รูปภาพของณฐมน แฝงฤทธิ์
E-Library ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โดย ณฐมน แฝงฤทธิ์ - พุธ, 1 เมษายน 2020, 12:20PM
 

E-Library

ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์

โดย มิสณฐมน แฝงฤทธิ์

ในปัจจุบันบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงานของห้องสมุด คือ การนำมาใช้แก้ปัญหาในเรื่องการจัดเก็บทรัพยากรห้องสมุดที่มีเพิ่มมากขึ้น (Reynolds, 1985 : 208) โดยการจัดเก็บสารสนเทศในห้องสมุดให้เป็นระบบฐานข้อมูลอัตโนมัติที่จัดเก็บสื่อต่าง ๆ ได้ทุกรูปแบบสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายในระดับต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ห้องสมุดยุคใหม่จึงเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในสังคม ทำให้การดำเนินงานของห้องสมุดเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคต รูปแบบการเสนอข้อมูลของห้องสมุดจะเน้นการเข้าถึงเอกสารเต็มรูป (Full Text) ที่บันทึกอยู่ในสื่อทุกรูปแบบมากขึ้น (น้ำทิพย์, 2542 : 4) ดังที่ สมพิศ ดูศรีพิทักษ์ ได้กล่าวว่า “เมื่อมีการประยุกต์ระบบทางด่วนข้อมูลกับเครือข่ายห้องสมุดก็จะแปรรูปห้องสมุดเดิมเป็นห้องสมุดมัลติมีเดีย (Multimedia Library) หรือห้องสมุดเสมือน (Virtual Library )

ความหมายของห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์

E-library มาจากคำว่า Electronic Library หรือห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง แหล่งความรู้ที่บันทึกข้อมูลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและให้บริการสารสนเทศทางอิเล็กทรอนิกส์หรือผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วยการทำงานของระบบห้องสมุดอัตโนมัติห้องสมุดดิจิตอล

ดังนั้นห้องสมุดเสมือนจึงเป็นที่รวมแหล่งสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการจัดการอย่างมีระบบและให้บริการค้นคืนสารสนเทศแบบออนไลน์ในระบบเครือข่าย โดยที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงระยะไกลมายังห้องสมุดเพื่อสืบค้นและใช้สารสนเทศของห้องสมุดหรือเชื่อมโยงกับแหล่งสารสนเทศอื่นได้ทุกที่ในระบบเครือข่าย เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

แนวคิดของห้องสมุดเสมือน พัฒนามาจากแนวคิดเดิมที่เรียกว่า ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งลักษณะของห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ตามแนวคิดของ Dowlin ในสมัยนั้น (1984 : 33) มีองค์ประกอบ 4 ประการคือ

1. การจัดการทรัพยากรสารสนเทศด้วยคอมพิวเตอร์

2. ความสามารถในการเข้าถึงสารสนเทศโดยทางอิเล็กทรอนิกส์

3. บรรณารักษ์หรือบุคลากรของห้องสมุดสามารถแทรกการติดต่อระหว่างผู้ใช้กับห้องสมุดได้ เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ได้โดยทางอิเล็กทรอนิกส์

4. ความสามารถในการจัดเก็บ รวบรวมและนำส่งสารสนเทศสู่ผู้ใช้โดยทางอิเล็กทรอนิกส์

ประโยชน์ของห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์

ประโยชน์ของการพัฒนาห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ คือ การจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบช่วยเพิ่มความรวดเร็ว ในการเข้าถึงข้อมูลหรือค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ในเวลาที่ต้องการเป็นการแพร่กระจายความรู้ให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่เช่นเดียวกับการดำเนินงานขององค์กรในลักษณะ e-Office และ e-Commerce เป็นต้น

ข้อจำกัด

- ผู้ใช้จะต้องมีอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต

- ผู้ใช้ต้องมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์

ที่มา

http://pioneer.netserv.chula.ac.th/~spoungpa/book2.html

มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. โครงการวิจัยห้องสมุดมีชีวิต ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์. ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 1เมษายน 2563, จาก http://202.29.15.3/e-library.html