รูปภาพของวรนุช แนบพุดซา
การฝึกฝนตนเอง
โดย วรนุช แนบพุดซา - จันทร์, 4 มีนาคม 2013, 10:34AM
 

การฝึกฝนตนเอง โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

การฝึกฝนตนเองมีความสำคัญมากสำหรับบุคคลที่ต้องการเป็นนักบริหาร หรือ สำหรับบุคคลผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการทำงานและการดำเนินชีวิต ซึ่งหลักในการฝึกฝนตนเองที่ดี เราจะต้องมีการสำรวจตนเองหรือวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่า เรามีข้อดีข้อเสียอะไร และสิ่งใดบ้างที่เราต้องมีการแก้ไข ปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น หลักในการฝึกฝนตนเองมีหลายด้าน เช่น

การสร้างเป้าหมายในชีวิต , ความเป็นผู้ขยันขันแข็ง , ความเป็นผู้ที่เข้มแข็ง , ความเชื่อมั่นในตนเอง , ความเป็นผู้ตรงต่อเวลา , ความมีสุขภาพดี ฯลฯ

การสร้างเป้าหมายในชีวิต มีความสำคัญ สำหรับบุคคลที่ต้องการประสบความสำเร็จ ซึ่งบุคคลที่ต้องการประสบความสำเร็จจะต้องรู้จักตนเองก่อนว่า ตนต้องการสิ่งใด รักสิ่งใดมากที่สุด อยากที่จะเป็นอะไร อยากที่ต้องการประกอบอาชีพอะไร แล้วจึงเลือกทำสิ่งนั้น การสร้างเป้าหมายในชีวิต ไม่ควรทำแบบเพ้อฝัน การสร้างเป้าหมายในชีวิตที่ดี นักจิตวิทยาได้สอนไว้ว่า ให้เขียนเป้าหมายในชีวิตหรือหารูปภาพในสิ่งที่เราต้องการ อยากได้ อยากเป็น มาติดไว้เพื่อเตือนใจตัวเอง ก็จะทำให้เราไม่ลืมเป้าหมายนั้น อีกทั้งไม่ทำให้เราเดินทางออกนอกเส้นทางของเป้าหมายที่เราวางไว้ การจินตนาการถึงเป้าหมายที่ตัวเองต้องการก็มีความสำคัญ การจินตนาการจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น เราควรจะแบ่งเวลาในทุกๆวัน โดยจินตนาการถึงเป้าหมายบ่อยๆ

ความเป็นผู้ขยันขันแข็ง ความขยันขันแข็งเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับความเกียจคร้าน พวกเราคงเคยได้ยินนิทานเรื่อง เต่ากับกระต่าย ซึ่งมีการวิ่งแข่งกัน ผลปรากฏว่า เต่าเป็นผู้ชนะถึงแม้เต่าจะวิ่งช้ากว่ากระต่าย คนที่มีความขยันขันแข็ง ควรมีลักษณะเหมือนกับเต่า กล่าวคือ เป็นผู้ที่มีความสม่ำเสมอ ไม่ละความพยายาม ไม่เป็นคนใจร้อน ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรคต่างๆ มีอิทธิบาท 4 คือ มีฉันทะ การรักในสิ่งที่ตนเองทำ มีวิริยะ มีความพยายามพากเพียรในสิ่งที่ตนเองต้องการ มีจิตตะ มีการเอาใจใส่ต่องาน และมีวิมังสา มีการแก้ไข ไตร่ตรองในงานที่ทำ

ความเป็นผู้ที่เข้มแข็ง หนังสือเรื่อง “ มหาบุรุษ ” ของพลตรี หลวงวิจิตวาทการได้เขียนไว้ว่าคน ที่มีความเข้มแข็งมีลักษณะดังนี้ ไม่เป็นคนที่บ่นหรือร้องทุกข์ ไม่บอกความลับของตนเองหรือไม่ต้องการทราบความลับของผู้ใด ไม่ต้องการรู้ว่า ผู้อื่นจะคิดอย่างไรกับเรา เป็นคนที่มองโลกในแง่ดี สามารถนำสิ่งต่างๆที่ร้ายมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ และมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา

ความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นเรื่องของความคิด นักจิตวิทยาหลายท่านให้คำแนะนำไว้ว่าให้คิดใน แง่ดี เช่น ฉันทำได้ ฉันแข็งแรง ฉันเข้มแข็ง ฉันสุดยอด ฉันเป็นคนมีพลัง ฉันเชื่อมั่น ฯลฯ ความคิดจะทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง แต่ถ้าหากว่าเราคิดลบ ความคิดนั้นจะทำลายความเชื่อมั่นในตนเองได้ เช่นกัน เช่น คิดว่า ฉันทำไม่ได้ ฉันล้มเหลว เรื่องนี้มันเป็นไปไม่ได้หรอก ฯลฯ ฉะนั้น หากต้องการเป็นคนเชื่อมั่นในตนเอง เราจึงต้องมีการพัฒนาความคิดก่อนเป็นลำดับแรก ด้วยการเปลี่ยนเอาความคิดที่ทำลายความเชื่อมั่นออกไปแล้วใส่ความคิดในแง่ดีเข้าไปแทน

ความเป็นผู้ตรงต่อเวลา คนไทยเรามักมีปัญหาในเรื่องการต่อตรงเวลา เช่น การนัดหมาย การเข้าที่ทำงานสาย การส่งของให้แก่ลูกค้าไม่ตรงต่อเวลา ซึ่งแตกต่างกับประเทศแถวยุโรปหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศเหล่านั้น ประชาชนของเขามักมีนิสัยเป็นคนตรงต่อเวลา การสร้างนิสัยให้เป็นคนตรงต่อเวลา จึงต้องควรปลูกฝังตั้งแต่เด็ก และควรมีเครื่องมือช่วย ( Diary , ตารางการทำงาน , แผนงานประจำปี เดือน วัน , บันทึกช่วยจำ) คนที่มีนิสัยตรงต่อเวลา มักเป็นที่ชื่นชอบและชื่นชมของคนหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ร่วมงาน หัวหน้างาน ผู้ที่มาติดต่อ ลูกค้า

ความมีสุขภาพดี คนที่ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต มักเป็นคนที่มีสุขภาพดี จะมีประโยชน์อันใด หาก ว่าเราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ร่ำรวย มีอำนาจ แต่สุขภาพเราแย่ ป่วยเป็นโรค ไม่สามารถเดินได้ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เรามักเห็นภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศที่มีความกระตือรือร้น มีสุขภาพร่างกายที่ดี เราแทบจะไม่เห็นผู้นำประเทศคนใดที่ป่วยหนักแล้วเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งการจะทำให้สุขภาพดีนั้น เราควรปฏิบัติตนให้เหมาะสม เช่น การกินอาหารให้เพียงพอ มีประโยชน์ การออกกำลังกายที่เหมาะสม การพักผ่อนอย่างพอเพียงต่อร่างกาย

หลักในการฝึกฝนตนเองในข้อความข้างต้นมีความสำคัญ บุคคลที่ต้องการประสบความสำเร็จจึงต้องมีการพัฒนาตนเอง เรียนรู้ เพิ่มเติม จากหนังสือ จากแหล่งข้อมูลต่างๆ อีกทั้งจะต้องมีการฝึกปฏิบัติ และมีการตรวจสอบ ควบคุมกันอย่างจริงจัง คนที่ไม่ประสบความสำเร็จมักโทษสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่บุคคลที่ประสบความสำเร็จ มักเริ่มต้นที่การพัฒนาตนเองก่อน จึงทำให้เขาเป็นบุคคลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

แห่งที่มา http://www.oknation.net/blog/markandtony/ 2011/07/12/ entry- 1

ผู้สรุป มิสวรนุช แนบพุดซา ตำแหน่ง บุคลากรทางการศึกษา