รูปภาพของปรีย์นันท์ ลองจำนงค์
แสงกับการมองเห็นของดวงตา
โดย ปรีย์นันท์ ลองจำนงค์ - พฤหัสบดี, 19 เมษายน 2018, 11:27AM
 

แสงกับการมองเห็นของดวงตา

การมองเห็นวัตถุ เกิดจากการที่แสงตกกระทบสิ่งต่างๆ แล้วเกิดการสะท้อนเข้าสู่ตาเราทางเลนส์ตา(Lens) ผ่านเข้ามาในลูกตา ทำให้เกิดภาพบนเรตินา (Retina) ที่อยู่ด้านหลังของลูกตา แล้วส่งข้อมูลของวัตถุที่มองเห็นผ่านเส้นประสาท (Optic nerve) ไปสู่สมอง สมองจะทำการแปลข้อมูลเป็นภาพของวัตถุนั้นๆ ดวงตาของมนุษย์สามารถรับแสงที่มีความเข้มน้อยมากๆ เช่น แสงริบหรี่ในห้องมืด ๆ ไปถึงแสงสว่างจ้าของแสงแดดตอนเที่ยงวัน ซึ่งมีความเข้มแสงมากกว่าถึง 10 เท่า นอกจากนี้ดวงตายังสามารถปรับให้มองเห็นได้แม้ตัวอักษรที่เป็นตัวพิมพ์เล็กๆ สามารถบอกรูปร่างและทรวดทรงที่แตกต่างกันในที่ที่มีความเข้มของแสงแตกต่างกันมากๆได้ โดยการปรับของรูม่านตา (Pupil) เนื่องจากดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความไวต่อแสงมาก สามารถรับรู้ได้เมื่อมีแสงสว่างเพียงเล็กน้อย เช่น แสงจากดวงดาวที่อยู่ไกลในคืนเดือนมืดจนถึงแสงสว่างที่มีปริมาณมาก ทั้งนี้เนื่องจากเรตินาจะมีเซลล์รับแสง 2 ชนิด คือ



เซลล์รูปแท่ง (Rod Cell) ทำหน้าที่รับแสงสว่าง (สลัว) ที่ไวมาก สามารถมองเห็นภาพขาวดำ เซลล์ รูปแท่งจะไวเฉพาะต่อแสงที่มีความเข้มน้อย โดยจะไม่สามารถจำแนกสีของแสงนั้นได้

เซลล์รูปกรวย (Cone Cell) จะไวเฉพาะต่อแสงที่มีความเข้มสูงถัดจากความไวของเซลล์รูปแท่ง และสามารถจำแนกแสงแต่ละสีได้ด้วย เซลล์รูปกรวยมี 3 ชนิด แต่ละชนิดจะมีความไวต่อแสงสีปฐมภูมิต่างกัน ชนิดที่หนึ่งมีความไวสูงสุดต่อแสงสีน้ำเงิน ชนิดที่สองมีความไวสูงสุดต่อแสงสีเขียว และชนิดที่สามมีความไวสูงสุดต่อแสงสีแดง เมื่อมีแสงสีต่างๆ ผ่านเข้าตามากระทบเรตินา เซลล์รับแสงรูปกรวยจะถูกกระตุ้น และสัญญาณกระตุ้นนี้จะถูกส่งผ่านประสาทตาไปยังสมอง เพื่อแปรความหมายออกมาเป็นความรู้สึกเห็นเป็นสีของแสงนั้นๆ

แสงกระจาย เป็นลักษณะของแสงที่เกิดการกระจายของจุดกำเนิดแสง แยกเป็นแฉกๆ หรือเป็นวงรอบ โดยมักจะเกิดในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างมืด แสงกระจายจะไม่เกิดเมื่อแสงสว่างรอบตัวมีมาก แสงกระจายมักเกิดในตอนกลางคืน สำหรับผู้ที่เกิดภาวะแสงกระจาย จนรบกวนการมองเห็นในสภาพแวดล้อมมืด อาจรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องขับรถในยามค่ำคืน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการขับรถในเวลากลางคืน

อย่างไรก็ตามการมองเห็นแสงกระจายในที่สว่างจ้า และมีอาการตามัว อาจเป็นจากภาวะต้อกระจกได้ ควรรีบเข้าปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากต้องมีการดูแลเอาใจใส่ อย่าสม่ำเสมอเมื่อพบอาการผิดปรกติต้องพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี เพียงเท่านี้ดวงตาของเราก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเรายังใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขตลอดไป

อ้างอิง : ข้อมูลจาก

www.laservisionthai.com/health-corner/แสงกับการมองเห็นของดวงตา

บทความ โดย นางสาวปรีย์นันท์ ลองจำนงค์