รูปภาพของดร.ยุภาพร เทพสุริยานนท์
แนวทางการจัดกิจกรรมเสริมทักษะและความสามารถทางพหุปัญญาควบคู่กับการเล่านิทาน
โดย ดร.ยุภาพร เทพสุริยานนท์ - พุธ, 5 พฤษภาคม 2021, 11:15AM
 

แนวทางการจัดกิจกรรมเสริมทักษะและความสามารถทางพหุปัญญา
ควบคู่กับการเล่านิทาน

 โดย ดร.ยุภาพร เทพสุริยานนท์

สำหรับการจัดการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัย คุณครูสามารถใช้แนวคิด ทฤษฎีพหุปัญญา ” (Theory of Multiple Intelligences) ของศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นำมาผสมผสานกับรูปแบบการเรียนรู้ที่เด็กชื่นชอบ เช่น การเล่านิทาน ประยุกต์เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับปัญญาด้านต่าง ๆ
ของเด็กดังนี้

ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)

ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง จนถึงภาษาอื่นๆ ด้วย สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ คุณครูสามารถจัดกิจกรรมให้ได้ฟัง พูด อ่าน เขียนเรื่องราวต่างๆ ที่เด็กสนใจ แล้วอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น

ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical – Mathmatical Intelligence)

ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ควรให้มีโอกาสได้ทดลองหรือทำโครงงานในเรื่องที่เด็กสนใจ เพื่อฝึกการใช้เหตุผล การแก้ปัญหา
ฝึกกระบวนการสร้างความคิดรวบยอด

ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual – Spatial Intelligence)

ความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง สำหรับเด็กที่มีปัญญาด้านนี้เด่นชัด ควรให้ทำงานศิลปะ งานประดิษฐ์ เพื่อให้เด็กคิดอย่างอิสระ ได้เรียนรู้ด้วยการเห็นภาพ โดยให้ระบายสี
ทำกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ตามจินตนาการ

ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)

ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง ควรให้เด็กเล่นเครื่องดนตรี ร้องเพลง ฟังเพลงสม่ำเสมอ ให้ร้องรำทำเพลงร่วมกับเพื่อนหรือคุณครู

ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)

ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ คุณครูควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัว สิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม สังเกตและบันทึกความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ลม ฟ้า อากาศ จัดกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษา การดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ปัญญาด้านความเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)

ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อไหร่ต้องขอความช่วยเหลือ
มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็ง หรือความสามารถในเรื่องใด มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริง เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุข คุณครูควรเปิดโอกาสให้ทำงานตามลำพังอย่างอิสระ สอนให้เห็นคุณค่าของตัวเอง (
Self-esteem)
เน้นการศึกษารายบุคคล (Individual Study) เปิดโอกาสให้เด็กเลือกศึกษาในสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษ

ปัญญาด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)

ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน คุณครูควรจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เข้ากลุ่ม ทำงานร่วมกัน ส่งเสริมให้อภิปราย เรียนรู้ และแก้ปัญหาร่วมกัน

ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily – Kinesthetic Intelligence)

ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีต และความไวทางประสาทสัมผัส ควรให้เด็กเรียนรู้ด้วยการสัมผัส จับต้อง เคลื่อนไหวร่างกาย เรียนรู้ผ่านการแสดงบทบาทสมมุติ แสดงละคร ฯลฯ

ที่มา : https://www.kangxuan.co.th/8intelligences/