุข ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเสื้อผ้าคนในครอบครัว ค่าเล่าเรียนของลูก ทำบุญให้ทานตามโอกาส ทำบุญบ้าน บุญกฐิน บุญทั่วไป ทำบุญตักบาตร เสียภาษีสังคมเช่นงานแต่ง งานศพ

4.2 สละอารมณ์คือรู้จักปล่อยวางความโกรธความพยาบาทขัดเคืองกับคนทั่วไปเช่นอภัยให้กันและกัน การเก็บกดอารมณ์โกรธไว้นานๆทำให้ตนเองทุกข์จึงต้องปล่อยวางอามรณ์เหล่านี้ออก รู้จักให้อภัย อโหสิกรรม หัดคิดทางดีเช่น ไม่เป็นไร” “เรื่องธรรมดาของโลก

มิสรัตนา วงษ์พุฒ