รูปภาพของกลยุทธ จิตต์รุ่งเรือง
The development of movement skills in playing basketball of using nine-square training program
โดย กลยุทธ จิตต์รุ่งเรือง - อังคาร, 5 มีนาคม 2024, 10:24PM
 

การพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวในกีฬาบาสเกตบอลด้วยตารางเก้าช่อง

The development of movement skills in playing basketball of using nine-square training program

ชื่อผู้เขียน มาสเตอร์กลยุทธ จิตต์รุ่งเรือง

ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน

ฝ่าย สำนักผู้อำนวยการ โครงการพิเศษบาสเกตบอล

โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา



บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาทักษะการเคลื่อนไหวในกีฬาบาสเกตบอลด้วยตารางเก้าช่อง ในนักกีฬาบาสเกตบอล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักกีฬาบาสเกตบอล ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โครงการพิเศษบาสเกตบอล โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา จำนวน 20 คน ที่มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหวใกล้เคียงกัน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลองที่ใช้แบบฝึกปกติ 10 คน และกลุ่มควบคุมที่ใช้ตารางเก้าช่องในการฝึก 10 คน วัดผลทั้งก่อนและหลังการฝึก 8 สัปดาห์ การวัดผลจะใช้เวลาในการเปรียบเทียบความแตกต่างในการทำแบบฝึกที่ผู้วิจัยคิดค้นขึ้น เพื่อวัดทักษะการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆของกีฬาบาสเกตบอล คือ การเคาะลูกบาสเคลื่อนที่, การเคาะลูกบาสลอดขา, การเคาะลูกบาสด้านหลัง, การหมุนตัว การ Lay up, การเคาะลูกบาสลอดขาเป็นเลข8, การReverse, หมุนอ้อมสิ่งกีดขวาง ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มควบคุมที่ใช้โปรแกรมการฝึกโดยตารางเก้าช่องจะมีความคล่องแคล่วว่องไวมากกว่าการฝึกโปรแกรมปกติ ทำให้กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยส่วนต่างของเวลาอยู่ที่ 7.38 วินาที ต่างกันกับกลุ่มควบคุมที่ทำเวลาส่วนต่างเฉลี่ยอยู่ที่ 12.36 วินาที ซึ่งมากกว่ากลุ่มทดลอง จึงสรุปได้ว่าการฝึกด้วยโปรแกรมเก้าช่องนี้ มีผลต่อการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวในกีฬาบาสเกตบอล


