รูปภาพของช่อลดา โทอื้น
ความโกรธ
โดย ช่อลดา โทอื้น - ศุกร์, 9 เมษายน 2021, 09:38PM
 

บทความ เรื่อง ความโกรธ

ด้วยผู้เขียน ชอบฟังข่าวทุกเช้าก่อนมาทำงาน และสังเกตว่าทุกวันนี้มีแต่ข่าวการฆาตกรรม และข่าวการทะเลาะวิวาทไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งจริง ๆ แล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท และการฆาตกรรมกันนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจาก “ความโกรธ” เท่านั้น ซึ่งการปล่อยให้อารมณ์โกรธมีอำนาจอยู่เหนือเหตุผล และสามารถสั่งการให้ตนเองกระทำสิ่งที่ผิด สิ่งที่โหดเหี้ยมได้เพียงชั่วพริบตา จนนำมาซึ่งความสูญเสีย ความหายนะ และโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายได้ ผู้เขียนรู้สึกว่ามันคือสิ่งอันตรายที่เราไม่ควรมี แต่จะทำอย่างไร เราจึงจะละทิ้งความโกรธ ที่อาจเกิดขึ้นในทุก ๆ เรื่องราว และทุกวินาทีของชีวิตเราได้

และด้วยความบังเอิญ ที่ผู้เขียนได้มาเจอหนังสือเล่มหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “การเก็บความโกรธใส่ยุ้งฉาง” ซึ่งเขียนขึ้นโดยท่านพุทธทาส อินทปัญโญ ก็เกิดความรู้สึกสนใจ และใคร่อยากรู้ว่าเราจะเก็บความโกรธของเราอย่างไร และยุ้งฉางสำหรับเก็บความโกรธเป็นอย่างไร จึงรีบเปิดอ่านทันที และขอนำสาระดี ๆ ที่ได้มาฝากผู้อ่านทุก ๆ ท่านค่ะ

ท่านพุทธทาส กล่าวว่า ก่อนที่เราจะรู้ว่า การเก็บความโกรธใส่ยุ้งฉางเป็นอย่างไร เราจำเป็นจะต้องรู้จักความโกรธกันเสียก่อน ความโกรธเกิดจาก ตัณหา (ความอยาก) ด้วยอำนาจของความโง่ 3 ประการ อันได้แก่

1. กามตัณหา (ความอยากในทางกาม) 2. ภวตัณหา (ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่) 3. วิภวตัณหา (ความไม่อยากให้มี ไม่อยากให้เป็น) เมื่อใดก็ตามที่เรามีตัณหา แต่เราไม่สามารถสนองตัณหาได้ เราจะมีอารมณ์โกรธขึ้นมาทันที นี่คือต้นเหตุแห่งความโกรธ เมื่อรู้ที่มาของความโกรธแล้ว เราก็ควรรู้จักโทษของความโกรธ โดยท่านพุทธทาส สรุปไว้มีดังนี้

1. ความโกรธเป็นสนิมของศาสตรา หมายถึง ความโกรธ ทำให้วิชาความรู้ทั้งหลายที่เรามีอยู่ เสียหาย ใช้การอะไรไม่ได้เลย

2. ความโกรธเป็นเคราะห์ร้าย ความโกรธคือ โทสะ ผู้ใดมีโทสะ ผู้นั้นย่อมมีเคราะห์ร้ายติดอยู่ที่ตัว

3. ความโกรธเป็นเหตุให้สลัดความดี ผู้ที่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมไม่คำนึงถึงความดี ยอมสลัดความดี สลัดสิ่งที่เป็นกุศล และยอมวินาศ ฉิบหาย ซึ่งอันตรายมาก

4. คนโกรธย่อมฆ่ามารดาของตนได้ ทั้ง ๆ ที่ มารดาเป็นบุคคลที่ใกล้ชิด และให้ความอบอุ่นแก่ลูกมากกว่าผู้ใด

5. คนโกรธไม่เห็นอรรถะ ไม่เห็นธรรมะ กล่าวคือ ถ้าโกรธแล้ว จะมองไม่เห็นเหตุผล ไม่มีการใช้เหตุผล

