รูปภาพของ	ธรรมนูญ 	คำสัตย์
วิธีสร้างวินัยในตัวเองทำได้ไม่ยาก
โดย ธรรมนูญ คำสัตย์ - จันทร์, 30 เมษายน 2018, 03:34PM
 

บทความโดย

มาสเตอร์ธรรมนูญ คำสัตย์

เอกสารอ้างอิง : พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) วิธีสร้างวินัยในตนเอง

การสร้างวินัย ควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยที่กำลังสร้างลักษณะนิสัยและต่อเนื่องถึงเด็กวัยเรียนซึ่งจะมี กระบวนการเรียนรู้ คิดอย่างมีเหตุผลมากขึ้น เด็กจะเลือกทำกิจกรรมอย่างที่สนใจและลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาความจำและการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุผลการฝึกวินัยทำให้เด็กเกิดนิสัยในการควบคุมตนเอง อันจะช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น ในสังคมได้ โดยไม่ล่วงเกินสิทธิหรือประพฤติผิดมารยาทของสังคม การฝึกวินัยให้เด็กจำเป็นต้องกระทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ค่อยเป็นค่อยไปโดยมีการยืดหยุ่นได้ตามสภาพของเด็ก และควรให้เด็กเข้าใจถึงเหตุผลของกฎระเบียบนั้น ๆ ควรหลีกเลี่ยงการข่มขู่ แต่ควรสนับสนุนให้กำลังใจยกย่องชมเชยเมื่อมีโอกาส สถาบันที่มีบทบาทในการการปลูกฝังการมีวินัยแก่คนในชาติ ได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันการเมืองและการปกครอง สื่อมวลชน และองค์กรอิสระ ถึงแม้ว่าการพัฒนาการมีวินัยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายสถาบันดังกล่าวไป แล้วนั้น การปลูกฝังการมีวินัยในตนเองให้แก่เด็กวัยเรียนนั้นเป็นหน้าที่สำคัญของ สถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษาที่ต้องพยามปลูกฝังความมีระเบียบวินัยให้เหมาะสมกับวัย โดยเริ่มแรกจากสถาบันครอบครัว เพราะบิดามารดามีบทบาทต่อพฤติกรรมของเด็กและคอย อบรมสั่งสอนให้เด็กมีพฤติกรรมความประพฤติที่ดีได้ และนอกจากนี้แล้ว ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเช่นกันในการเสริมสร้างวินัยให้เด็กเมื่ออยู่ในชั้น เรียน พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก ควรร่วมมือกันและประสานแนวคิดระหว่างบ้านและโรงเรียน เวลา และวิธีการทางบวกเพื่อสร้างวินัย

ท่านพระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) ได้กล่างถึง วิธีสร้างวินัยในตนเอง ดังนี้

การจะให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้ยั่งยืนเคยชิน ย่อมมาจากจิตใจที่มีความพึงพอใจ มีความสุขในการทำพฤติกรรมนั้น เมื่อเกิดปัญญาเรียนรู้ เกิดความรู้ความเข้าใจมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการกระทำนั้น จะเป็นวิธีสร้างวินัยความรับผิดชอบในตนเอง เป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระเบียบเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์

มุ่งหวังให้เด็กได้แนวทางในการประพฤติปฏิบัติ โดยการปฏิบัตินั้นซึมซับเข้าไปในตัวเด็กควบคุมตัวเองในการกระทำสิ่งต่างๆ ได้ตามความคาดหวังและมีความสุข โดยเฉพาะ

1. เป็นคนตรงต่อเวลา

2. มีวินัยในการกิน กินเป็นเวลา 3 มื้อ ไม่จุบจิบ

3. การเรียน ใฝ่รู้ จัดตารางสอน ทำการบ้าน อ่านทบทวนบทเรียน เข้าเรียนสม่ำเสมอ

4. การเล่น เล่นและออกกำลังกายเป็นเวลา

5. การทำงาน ตามที่ได้รับมอบหมาย

6. การเข้านอน ตื่นเป็นเวลา

7. การใช้เงิน รู้จักประหยัด อดออม รู้คุณค่าของเงิน

แนวทางปฏิบัติ

1. จัดทำข้อตกลงในการปฏิบัติร่วมกัน ในระดับครอบครัวและในสถาบันการศึกษา เพื่อให้นักเรียนทราบความคาดหวัง ส่งเสริมทางเลือกและโอกาสผ่านกิจกรรมต่างๆ

2. หาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน

3. ครู/ผู้ปกครองเป็นแบบอย่าง

4. มีความสม่ำเสมอในการปฏิบัติ ไม่ควรนำเด็กมาเปรียบเทียบกัน

5. ปรับเปลี่ยนเทคนิคให้เหมาะสมกับสถานการณ์ให้เด็กรู้แผนงานในแต่ละวัน

6. สิ่งแวดล้อมที่ดี ความรัก ความเข้าใจ

7. การติดตามอย่างต่อเนื่องสอนให้มีทักษะชีวิต เหมาะสม ไม่เหมาะสม

ผลดีของการมีวินัย

1. ทำให้เกิดความมั่นใจ สามารถควบคุมตนเอง ควบคุมอารมณ์ และการกระทำ นำไปสู่ ความมั่นใจในตนเองและความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง

2. ทำให้เข้าใจตนเอง มองภาพตนเองดีขึ้นเมื่อประสบผลสำเร็จและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง

3. ทำให้ทำงานได้ประสบผลสำเร็จ

4. ทำให้เป็นคนที่ทำอะไรอย่างมีจุดมุ่งหมาย

5. ทำให้สามารถควบคุมตนเองและการกระทำให้เหมาะสมตามสถานการณ์

6. ทำให้เห็นคุณค่าของเวลา เงิน สิ่งที่อยู่รอบข้างและรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับของสังคม

การปลูกฝังวินัยในเด็กช่วยส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก ตามวัย หากที่ผ่านมายังไม่มีการฝึก ยังไม่ช้าไปที่จะเริ่ม ต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมหรือการกระทำของเด็กก่อน การจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้เด็กทราบเหตุผล (ย่อมดีกว่าการออกคำสั่ง การบังคับ หรือการลงโทษ) เมื่อเด็กเกิดความพึงพอใจ มีความสุขในการกระทำพฤติกรรมนั้น เมื่อเกิดปัญญาเรียนรู้ เกิดความรู้ความเข้าใจมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการกระทำนั้น จะเกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์แบบยั่งยืน