รูปภาพของศราวุธ ชนะบำรุง
ระบบบริหารทรัพยากรองค์กร ERP (Enterprise Resource Planning)
โดย ศราวุธ ชนะบำรุง - พุธ, 6 มีนาคม 2013, 03:11PM
 

ระบบบริหารทรัพยากรองค์กร ERP (Enterprise Resource Planning)

ในยุคที่มีการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น เจ้าของธุรกิจหลายรายต้องดิ้นรนเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตน ตลอดจนการสร้างคุณค่า และลดต้นทุนการผลิต การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อช่วยบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กรให้เป็นไปอย่างประสิทธิภาพถือเป็นสิ่งที่บริษัทหลายบริษัทให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน หนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญนั่นก็คือ ระบบบริหารทรัพยากรองค์กร หรือ ERP

   ERP คืออะไร

ระบบบริหารทรัพยากรองค์กร หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า ERP (Enterprise Resource Planning) คือ ระบบการวางแผนทรัพยากรขององค์กร เป็นระบบที่ใช้ในการจัดการและวางแผนการใช้ทรัพยากรต่างๆ ขององค์กร โดยเป็นระบบที่เชื่อมโยงระบบงานต่างๆ ขององค์กรเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ระบบงานทางด้านบัญชี และการเงิน ระบบงานทรัพยากรบุคคล ระบบบริหารการผลิต รวมถึงระบบการกระจายสินค้า เพื่อช่วยให้การวางแผนและบริหารทรัพยากรขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดเวลาและขั้นตอนการทำงานได้อีกด้วย

   ERP ช่วยเพิ่มความสามารถให้กับบริษัทได้อย่างไร

ERP ได้แสดงถึงคุณค่าของมันเองได้เป็นอย่างดีในการเพิ่มประสิทธิภาพบริษัทของคุณในระบบการรับคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าจนถึงการออกใบสั่งซื้อ เก็บเงิน และขั้นตอนอื่นๆ ที่ช่วยเติมเต็มระบบการสั่งซื้อนี้ นี่คือเหตุผลว่าทำไม ERP ถึงเป็นผู้ช่วยที่คอยหนุนหลังการทำงานขององค์กรได้อย่างดี ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ช่วยการขายหน้าร้านหรือติดต่อกับลูกค้าโดยตรง แต่ ERP ได้จัดการกระบวนการการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้ามาทำกระบวนการต่อๆ ไปตามลำดับได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อตัวแทนขายได้ส่งคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาในระบบ ERP ซึ่งตัวแทนคนนั้นจะมีข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อปิดการสั่งซื้อให้เสร็จได้ ยกตัวอย่างเช่น สามารถดูยอดลูกหนี้การค้าหรือเครดิตของลูกค้า และยอดการสั่งซื้อที่ผ่านมาจากฝ่ายการเงินโดยเช็คจากโมดูลการเงิน ตรวจสอบสถานะของสินค้าคงคลังจากโมดูลคลังสินค้าและสามารถดูตารางรถขนส่งได้จากโมดูลลอจิสติกได้ นอกจากนี้ ERP ยังสามารถใช้กับงานอื่นของบริษัทได้อีก อาทิ ด้านสวัสดิการของพนักงานหรือแม้กระทั่งรายงานฐานะทางการเงินของบริษัท

การติดตั้ง ERP จะต้องใช้เวลานานเท่าไร

ถ้าหากบริษัทของคุณจะติดตั้งซอฟต์แวร์ ERP จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำการใช้ซอฟต์แวร์นั้นๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ระยะเวลาของการอบรมการใช้ซอฟต์แวร์จะอยู่ที่ประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่สั้นพอควร (ในความเป็นจริงแล้ว ระยะเวลา 6 เดือนนั้นก็ยังถือว่าสั้นมากต่อการทดลองใช้ 1 ซอฟต์แวร์) แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ในกรณีที่บริษัทค่อนข้างจะมีขนาดเล็ก หรือว่าใช้ซอฟต์แวร์นั้นๆ ในแผนกเล็กๆ หรือบางฝ่ายของบริษัทเท่านั้น หรือแม้กระทั่งใช้เฉพาะส่วนของบริษัท อาทิ ระบบการเงินของบริษัท เป็นต้น สิ่งที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่เวลาที่ใช้ในการติดตั้งหรืออิมพลีเมนต์โดยทั่วไปแล้วใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1-3 ปี แต่อยู่ที่ว่าคุณจะเข้าใจมันและจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของบริษัทคุณได้อย่างไร

