รูปภาพของจตุรงค์ นัดสันเทียะ
รูปแบบการใช้ชีวิตแบบ “New Normal” หลังวิกฤต COVID-19
โดย จตุรงค์ นัดสันเทียะ - พฤหัสบดี, 22 เมษายน 2021, 09:29AM
 

รูปแบบการใช้ชีวิตแบบ “New Normal” หลังวิกฤต COVID-19

ธุรกิจประเภทใดที่อาจจะถูก Disrupt?

ถ้าเรามองข้ามช่วงวิกฤตCovid-19 ออกไประยะยาว ช่วงที่ผู้คนเลิกกังวลเรื่องความเสี่ยงของโรคระบาดนี้ เราเชื่อว่าเหตุการณ์ COVID-19 ครั้งนี้เป็นเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้หลายๆเทรนด์ที่แต่เดิมเชื่อว่าจะใช้เวลาอีกนานหลายปี

I. ห้างสรรพสินค้า น่าจะเป็นธุรกิจแรกๆที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากมีการ Lockdown เมือง จึงทำให้ผู้บริโภคได้เห็นความสะดวกและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อของหรือการทำธุรกิจทุกอย่างผ่าน Application บนมือถือ ความจำเป็นที่ต้องไปห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อของหรือทำธุรกรรมการเงินก็จะลดลง

II. อีกหนึ่งธุรกิจที่มีแนวโน้มที่จะถูก Disrupt ในระยะยาว ก็คือ ออฟฟิศ ช่วงวิกฤต COVID-19 ทำให้บริษัทเห็นแล้วว่าการที่พนักงานส่วนหนึ่งทำงานที่บ้านและการประชุมผ่านระบบออนไลน์สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทมีแนวโน้มพิจารณาปรับลดพื้นที่ออฟฟิศลงเพื่อลดต้นทุน และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในช่วงฟื้นตัวและในระยะยาว สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความต้องการพื้นที่ออฟฟิศลดลง ผลสำรวจของ CFO กว่า 317 บริษัทของบริษัทวิจัย Gartner พบว่า 74% ของบริษัทวางแผนให้พนักงานทำงานที่บ้านแบบถาวร

III. ธุรกิจกลุ่มสายการบิน และกลุ่มผู้ผลิตเครื่องบิน ก็เช่นเดียวกัน แม้ในระยะยาวการท่องเที่ยวด้วยเครื่องบินจะกลับมาเป็นปกติ แต่รายได้ที่คิดเป็นสัดส่วนที่สูงของธุรกิจสายการบินในประเทศที่มีขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา มาจากการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ (Business Travel) ซึ่งหลังจากนี้ต่อไป บริษัทหรือคนกลุ่มนี้จะคุ้นชินกับการติดต่อธุรกิจผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น

IV. ธุรกิจน้ำมัน ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จะถูกวิกฤตครั้งนี้เร่งให้ถึงจุดจบของสิ่งที่เรียกว่า พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) เร็วขึ้น และเร่งให้เทรนด์ของพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถูกพัฒนาและเป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งเหตุผลหลักก็คือ การโดยสารด้วยเครื่องบินซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมากจะลดลงดังที่กล่าวมาก่อนหน้า และวิกฤตนี้ทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

V. กลุ่มผู้ผลิตยาภาคเอกชน (Private Pharmaceutical Firm) เหตุการณ์นี้จะทำให้รัฐบาลทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องสุขภาพของประชาชน ปริมาณยาที่เพียงพอ และการพัฒนายาหรือวัคซีนมากขึ้น เราจะได้เห็นรัฐบาลเข้ามามีบทบาทในด้านการพัฒนาและผลิตยามากขึ้นแทนที่บริษัทเอกชนแบบที่เห็นในปัจจุบัน

ธุรกิจประเภทใดที่จะได้ประโยชน์?ดังคำว่า 'วิกฤต' ในภาษาจีนที่อักษรแรกหมายถึงอันตราย อักษรหลังหมายถึงโอกาส ซึ่งก็หมายถึงในทุกๆวิกฤต ย่อมมีโอกาส

I. กลุ่มเทคโนโลยี เป็นกลุ่มที่เราน่าจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด กลุ่มนี้ครอบคลุมตั้งแต่ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจให้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น (Digital Transformation) ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์ในการผลิต การจัดเก็บและบริหารข้อมูลบน Cloud การใช้ AI ออกแบบและบริหารระบบ Supply Chain ของบริษัท เทคโนโลยี 5G หลังวิกฤตเศรษฐกิจจะยิ่งทำให้ธุรกิจให้ความสำคัญเรื่องลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และลดหรือบริหารความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด เช่น การใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์

II.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และบริษัทให้คำปรึกษาด้านการเงินทั้งให้กับบริษัทและบุคคล เนื่องจากกลุ่มบริษัทที่ได้รับผลกระทบทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และจะหันมาเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจของตัวเองมากขึ้น

III. Telemedicine/Telehealth ระบบโทรเวชกรรม ซึ่งก็คือระบบการให้บริการการรักษาทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาล ทั้งแพทย์และผู้ป่วยสามารถสนทนาและสื่อสารกันผ่าน Online Application แม้อาจจะยังไม่ค่อยมีให้เห็นในประเทศไทย แต่ในสหรัฐฯกำลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเหตุการณ์ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนไม่อยากไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น และทำให้คนได้เรียนรู้ เปิดใจยอมรับการพบหมอออนไลน์มากขึ้น

สรุปแล้ว คำถามที่ว่า หลัง COVID-19 … โลกเราจะเป็นอย่างไร? สิ่งแรกก็คือการเข้าสู่รูปแบบชีวิตปกติใหม่ “New Normal” และสิ่งที่สอง คือเรามองว่า COVID-19 เป็นตัวเร่งเทรนด์การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาวที่พวกเราต่างเชื่อมาก่อนแล้วว่าเทรนด์เหล่านี้กำลังจะมา

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.tmbameastspring.com/insights/new-normal

มาสเตอร์จตุรงค์ นัดสันเทียะ