คำสำคัญ : การพัฒนาทักษะ , กีฬาบาสเกตบอล


บทนำ

กีฬาบาสเกตบอลเป็นกีฬาประเภททีมอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ กีฬาบาสเกตบอลเป็นชนิดกีฬาที่ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัว ทักษะการเคลื่อนไหวทางด้านกีฬาอยู่พอสมควร ดังนั้นระบบการทำงานของอวัยวะจะต้องทำงานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบระเบียบ จึงจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ดีและเหมาะสม รวมถึงการพัฒนาทางด้านการเคลื่อนไหว การคิดเป็นระบบแบบแผน และทักษะในด้านต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักการเล่นกีฬาบาสเกตบอล กำหนดให้มีผู้เล่น 2 ทีม ทีมละ 5 คน โดยมีจุดมุ่งหมายว่าผู้เล่นแต่ละทีมพยายามโยนลูกบอลให้ลงประตูของคู่แข่งขัน และป้องกันไม่ให้ผู้แข่งขันได้ครอบครองลูกบอลหรือทำคะแนนได้ ทีมใดทำคะแนนได้มากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ กีฬาบาสเกตบอลเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ การทำให้ร่างกายหรือส่วนใดของร่างกายเปลี่ยนทิศทางหรือเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งในเกมการแข่งขันนักกีฬาบาสเกตบอลจะต้องใช้ทักษะการเคลื่อนที่ไปในทิศทางต่างๆพร้อมกับเลี้ยงลูกบาสเกตบอลไปด้วย นักกีฬาบาสเกตบอลจึงจำเป็นต้องฝึกความคล่องแคล่วว่องไวและทักษะเฉพาะให้เหมาะสมและสามารถนำไปใช้ในการเล่นหรือแข่งขันได้จริง ดังนั้นความคล่องแคล่ว คือ ความสารถในการเปลี่ยนตำแหน่งหรือทิศทาง ด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอันเป็นผลเนื่องมาจากกล้ามเนื้อส่วนต่างๆทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี เจริญ กระบวนรัตน์ (2552) ได้กล่าวว่า การฝึกปฏิบัติเพื่อสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายในรูปแบบต่างๆนั้น ตารางเก้าช่อง ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถใช้ฝึกการทำงานร่วมกันของระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี เพราะตารางเก้าช่อง คือ เครื่องมือที่ถูกคิดค้นเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาควบคู่กันไป ด้วยการพัฒนามาจากรูปแบบการเคลื่อนไหวที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของมนุษย์ โดยเริ่มจากรูปแบบและขั้นตอนการเคลื่อนไหวที่ง่ายไปสู่การเคลื่อนไหวที่ยากและพัฒนาการเคลื่อนไหวจากช้าไปสู่การเคลื่อนไหวที่รวดเร็วซับซ้อนหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายทิศทางมากยิ่งขึ้น ตามพัฒนาการที่เป็นธรรมชาติจะเห็นได้ว่า การออกกำลังแบบตารางเก้าช่อง เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการพัฒนาสมองของนักกีฬาและเด็กการฝึกปฏิกิริยารับรู้และตอบสนองต่อการเคลื่อนไหว เป็นหนึ่งในหลักการพัฒนาความเร็วที่สำคัญสำหรับนักกีฬาในการแข่งขัน ที่ต้องใช้ความรวดเร็ว แม่นยำในการเคลื่อนที่ ตลอดจนการคิดการตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจึงทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปได้อย่างรวดเร็วจนเป็นอัตโนมัติ ตารางเก้าช่องสามารถนำมาฝึกกับกีฬาประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น แบดมินตัน เทนนิส กรีฑา เทเบิลเทนนิส วอลเลย์บอล เป็นต้น สอดคล้องกับ ภัทรพนธ์ เหมหงส์ (2554)ได้ศึกษาผลการฝึกตารางเก้าช่องและความอ่อนตัวที่มีต่อความคล่องแคล่วว่องไวของพลทหารหมวดฝึกกองร้อยพลเสนารักษ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ากรุงเทพฯ พบว่าการฝึกตารางเก้าช่องควบคู่กับความอ่อนตัวเป็นวิธีพัฒนาความคล่องแคล่วว่องไวที่ได้ผลดีที่สุด เช่นเดียวกับ การพัฒนาส่งเสริมความคล่องแคล่วว่องไวความเร็วการทรงตัวความแข็งแรง การประสานงานของสายตากับมือและเท้ากระบวนการในการรับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า จนกระทั่งกล้ามเนื้อหดตัวปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นลง โดยใช้ช่วงเวลาที่สั้น เราเรียกว่า เวลาปฏิกิริยาตอบสนอง (จุไรรัตน์ อุดมวิโรจน์สิน, 2550, หน้า 1) สอดคล้องกับเจริญ กระบวนรัตน์ (2552) ที่มีการเคลื่อนที่และเปลี่ยนทิศทางอย่าง รวดเร็ว เพราะการฝึกตารางเก้าช่องที่ฝึกให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวที่เร็วๆช้าๆที่มีความหลากหลาย ของการเคลื่อนที่สามารถใช้ฝึกการทำงานร่วมกันระหว่าง ระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี สามารถพัฒนาปฏิกิริยา ความเร็วและการรับรู้สั่งงานของสมอง ในการควบคุมทักษะการเคลื่อนไหวใน กับนักกีฬาเพื่อนำไปสู่การฝึกที่มีความหลากหลาย

ในปัจจุบันนักกีฬาโครงการพิเศษบาสเกตบอล โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา มีทักษะในการเคลื่อนไหวร่างกายและความคล่องแคล่วว่องไวยังไม่มากพอ ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการแข่งขันบางรายการ ส่งผลให้ทักษะเฉพาะในด้านต่างๆไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ทางผู้ฝึกสอนจึงจำเป็นต้องศึกษากลวิธีต่างๆที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพให้กับนักกีฬา เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันนั้นได้ ตลอดจนออกแบบการฝึกซ้อมโดยใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อจุดมุ่งหมายที่หวังไว้ คือ ชัยชนะ

จากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า ตารางเก้าช่อง สามารถช่วยในการพัฒนาสมองและการเคลื่อนไหวของนักกีฬา รวมทั้งการฝึกปฏิกิริยาการรับรู้และการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการพัฒนาความคล่องแคล่วว่องไวที่สำคัญสำหรับนักกีฬาเพื่อใช้ในการแข่งขันที่ต้องใช้ความรวดเร็วแม่นยำในการเคลื่อนไหวและทักษะทางกีฬา ตลอดจนการคิด ตัดสินใจและการแก้ปัญหา โดยนำการฝึกแบบตารางเก้าช่องมาประยุกต์ใช้ร่วมกับกีฬาบาสเกตบอล ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวในกีฬาบาสเกตบอลดวยตารางเกา ชองเพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงการฝึกความคล่องแคล่วว่องไวได้อย่างเหมาะสมเพื่อเกิดประสิทธิภาพต่อไป


วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อศึกษาผลการฝึกด้วยโปรแกรมตารางเก้าช่อง ที่มีผลต่อความคล่องแคล่วว่องไวในการเคลื่อนไหวร่างกายในกีฬาบาสเกตบอล

2. เพื่อเปรียบเทียบความคล่องแคล่วว่องไวในการเคลื่อนไหวร่างกายในกีฬาบาสเกตบอลของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองของนักกีฬาโครงการพิเศษ โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา


วิธีการวิจัย

1. กลุ่มเป้าหมาย

1.1. ประชากร

- นักกีฬาโครงการพิเศษบาสเกตบอล ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 20 คน

1.2. กลุ่มตัวอย่าง

- กลุ่มทดลอง นักกีฬาโครงการพิเศษบาสเกตบอล ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 10 คน

- กลุ่มควบคุม นักกีฬาโครงการพิเศษบาสเกตบอล ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 10 คน

2. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

- โปรแกรมการฝึกตารางเก้าช่องของรองศาสตราจารย์เจริญ กระบวนรัตน์

- แผนการสอนปกติใช้สำหรับกลุ่มควบคุม

- เปรียบเทียบโดยใช้สถิติทดสอบวิลคอกซัน(The Wilcoxon Matched Pair Singed-Ranks Test)

- แบบทดสอบทางกีฬาบาสเกตบอลที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยใช้เครื่องมือทดสอบเวลา ใช้สำหรับกลุ่ม ทดลองและกลุ่มควบคุม

3. วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

1. กำหนดวัน เวลา อุปกรณ์ สถานที่และกลุ่มตัวอย่างในการเก็บรวบรวมข้อมูล

2. ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำแบบทดสอบและวางแผนการประเมินที่จะใช้ในการวิจัย

3. จัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ ตารางการฝึก ใบบันทึกผล เพื่อใช้ในการรวบรวมข้อมูล

4. ประชุม อธิบาย และชี้แจงรายละเอียดวัตถุประสงค์ในการทำวิจัย

5. แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

6. ทดลองทักษะการเคลื่อนไหวโดยใช้บาสเกตบอลของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

7. อธิบายรายละเอียดวิธีการฝึกให้กลุ่มตัวอย่างทราบ

8. ทำการทดลองตามโปรแกรมการฝึก ทั้งสองกลุ่มจะใช้เวลา 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 6 วัน โดยแต่ละวันจะฝึกวันละ 30 นาที

กลุ่มทดลอง ฝึกทักษะการเคลื่อนไหวในกีฬาบาสเกตบอลด้วยตารางเก้าช่อง

กลุ่มควบคุม ฝึกทักษะการเคลื่อนไหวในกีฬาบาสเกตบอลด้วยโปรแกรมปกติ

9. ทดสอบทักษะการเคลื่อนไหวในกีฬาบาสเกตบอล ก่อนเริ่มการทดลอง สัปดาห์ที่ 1 และหลังการทดลอง คือสัปดาห์ที่ 8 นำผลการทดลองมาเปรียบเทียบ

4. วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล

1. วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ใช้เวลาในการเปรียบเทียบการเคลื่อนไหว

2. แสดงข้อมูลตารางในการเปรียบเทียบเวลาในการทดลอง

3. อภิปรายและสรุปผลการใช้แนวทางทางการพัฒนาการสอนทักษะกีฬาบาสเกตบอล แล้วนํา เสนอข้อมูล ตารางประกอบความเรียง


สรุปผลการวิจัย อภิปรายผลและสะท้อนผล

ผลการวิจัย

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในการบันทึกเวลาในการทดสอบทักษะการเคลื่อนไหวของกีฬาบาสเกตบอลก่อนและหลังฝึก 8 สัปดาห์ ของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ดังนี้

