รูปภาพของช่อลดา โทอื้น
เด็กติดมือถือ
โดย ช่อลดา โทอื้น - ศุกร์, 27 เมษายน 2018, 11:04AM
 

เด็กติดมือถือ

ยุคปัจจุบันเป็นยุคของดิจิตอล เด็ก ๆ ทุกคน แทบจะใช้เวลาว่างอยู่กับมือถือ เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดู และคิดว่าวิธีที่ง่ายที่สุดเมื่อตนเองยุ่งอยู่กับงาน หรือเมื่อเวลาลูกร้องไห้ งอแง ก็แค่ยื่นมือถือให้ ลูกก็เงียบเสียงลงแล้ว และสามารถอยู่เพียงลำพังได้ แต่หารู้ไม่ว่า การให้ลูกอยู่หน้าจอมือถือนาน ๆ อาจจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางด้านอื่น ๆ ของเด็ก ซึ่งจะไม่ได้รับการพัฒนาเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย เช่น การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ จากการเล่น การเคลื่อนไหวร่างกาย พัฒนาการด้านสังคม การใช้ภาษา การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เป็นต้น นอกจากนี้ การเล่นเกมจากมือถือ ยังส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจของเด็กอีกด้วย เช่น อารมณ์เกรี้ยวกราด สมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย พูดจาไม่ไพเราะ และชอบการเอาชนะ

ที่ผ่านมา ผู้เขียนไม่เคยตระหนักถึงผลร้ายจากการใช้มือถือของเด็กเลย จนวันหนึ่ง ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ลูกชายวัย ๕ ขวบ มีพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไป คือ หงุดหงิดง่าย อดทนรออะไรไม่ได้ และชอบเล่นมือถือตลอดเวลาที่ว่าง ไม่สนใจการอ่านหนังสือและเขียนหนังสืออย่างเคย ผู้เขียนจึงได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กติดมือถือจากเว็บไซท์ต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบว่า ลูกชายเป็นเด็กติดมือถือหรือไม่ โดยข้อมูลที่ได้พอจะสรุปได้ดังนี้

เช็คสัญญาณพฤติกรรม ลูกติดโทรศัพท์

  • แอบเล่นมือถือ ด้วยการหาที่เล่นโดยไม่ให้พ่อแม่เห็น เช่น ในห้องนอน
  • ใช้เวลาเล่นมือถือนานขึ้น และเกิดอารมณ์หงุดหงิดเมื่อถูกพ่อแม่ต่อว่า ห้ามไม่ให้เล่น หรือถูกสอดส่องพฤติกรรมจากการเล่นสมาร์ทโฟน
  • ตั้งหน้าตั้งตารอเวลาที่จะได้เล่นมือถือ หรือขอเล่นมือถือจากพ่อแม่บ่อย ๆ
  • มีการแสดงอารมณ์ ก้าวร้าว อารมณ์เสียง่าย หงุดหงิด หดหู่ เมื่อไม่ได้เล่น และจะหายทันทีเมื่อพ่อแม่ยอมให้ลูกได้เล่น
  • ไม่สนใจสิ่งอื่น ๆ หรือกิจกรรมรอบตัว เพราะมัวแต่เล่นมือถือ หรือขาดสมาธิระหว่างทำการบ้าน เพราะชอบเปิดสมาร์ทโฟนควบคู่ระหว่างทำการบ้าน
  • มีอาการตื่นสายและรู้สึกอ่อนเพลียในตอนเช้า

เมื่อดูจากข้อมูลที่ได้มา ผู้เขียนคิดว่าลูกชายอาจจะยังไม่เข้าข่ายเป็นเด็กติดมือถือ แต่ก็เริ่มมีอาการ

บางอย่างปรากฏตามที่กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้ลูกเล่นมือถือนาน ๆ แบบนี้ไปเรื่อย ๆ อาจจะกลายเป็นเด็กติดมือถือได้ในที่สุด และส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกได้ ผู้เขียนจึงได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสียของการติดมือถือ และวิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อป้องกันผลร้ายที่อาจจะส่งผลไปถึงลูกได้