 ERP จะช่วยแก้ไขและปรับปรุงบริษัทคุณได้อย่างไร

มีเหตุผลอยู่ 5 ประการที่บริษัทจะต้องอาศัย ERP เข้ามาช่วย

1. ช่วยรวบรวมข้อมูลทางการเงินของบริษัท เพื่อให้ประธานกรรมการบริหารเข้าใจถึงภาพรวมของฐานะทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริหารได้ โดย ERP จะเข้ามาช่วยรวบรวมข้อมูลชุดเดียวซึ่งจะตอบคำถามและข้อสงสัยทุกคนได้เพราะว่าทุกคนได้ใช้ระบบเดียวกัน

2. ERP ยังรวบรวมข้อมูลการสั่งสินค้าของลูกค้า ตั้งแต่การสั่งซื้อของลูกค้าผ่านตัวแทนขายจนกระทั่งถึงขั้นตอนของการส่งสินค้าและเก็บเงิน โดยจะทำให้บริษัทดำเนินการต่างๆ ได้ง่ายรวมถึงการสื่อสารกันระหว่างภายในได้ง่ายขึ้น และยังสามารถตรวจสอบสถานะการดำเนินงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นการประสานกันระหว่างกระบวนการตั้งแต่ การผลิตการเก็บรักษาสินค้า จนถึงการขนส่งสินค้าให้ลูกค้าไปยังที่หมายปลายทางที่ต่างกันในเวลาเดียวกันได้

3. สร้างมาตรฐานและเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการผลิต ซึ่งบริษัทผู้ผลิตที่ใช้ระบบต่างๆ กันสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารกันได้ โดยที่ ERP ได้เข้ามาช่วยสร้างมาตรฐานดังกล่าวในกระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอนโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ระบบเดียว ทำให้ประหยัดเวลา เพิ่มผลิตภาพการผลิตและลดต้นทุนต่อหน่วยได้เป็นอย่างดี

4. ลดภาระด้านสินค้าคงคลัง ERP จะช่วยให้กระบวนการผลิตเป็นไปอย่างราบรื่นและยังเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต ด้วยยอดการสั่งซื้อที่เป็นจริง ทำให้ช่วยลดสินค้าคงคลังได้ และยังช่วยในการวางแผนในการขนส่งสินค้าไปยังลูกค้าซึ่งจะช่วยลดสินค้าขั้นสุดท้ายในระบบคงคลังของการขนส่งได้เป็นอยางดี

5. ช่วยจัดและสร้างระบบมาตรฐานในเรื่องข้อมูลทางด้านบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัที่มีหลายหน่วยธุรกิจ ซึ่ง ERP จะสามารถขจัดปัญหาการสื่อสารเรื่องผลประโยชน์และบริหารไปยังพนักงานทุกคนได้

จะใช้ EPR จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าใด

เมื่อเร็วๆ นี้ เมต้ากรุ๊ปได้ทำการศึกษาถึงต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของ ERP ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการบริการอย่างมืออาชีพและรวมต้นทุนของพนักงานไว้แล้ว และต้นทุนรวมดังกล่าวได้รวมถึงตั้งแต่ติดตั้งโปรแกรมดังกล่าวจนถึงสองปีให้หลัง ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาระบบ การปรับปรุงให้ทันสมัยและเข้ากับการดำเนินงานของบริษัท

ซึ่งจากการสำรวจ 63 บริษัทซึ่งมีทั้งขนาดเล็กกลางถึงใหญ่พบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตกประมาณ 15 ล้านดอลลาร์ (สูงสุดอยู่ที่ 300 ล้านดอลลาร์ และต่ำสุดอยู่ที่ 400,000 ดอลลาร์) แต่ก็ยังเป็นการลำบากในการหาตัวเลขที่ใกล้เคียงมากที่สุดอยู่ดี จากการสำรวจก็พบว่ามีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะมากับ ERP ซึ่งมักจะประมาณไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกินกว่าที่คาดไว้จะเกิดขึ้นในกิจกรรมดังต่อไปนี้

* การฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายฝึกอบรมมักถูกประเมินไว้น้อยกว่าความเป็นจริงมากที่สุด โดยค่าใช้จ่ายด้านการฝึกหัดหรือฝึกอบรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ที่ใช้กระบวนการ ERP ยอมรับเกือบเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นมักมีการใช้จ่ายเกินงบมากที่สุด ค่าใช้จ่ายด้านนี้มักจะสูงเนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่จะต้องเรียนรู้กระบวนการใหม่ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทรับฝึกหัดพนักงานภายนอกจะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือด้านนี้ได้ บริษัทเหล่านี้มักมุ่งเน้นที่การสอนวิธีการใช้ซอฟต์แวร์ แต่ไม่ได้ให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับวิธีการทำธุรกิจ

* การรวมระบบและการทดสอบ การที่จะสร้างความเชื่อมโยงของ ERP ให้เข้ากับโปรแกรมอื่นๆ นั้นอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเกินจริงขึ้นมาอีก เนื่องจากจะต้องทำไปทีละกรณีๆ ไป ซึ่งรวมถึงการเพิ่มโมดูลหรือปรับปรุงโปรแกรมให้ทันสมัย ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมาอีก อาทิ การทดสอบการเชื่อมโยงโปรแกรม เป็นต้น

* ลักษณะเฉพาะทาง สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาจาก ERP ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากเนื่องจากบางโปรแกรมใช้กับบางกระบวนการของบริษัทไม่ได้ จำต้องพัฒนาหรือเพิ่มกระบวนการใหม่เข้าไปในโปรแกรม ซึ่งการจัดทำปรับปรุงเพิ่มเติมนี้มันจะต้องไปปรับเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างต่อเนื่องจากแต่ละโมดูลใน ERP จะเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้แล้วยังอาจต้องจ้างเจ้าหน้าที่มาดูแลโดยเฉพาะเนื่องจากตัวแทนขายจะไม่รับผิดชอบนอกเหนือจากที่ตกลงกันเท่านั้น

* การแปลงข้อมูล การเคลื่อนย้ายหรือแปลงข้อมูลของบริษัท เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบใหม่ ERP ซึ่งโดยทั่วไปแล้วบริษัทส่วนใหญ่จะนึกไม่ถึงว่าการเคลื่อนย้ายหรือแปลงข้อมูลเพื่อเข้าสู่ระบบใหม่จะมีค่าใช้จ่ายมากมายขนาดนั้น แต่การชำระหรือแปลงข้อมูลก็เป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำสำหรับบริษัทที่คิดจะใช้ ERP อยู่ดี

* การวิเคราะห์ข้อมูล บ่อยครั้งที่ข้อมูลจากระบบ ERP จะถูกรวมกับข้อมูลจากระบบภายนอกเพื่อการวิเคราะห์ ปกติแล้วจะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วนของคลังข้อมูลไปในค่าติดตั้ง ERP ด้วย และจำเป็นสำหรับการทำให้ระบบดำเนินไปอย่างไหลลื่นมากขึ้น การปรับปรุงข้อมูลในคลังข้อมูลทุกวันคงเป็นเรื่องที่ยากและอาจทำให้ ERP ลดประสิทธิภาพการทำงานลง ฉะนั้นการติดตั้งโปรแกรมเฉพาะทางจะช่วยและวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละวันได้ แต่อาจต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอีกมาก

* ค่าที่ปรึกษา เมื่อผู้ใช้โปรแกรมหรือบริษัทไม่ได้วางแผนไว้ว่าจะเลิกพึ่งที่ปรึกษาเมื่อใดนั้น บริษัทควรที่จะตั้งเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ให้กับที่ปรึกษาในการฝึกอบรมหรือให้คำแนะนำพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดเป้าหมายของจำนวนผู้ใช้โปรแกรมที่ต้องผ่านการทดสอบหลังการอบรม เป็นต้น * การสูญเสียมือดีไป การทำ ERP ให้สำเร็จนั้น บางครั้งอาจต้องจัดพนักงานที่ดีและเก่งที่สุดจากแผนกธุรกิจและสารสนเทศเข้าประจำโครงการ ERP เนื่องจากโปรแกรมดังกล่าวมีความซับซ้อนและสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ข่าวร้ายก็คือเมื่อจบโครงการนี้ไปแล้ว บางครั้งจะต้องมีการสับเปลี่ยนพนักงาน และที่สำคัญอาจทำให้บริษัทที่ปรึกษาหลายแห่งพยายามแย่งตัวคนเหล่านี้ด้วยค่าตอบแทนที่คุณไม่สามารถให้คนเหล่านี้ได้ ทำให้คุณต้องเสียคนเหล่านี้ไปในที่สุด