6. ความโกรธทำให้ความชั่วกลายเป็นของทำได้ง่าย

เมื่อเรารู้กระจ่างในใจถึงเหตุที่มาของความโกรธ และโทษของความโกรธกันแล้ว เราก็มาดูกันว่า เราจะเก็บความโกรธใส่ยุ้งฉางได้อย่างไร โดยท่านพุทธทาส กล่าวว่า ก่อนที่เราจะเก็บความโกรธใส่ยุ้งฉางได้นั้น เราก็ต้องสร้างยุ้ง สร้างฉางเสียก่อน สร้างให้มันใหญ่ ๆ เข้าไว้ เพราะกิเลสมีเยอะ และสิ่งที่จะเอามาใช้สร้างยุ้งฉาง ก็คือหลักธรรม 3 ประการ อันได้แก่ สติ (เครื่องคุ้มกันความโกรธ) ทมะ (การบังคับจิตไม่ให้โกรธพลุ่งออกมา) และสุดท้ายคือปัญญา (การรู้เรื่องความโกรธอย่างครบถ้วน) เมื่อใดที่มีเรื่องให้กระทบกระทั่ง เราก็จะรู้สึกโกรธ แต่ถ้าเราได้เข้าใจที่มาของความโกรธ รู้จักโทษของความโกรธ จะทำให้เรามีความอดทน อดกลั้นมากขึ้น และถ้าเรามีหลักธรรมทั้ง 3 ประการดังกล่าวด้วยแล้ว “สติ” จะช่วยให้เรารู้ว่านี่คือเรากำลังโกรธ และเรากำลังโกรธเรื่องอะไร “ทมะ” จะช่วยบังคับไม่ให้ความโกรธพลุ่งออกมา จากนั้น “ปัญญา” จะเป็นตัวช่วยให้เราทบทวน พิจารณา แก้ไข หรือตัดสิ่งที่ทำให้เราโกรธออกไป ผู้ใดมีปัญญา จึงตัดความโกรธออกได้เร็ว ไม่เก็บความโกรธให้เป็นไฟเผาใจตนเองไว้นาน จนเกิดความอาฆาต จองเวร และทำลาย ซึ่งนอกจากหลักธรรมทั้ง 3 ประการนั้นแล้ว ก็ยังมีหลักธรรมอื่น ๆ ที่ท่านพุทธทาสได้จัดเป็นกลุ่มขึ้นมาเพื่อช่วยสร้างยุ้งฉางไว้เก็บความโกรธ ได้แก่ ขันติ สังวร สัจจาธิษฐาน จาคะ หิริโอตตัปปะ กัมมัสสกตา มรณัสสติ อัปปมัญญา และเมตตา

จากคำกล่าวของท่านพุทธทาสในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนจึงพอสรุปได้ว่า ตราบใดที่เรายังมีกิเลส (ตัณหา) แต่ไม่สามารถสนองตัณหาที่ตนเองมีได้ ความโกรธย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่เราก็สามารถเก็บความโกรธไว้ได้ เก็บในที่นี้มิได้หมายถึงให้เก็บความโกรธไว้กับตัวเรา กับใจเรา แต่ให้เก็บใส่ยุ้งฉางแห่งธรรมที่เราได้สร้างไว้ แล้ว จากนั้นให้ธรรมเป็นตัวช่วยลด ช่วยระงับ และช่วยกำจัดความโกรธให้แก่เรา ให้มันมลายหายไป ไม่ให้มันหลุดออกมา ดังนั้น เราทุกคนจึงควรเรียนรู้ธรรมะ เพื่อให้เข้าใจสัจธรรม ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีที่มา เหตุเกิดอย่างไร ก็ได้ผลตามเหตุนั้น และหมั่นฝึกจิตของเราให้มีสติ ทมะและปัญญาอยู่เสมอ เพื่อให้ใจเราเย็น สงบและเป็นสุข เมื่อเราทุกคนเก็บความโกรธไว้ได้ และรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน สังคมก็จะมีแต่ความเมตตาต่อกัน และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผู้เขียนหวังว่าบทความเรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุก ๆ ท่านนะคะ