 ผลกระทบ จากการใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไป

๑. ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ

๒. ผลการเรียนย่ำแย่ลง

๓. สมรรถภาพทางกายลดลง

๔. สายตาแย่ลง

๕. พัฒนาการทางสมองช้าลง

๖. ความสามารถในการสื่อสารลดลง

แนวทางลดความเสี่ยงพฤติกรรม ลูกติดโทรศัพท์

๑. กำหนดเวลาในการเล่น ไม่เกินวันละ ๑-๒ ชั่วโมง

๒. ชักชวนลูกให้ทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ หรือพาออกไปเที่ยวนอกบ้าน

๓. คอยสอดส่อง ชี้แนะ และดูแลพฤติกรรมลูก

๔. เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ไม่เล่นโทรศัพท์ให้ลูกเห็น และทำให้ลูกเรียนรู้ว่า เราสามารถสนุกกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ โดยไม่มีโทรศัพท์

ผู้เขียนได้ลองแก้ปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวที่ได้ศึกษามาข้างต้น มีการกำหนดเวลาการเล่น ดูแลสอดส่องอย่างใกล้ชิดขณะลูกเล่น ชักชวนลูกให้ทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การปั่นจักรยาน การต่อเลโก้ การปลูกผัก การทำกับข้าว การทำงานบ้าน และการออกไปเล่นนอกบ้าน เป็นต้น ซึ่งผลที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ ลูกไม่ถามหามือถือเหมือนเช่นเคย นาน ๆ ครั้ง จะถามหา และก็ไม่ร้องโวยวายหากไม่ได้เล่นดังใจ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะช่วยทำให้ลูกเลิกเล่นมือถือได้หรือสนใจมือถือน้อยลง บางทีลูกอาจจะไม่ได้อยากเล่นมือถือเลย แต่เป็นเพราะลูกไม่รู้จะเล่นกับใคร และทำอะไร หากเราจัดสรรเวลาของเราให้ดี เพื่อจัดกิจกรรมให้ลูกหรือร่วมทำกิจกรรมกับลูก คอยสนับสนุน และส่งเสริมให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่ลูกชอบอย่างสม่ำเสมอ ลูกอาจจะไม่สนใจมือถืออีกต่อไป

อันที่จริง สมาร์ทโฟนเป็นสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่ให้ความรู้และความบันเทิง การเล่นเกม การฟังเพลงและการเรียนรู้จากโทรศัพท์ อาจจะช่วยพัฒนาทักษะของลูกในด้านต่าง ๆ เช่น เชาว์ปัญญา การแก้ปัญหา การตัดสินใจ ความคิดสร้างสรรค์ และความสนุก เด็กยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เด็ก ๆ เองก็จำเป็นต้องเรียนรู้สำหรับอนาคตของพวกเขา การห้ามไม่ให้ลูกเล่น หรือเห็นโทรศัพท์เลย คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากทุกวันนี้ หันหน้าไปทางไหน ก็เห็นแต่ผู้คนใช้โทรศัพท์กันทั้งนั้น ดังนั้น ถ้าหากเราสอนให้ลูกรู้จักใช้โทรศัพท์มือถือแต่พอเหมาะพอควร เรียนรู้การใช้แบบมีเหตุมีผล และใช้ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเด็ก โดยที่คุณพ่อคุณแม่สามารถควบคุมดูแลได้ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกได้ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Theasianparent Thailand เช็คพฤติกรรม ลูกติดโทรศัพท์ ส่งผลสมาธิสั้น และ

แพทย์ญี่ปุ่นเตือน ให้ลูกเล่นมือถือ ส่งผลเสียทุกด้าน

ขอขอขอบคุณข้อมูลจาก แม่รักลูก “5 ข้อเสียหากลูกติดแท็บเล็ต มือถือ อันตรายที่พ่อแม่คาดไม่ถึง

มิสช่อลดา ปานแจ้ง