รูปภาพของปรีย์นันท์ ลองจำนงค์
สุขภาพจิต
โดย ปรีย์นันท์ ลองจำนงค์ - พฤหัสบดี, 26 มีนาคม 2020, 01:52PM
 

สุขภาพจิตเป็นสภาวะทางจิตใจของบุคคล ซึ่งโดยธรรมชาติภาวะทางจิตใจมีการปรับเปลี่ยนแปลงตามสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวของผู้นั้น ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งมีการพัฒนาการไปอย่างไม่หยุดยั้ง สุขภาพจิตของคนเราจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนแปลงตาม มนุษย์จึงต้องปรับตัว ปรับใจให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนมีหลายรูปแบบ เช่น การเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด หรือคงเก่าที่ดีไว้ หรือปรับรับแต่สิ่งใหม่ๆที่ดีๆ ทั้งหมด เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าชีวิตนี้หนีไม่พ้นการปรับตัว ปรับใจ บุคคลผู้สามารถปรับตัวได้ในสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยตนเองมีความสุข สามารถในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตนเองได้ตามสถานการณ์ ด้วยเหตุด้วยผลอันเหมาะสมมีความยืดหยุ่น ก็คือผู้ที่มีสุขภาพจิตดี ซึ่งชีวิตย่อมจะต้องเผชิญต่อความสมหวัง และความผิดหวังเป็นธรรมดา เมื่อคนเราพบความยุ่งยากใจย่อมทำให้เกิดความตึงเครียด และถ้ามีอะไรมาซ้ำเติมอีกก็จะทำให้ความเครียดสูงขึ้นๆ ทำให้สุขภาพจิตอ่อนแอ และถ้าทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากๆ จนกระทั่งผู้นั้นไม่สามารถทนได้ ย่อมทำให้สุขภาพจิตเสีย เกิดปัญหาหรือโรคทางจิตใจและอารมณ์ได้

ปัญหาหรือโรคทางจิตใจและอารมณ์ เกิดขึ้นเมื่อตนเองไม่สบายใจ ไม่สบายกาย ทำความลำบากให้ผู้อยู่ในแวดล้อมเดียวกัน ผู้อื่นเห็นว่าพฤติกรรมของผู้นั้นไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม

ด้านร่างกาย : โรคทางกาย โรคสมอง ความพิการ พันธุกรรม อาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีปัญหาในการนอน แขนขาชา ใจเต้นเร็ว เหนื่อยอ่อนเพลียไม่มีแรง

ด้านจิตใจ : ลักษณะบุคลิกภาพ การพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจ อาการทางจิตใจ เช่น เครียด กังวล ซึมเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง สับสนฟุ้งซ่าน เซ็ง กลัว ระแวง อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย คิดฆ่าตัวตาย

ด้านสิ่งแวดล้อม : สภาพสังคม วัฒนธรรม ครอบครัว เศรษฐกิจ อาการทางพฤติกรรม เช่น ซึม เฉยเมย กระสับกระส่ายไม่อยู่นิ่ง ก้าวร้าว พูดหรือยิ้ม คนเดียว ไม่สนใจตนเองและสิ่งแวดล้อม เดินเรื่อยเปื่อยไม่มีจุดหมาย ติดเหล้า ติดยา

ปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งสุขภาพจิตก็เหมือนสุขภาพกาย คือเมื่อไรที่ร่างกายรู้สึกไม่สบายก็ปรึกษาแพทย์ ทางใจก็ควรจะกระทำเช่นเดียวกัน ถ้าคิดว่าตนเองไม่สบายใจหรือมีอาการดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็ต้องรีบปรึกษาบุคลากรทางฝ่ายสุขภาพจิต อย่างไรก็ตามการรีบมาปรึกษาตั้งแต่แรกเริ่มมีโอกาสหายขาด และสามารถกลับไปดำรงชีวิตอย่างปกติสุขได้

อ้างอิง : ข้อมูลจาก

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/06062014-0956

บทความ โดย นางสาวปรีย์นันท์ ลองจำนงค์