- กลุ่มควบคุม ก่อนฝึกและหลังฝึกจะมีเวลาที่ต่างกัน เฉลี่ย 7.38 วินาที โดยก่อนฝึกจะมีเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 105.6 วินาที และหลังการฝึกด้วยโปรแกรมปกติจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 98.22 วินาที

- กลุ่มทดลอง ก่อนฝึกและหลังฝึกจะมีเวลาที่ต่างกัน เฉลี่ย 12.36 วินาที โดยก่อนฝึกจะมีเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 110.52 วินาที และหลังการฝึกด้วยโปรแกรมตารางเก้าช่องจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 97.26 วินาที

*(ค่าเฉลี่ย (+ -) 0.5)

อภิปรายผล

จากข้อมูลตารางการบันทึกเวลาการทดสอบความเคลื่อนไหวของกลุ่มควบคุมจะเห็นได้ว่า โปรแกรมการฝึกแบบพื้นฐานก็สามารถพัฒนาการเคลื่อนไหว ความคล่องตัว ของนักกีฬาบาสเกตบอล เนื่องมาจากการฝึกฝนอย่างเป็นระบบและฝึกฝนอย่างต่อเนื่องทำให้ร่างกายเกิดความแข็งแรงและคล่องตัว ส่วนกลุ่มควบคุมที่ใช้โปรแกรมการฝึกโดยตารางเก้าช่องจะมีความคล่องแคล่วว่องไวมากกว่าการฝึกโปรแกรมปกติ ทำให้กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยส่วนต่างของเวลาอยู่ที่ 7.38 วินาที ต่างกันกับกลุ่มควบคุมที่ทำเวลาส่วนต่างเฉลี่ยอยู่ที่ 12.36 วินาที ซึ่งมากกว่ากลุ่มทดลอง ทำให้การวิจัยครั้งนี้เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งเอาไว้ว่า โปรแกรมการฝึกด้วยตารางเก้าช่องจะมีความคล่องตัวและว่องไวกว่าโปรแกรมการฝึกปกติ อันเนื่องมาจากการตารางเก้าช่องนั้นถูกคิดค้นขึ้นเพื่อทำให้คิดอย่างเป็นระบบ อวัยวะในร่างกายทำงานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระตุ้นและพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวให้ว่องไวและคล่องตัวมากขึ้น ตารางเก้าช่องจึงสามารถพัฒนาทักษะทางด้านกีฬาในกีฬาประเภทต่างๆได้เป็นอย่างดี


ข้อเสนอแนะ

1.ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลวิจัยไปใช้

- จากการศึกษาครั้งนี้จะเห็นได้ว่าตารางเก้าช่อง สามารถเพิ่มทักษะในการเคลื่อนไหวในกีฬาบาสเกตบอลได้จริง นักกีฬาบาสเกตบอลควรได้รับการฝึกตารางเก้าช่อง เพื่อให้เกิดความคล่องแคล่วว่องไว และการทำงานของอวัยวะต่างๆสัมพันธ์กันมากขึ้น

2.ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

- ต้องศึกษาเกี่ยวกับความแม่นยำในการเล่นกีฬาบาสเกตบอลมากยิ่งขึ้น ทักษะทางด้านการส่งลูกบาส หรือ การชู้ตลูกบาสให้ลงเพื่อทำคะแนน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของนักกีฬาให้ได้ประโยชน์สูงสุด


รายการอ้างอิง

เจริญ กระบวนรัตน์ (2552) การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ. พิมพค์ร้ังที่1. กรุงเทพฯ:คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

จุไรรัตน์ อุดมวิโรจน์สิน. (2550). ผลการฝึกความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือด้วยเครื่อง Eye-Hand Coordination Trainer กับโปรแกรมประยุกต์ตารางเก้าช่องที่มีต่อ เวลาปฏิกิริยาตอบสนองในนักกีฬาเทเบิลเทนนิส. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์- มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ภัทรพนธ์ เหมหงส์ (2554)ได้ศึกษาผลการฝึกตารางเก้าช่องและความอ่อนตัวที่มีต่อความคล่องแคล่วว่องไวของพล ทหารหมวดฝึกกองร้อยพลเสนารักษ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ากรุงเทพฯ