รูปภาพของช่อลดา โทอื้น
LONG COVID
โดย ช่อลดา โทอื้น - อาทิตย์, 24 เมษายน 2022, 10:22AM
 

LONG COVID

ปัจจุบัน ในประเทศไทยยังคงมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่เป็นจำนวนมาก และการติดเชื้อโควิด-19 นับว่าเป็นโรคที่ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว หากผู้ติดเชื้อได้ทำการรักษาหายแล้ว แต่หลังจากนั้น 1 เดือน ยังรู้สึกว่าร่างกายไม่แข็งแรงเท่าเดิม ร่างกายทำงานได้ไม่เป็นปกติ หรือยังคงมีอาการบางอย่างหลงเหลืออยู่ เช่น มีไข้ ไอ เหนื่อย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ทานอาหารแล้วไม่ย่อย ท้องผูก การได้กลิ่น และการรับรสไม่เหมือนเดิม รวมถึงอาการทางด้านจิตใจ ได้แก่ ความกลัว ความวิตกกังวล ที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่เชื้อโควิด-19 ขั้นรุนแรง ซึ่งอาการทั้งหมดดังกล่าว อาจเกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ หรือเกิดจากเชื้อโควิด-19 ได้ทำลายอวัยวะบางส่วนของร่างกาย เช่น สมอง ปอด หัวใจ ตับ และไต เป็นต้น จนเสียหายและส่งผลกระทบไปทั่วร่างกาย เราเรียกภาวะนี้ว่า โควิดระยะยาว (LONG COVID)

อาการโควิดระยะยาว มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 30-50% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ ผู้ป่วยที่เคยได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อลงปอด และเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง นอกจากนี้ กลุ่มที่ควรเฝ้าระวัง เพราะมีโอกาสได้รับผลกระทบของโรคที่รุนแรงและฟื้นตัวได้ยากกว่า คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะอ้วน และมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ไม่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง ก็มีโอกาสมีอาการโควิดระยะยาวได้เช่นกัน สำหรับในเด็กหลังติดเชื้อโควิด-19 อาจพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เรียกว่า MIS-C ซึ่งเป็นภาวะหลังจากที่เด็กติดโควิด-19 และรักษาหายแล้ว 2-6 สัปดาห์ แล้วเกิดอาการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เนื่องจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป

ดังนั้น ผู้ที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ต้องหมั่นสังเกตตัวเอง หากพบว่าร่างกายยังมีอาการที่ผิดปกติ มีการฟื้นตัวได้ไม่เท่าเดิม หรือมีอาการแย่ลงกว่าเดิม ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด จะได้ทำการรักษาให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว อย่าปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรัง เพราะอาจทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษา จนส่งผลเสียต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากการหมั่นสังเกตอาการตนเอง หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ควรดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายควบคู่ไปด้วย เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทุกมื้อ เพื่อช่วยซ่อม สร้าง และเสริม เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 3 ปี และยังไม่รู้ว่าจะแพร่ระบาดไปอีกนานเท่าไร และความรุนแรงของเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ไปเรื่อย จะมากน้อยแค่ไหน ประกอบกับยังมีอาการโควิดระยะยาว (LONG COVID) เกิดขึ้นได้อีกหลังจากการรักษาหายแล้ว เราจึงควรหมั่นติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 และอาการโควิดระยะยาวอยู่เสมอ เพื่อลดอาการตื่นตระหนก วิตกกังวล เพื่อให้รู้เท่าทันอาการที่จะเกิดขึ้น และเพื่อหาแนวทางป้องกัน แนวทางการรักษาและการฟื้นฟู ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที ไม่ว่าเราจะยังไม่เคยติดเชื้อ หรือเคยติดเชื้อมาแล้วก็ตาม ที่สำคัญควรเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบ และปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด เป็นต้น