รูปภาพของรุ่งทิวา นาเมืองรักษ์
การใช้ภาษาในการโน้มน้าวใจ
โดย รุ่งทิวา นาเมืองรักษ์ - จันทร์, 4 มีนาคม 2013, 10:28AM
 

บทความเรื่อง การใช้ภาษาในการโน้มน้าวใจ

ควรใช้ภาษาในเชิงเสนอแนะ ขอร้อง วิงวอน หรือเร้าใจ ซึ่งในการใช้ถ้อยคำให้เกิดน้ำเสียงดังกล่าว จะต้องเลือกใช้คำที่สื่อความหมายตามที่ต้องการ โดยคำนึงถึง จังหวะและความนุ่นนวล ในน้ำเสียง

ลักษณะของสารโน้มน้าวใจ

1. คำเชิญชวน เป็นการแนะนำให้ช่วยกันกระทำการ อย่างใด อย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิด ประโยชน์ส่วนรวม มักจะพบในการเขียนคำขวัญ แถลงการณ์ เพลงปลุกใจ บทความปลุกใจ หรือการพูดในโอกาสต่าง ๆ ใบประกาศ แผ่นปลิว โปสเตอร์ หรือเป็นการบอกกล่าว ทางวิทยุ โทรทัศน์ ผู้ส่งสารจะบอกจุดประสงค์ อย่างชัดเจนและชี้ให้เห็นประโยชน์รวมทั้งบอกวิธี ปฏิบัติด้วย โดยโน้มน้าวให้เกิดความภาคภูมิใจว่าถ้าปฏิบัติตามคำเชิญชวนจะเป็นผู้ทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น การพูดปลุกใจให้ประชาชนรักชาติ พูดจูงใจให้ประชาชนออกไป ลงคะแนนเสียง เลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร พูดโน้มน้าวใจให้คนบริจาคโลหิต พูดโน้มน้าวใจ ให้คนซื้อสินค้า ที่ตนเองจำหน่าย พูดโน้มน้าวในใจให้ประชาชนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

2. โฆษณาสินค้า หรือ โฆษณาบริการ มีลักษณะดังนี้
2.1 ใช้ถ้อยคำที่แปลกใหม่ สะดุดหู สะดุดตา ผู้รับสาร
2.2 ใช้ประโยค หรือวลีสั้น ๆ ที่ทำให้ผู้อื่นรับรู้ได้อย่างฉับพลัน
2.3 เนื้อหาจะแสดงให้เห็นถึงคุณภาพอันดีเลิศของสินค้า หรือบริการ
2.4 ใช้กลวิธีโน้มน้าวใจโดยชี้ให้เห็นประโยชน์ของสินค้า
2.5 เนื้อหาของสารโฆษณามักขาดเหตุผลที่หนักแน่นรัดกุม
2.6 การนำเสนอสารใช้วิธีโฆษณาตามสื่อต่าง ๆ ซ้ำ ๆ หลายวัน

หลักในการเขียนโน้มน้าวใจ

หลักการเขียนโน้มน้าวใจควรคำนึงถึงหลักต่าง ๆ ดังนี้
1. การวิเคราะห์ผู้อ่าน ผู้เขียนจะต้องวิเคราะห์ผู้อ่านว่า มีลักษณะอย่างไร เช่น เพศ วัย การศึกษา อาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางสังคม และค่านิยม เป็นต้น การวิเคราะห์ผู้อ่านจะช่วย ให้ผู้เขียนสามารถกำหนด เนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอได้อย่างเหมาะสม

2. การใช้หลักจิตวิทยา ผู้เขียนจะต้องอาศัยหลักจิตวิทยาในการเขียนโน้มน้าวใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้เขียนต้องทำความเข้าใจธรรมชาติ ความสนใจ และความต้องการของผู้อ่าน ว่าน่าจะเป็น ไปในทิศทางใด แล้วจึงนำมาเป็นประโยชน์ในการเขียนโน้มน้าวใจต่อไป

3. การให้เหตุผล ผู้เขียนต้องพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดเห็นของตน เหตุผลที่นำมาอ้างนั้นควรน่าเชื่อถือ มีน้ำหนักเพียงพอ และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านเชื่อถือ และยอมรับ ตลอดจนมีปฏิกิริยาตอบสนองความต้องการของผู้เขียน
4. การใช้ภาษา ภาษาทีใช้ในการเขียนโน้มน้าวใจควรเป็นภาษาที่เร้าอารมณ์และความรู้สึกของผู้อ่าน ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องมีศิลปะในการใช้ภาษา คือ รู้จักเลือกสรรถ้อยคำที่สื่อความหมายได้ชัดเจน ก่อให้เกิดภาพ และกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน

การพูดโน้มน้าวใจ

การพูดโน้มน้าวใจเป็นพฤติกรรมการสื่อสารอย่างหนึ่ง คือ การใช้ความพยายามเปลี่ยนความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และการกระทำของบุคคลอื่น โดยใช้กลวิธีที่เหมาะสมให้มีผลกระทบใจบุคคล ทั้งโดยใช้วัจนภาษาและอวัจนภาษา จนเกิดการยอมรับและยอมเปลี่ยนตามที่ผู้โน้มน้าวใจประสงค์ หลักการสำคัญของการพูดโน้มน้าวใจ ได้แก่ การทำให้มนุษย์ประจักษ์ว่า ถ้าเชื่อและเห็นคุณค่า หรือทำตามที่ ผู้โน้มน้าวใจชี้แจงหรือชักนำแล้ว ก็จะได้รับผลที่ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของตนนั่นเอง แต่ตราบใดที่ความประจักษ์ชัดยังไม่เกิดขึ้น ก็ยังถือว่าการโน้มน้าวใจยังไม่สัมฤทธิ์ผล ดังนั้นผู้โน้มน้าวใจควรได้ตระหนักถึงประเด็นของการนำเสนอเหตุผลเพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจ เห็นความสำคัญและยอมรับการโน้มน้าวใจ

แหล่งที่มา http://www.ipesp.ac.th/learning/thai/chapter 6-3. html วันที่ 1 มีนาคม 2556

ผู้สรุป มิสรุ่งทิวา นาเมืองรักษ์ ตำแหน่ง บุคลากรทางการศึกษา