รูปภาพของวารุณี ไชยทวีวิวัฒน์กุล
การพัฒนาคอมพิวเตอร์ช่วยในการเรียนรู้จาก CAI สู่ E - Learning
โดย วารุณี ไชยทวีวิวัฒน์กุล - ศุกร์, 1 มีนาคม 2013, 08:54AM
 

          ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชนในประเทศไทยได้มีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องมือ ในการสร้างสื่อการเรียน การถ่ายทอดความรู้เป็นระยะเวลานานพอสมควร โดยเริ่มตั้งแต่การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์จากนั้นก็มีการสร้างสื่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่แทนที่เอกสารหนังสือที่เรียกว่า สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนหรือ CAI (Computer Aided Instruction) ซึ่งมีซอฟต์แวร์ที่เป็นเครื่องมือให้เลือกใช้งานได้หลากหลาย ทั้งที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการดอส เช่น โปรแกรมจุฬาซีเอไอ (Chula CAI) ที่พัฒนาโดยแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โปรแกรม ThaiTas ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์เทคโนโลยีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ รวมถึงซอฟต์แวร์สำเร็จรูปจากต่างประเทศ เช่น ShowPartnet F/X, ToolBook, Authorware

          ในปัจจุบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้พัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็วและได้ก้าวมาเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอน การฝึกอบรม รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ โดยพัฒนา CAI เดิม ๆ ให้เป็น WBI (Web Based Instruction) หรือการเรียนการสอนผ่านบริการเว็บเพจ ส่งผลให้ข้อมูลในรูปแบบ WBI สามารถเผยแพร่ได้รวดเร็วและกว้างไกลกว่าสื่อ CAI ปกติ ทั้งนี้ก็มาจากประเด็นสำคัญอีก 2 ประการ

  1. ประเด็นแรก ได้แก่สามารถประหยัดเงินที่ต้องลงทุนในการจัดหาซอฟต์แวร์สร้างสื่อ (Authoring Tools) ไม่จำเป็นต้องซื้อโปรแกรมราคาแพงมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสื่อการเรียนการสอนเพราะสามารถใช้ NotePad ที่มาพร้อมกับ Microsoft Windows ทุกรุ่น หรือ Text Editor ใดๆ ก็ได้ลงรหัส HTML (HyperText Markup Language) สร้างเอกสาร HTML ที่มีลักษณะการถ่ายทอดความรู้ด้านการศึกษา
  2. ประเด็นที่สอง เนื่องจากคุณสมบัติของเอกสาร HTML ที่สามารถนำเสนอข้อมูลได้ทั้งข้อความ ภาพเสียง VDO และสามารถสร้างจุดเชื่อมโยงไปตำแหน่งต่างๆ ได้ตามความต้องการของผู้พัฒนา ส่งผลให้การพัฒนา สื่อการเรียนการสอนในรูปแบบ WBI เป็นที่นิยมอย่างสูง และได้รับการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบมาเป็นสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบ E - Learning (Electronic Learning) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน

          E-Learning จึงเป็นระบบการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเว็บ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีสภาวะแวดล้อมที่สนับสนุนการเรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา (Active Learning) และการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center Learning) ผู้เรียนเป็นผู้คิด ตัดสินใจเรียน โดยการสร้างความรู้และความเข้าใจใหม่ๆ ด้วยตนเอง สามารถเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ให้เข้ากับชีวิตจริง ครอบคลุมการเรียนทุกรูปแบบ ทั้งการเรียนทางไกล และการเรียนผ่านเครือข่ายระบบต่างๆ

          ข้อได้เปรียบของ E - Learning กับสื่ออื่น ๆ
          จากการศึกษาพบว่า E - Learning มีข้อได้เปรียบ หลายประการด้วยกัน กล่าวคือ

  1. ช่วยให้การเรียนการสอนมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ผู้สอนสามารถสร้างสื่อการสอนได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพ ภาพเคลื่อนไหว งานนำเสนอต่าง ๆ แล้วนำไปใส่ไว้ในระบบ E - Learning
  2. เปิดกว้างสำหรับผู้เรียนในการศึกษานอกเวลามากขึ้น ผู้เรียนสามารถทบทวนหรือทำแบบฝึกหัดในลักษณะที่มีการตอบสนองกับผู้เรียน (Interactive) ได้
  3. ประหยัดและลดการใช้กระดาษหรือเอกสารประกอบการเรียน
  4. ลดข้อจำกัดเรื่องระยะทางหรือเรื่องการเดินทางของผู้สอนหรือผู้เรียนได้ในบางกรณี เช่น กรณีที่ผู้สอนไม่สามารถมาสอนได้ก็สามารถนำเอกสารการสอนส่งไปยังระบบ E - Learning แล้วให้ผู้เรียนมาเปิดเอกสารในระบบ E - Learning ได้จากคอมพิวเตอร์ที่ผู้เรียนใช้อยู่ได้

          ข้อเสียเปรียบของ E – Learning กับสื่ออื่น ๆ
          แต่อย่างไรก็ตาม E - Learning ก็มีข้อเสียเปรียบหลายประการ ได้แก่

  1. พื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ที่ไม่เท่าเทียมกันของทั้งผู้สอนและผู้เรียนทำให้การนำ E - Learning มาใช้นั้นไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลทำให้การเรียนโดยผ่านระบบนี้กลับเป็นปัญหาในการเรียนและการสอนได้อีกด้วย
  2. ระบบ E - Learning มีข้อจำกัดชัดเจนทางด้านเทคโนโลยี ได้แก่ ความพร้อมทางด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพร้อมและเพียงพอที่จะรองรับความต้องการของผู้สอนและผู้เรียน เพราะถ้าขาดความพร้อมทางด้านนี้ก็ทำให้การเรียนและการสอนทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
  3.           แหล่งอ้างอิง
              http://www.nectec.or.th/courseware/cai/0018.html
              http://www.capella.edu/elearning
              www.school.net.th/library
              www.nectec.or.th/courseware
              www.thaiwbi.com
              www.thai2learn.com