* การอิมพลีเมนต์ที่ไม่รู้จบ บริษัทส่วนใหญ่มักจะทำการอิมพลีเมนต์ ERP เหมือนกับโปรแกรมอื่นๆ โดยเมื่อติดตั้งระบบ ERP เสร็จ จะให้พนักงานกลับไปทำงานหน้าที่เดิม แต่สำหรับ ERP แล้วไม่เป็นอย่างนั้น เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีค่าและความสามารถเกินกว่าที่จะกลับไปทำงานเดิมได้ เพราะว่าคนเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญในระบบ และเป็นการยากที่บริษัทจะส่งพวกเขาเหล่านั้นกลับไปทำงานเดิม เนื่องจากงาน ERP หลังการติดตั้งนั้นมีมากกว่าที่คิดกัน แค่การเขียนหรือจัดทำรายงานจากข้อมูลที่ได้จากระบบ ERP นั้นก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งปีแล้ว ยังไม่นับขั้นตอนการวิเคราะห์ประมาณการณ์ว่าจะทำให้บริษัทได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นจำนวนเท่าใด จึงทำให้บางครั้งอาจต้องมีการขอกำลังคนหรืองบประมาณเพิ่มอย่างเร่งด่วนหลังจากการเปิดใช้ระบบซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ผลตอบแทนคืนมา

* การนั่งรอผลตอบแทนที่ได้จากการใช้ ERP สิ่งหนึ่งที่บริษัทเข้าใจผิด คือคิดว่าบริษัทจะได้รับผลตอบแทนกลับมาทันทีเมื่อติดตั้งระบบเสร็จ ในขณะที่ทีมอิมพลีเมนต์อยากหยุดงานนี้พร้อมกับรับค่าตอบแทนแทบจะทันที ดังนั้นหากจะเลือกใช้ ERP แล้วจะต้องเข้าใจว่าระบบจะให้ผลตอบแทนหลังจากใช้งานไประยะหนึ่ง และบางครั้งผลตอบแทนอาจจะกลับมาในรูปของผลการดำเนินงานมากกว่าเม็ดเงิน

ทำไมโครงการติดตั้ง ERP ถึงล้มเหลวบ่อยครั้ง

โดยทั่วไปแล้วดูเหมือนว่า ERP จะเป็น best practice ที่ดีที่สุดของการดำเนินงาน ซึ่งประกอบไปด้วยหน้าที่ที่ต่างกันภายในแต่ละบริษัท เพื่อที่บริษัทจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจาก ERP บริษัทต้องให้พนักงานปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เข้ากับโปรแกรมซึ่งหากมีพนักงานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นถึงความจำเป็นในการใช้ ERP และไม่นำไปใช้งาน จุดนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทประสบความล้มเหลวในการใช้ ERP ได้ นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนโปรแกรมเพื่อให้เข้ากับระบบการทำงานเดิมของบริษัทจะทำให้ต้องจ่ายเพิ่มในการปรับโปรแกรมในราคาที่แพงขึ้นแล้ว โปรแกรมที่มีการปรับเปลี่ยนไปอาจไม่เสถียรพอและอาจดูแลได้ยากเมื่อมีการเปิดใช้ระบบ แต่โดยทั่วไปแล้วแผนกไอทีส่วนใหญ่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที อีกทั้งบริษัทขนาดใหญ่บางบริษัทพยายามหลีกเลียงที่จะปรับเปลี่ยน ERP ให้เข้ากับระบบงานของตนเอง จึงสันนิษฐานกันว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในบริษัทต่างๆ ในการที่จะเปลี่ยนแปลงการทำงานของพนักงานมากกว่า ซึ่งหากเกิดการต่อต้านขึ้นในบริษัทอาจส่งสัญญาณถึงความล้มเหลวออกมาแล้ว

erp

แหล่งที่มา 
-http://www.arip.co.th/articles.php?id=406842
-https://www.google.co.th/search?hl=th&q=erp&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.r_qf.&bvm=bv.43287494,d.bmk&biw=1517&bih=741&um=1&ie=UTF-8&tbm=isch&source=og&sa=N&tab=wi&ei=Wvk2UaruG43krAfFo4HwBw#imgrc=NzBHnUn7u5ODxM%3A%3BAlOR7v18o27MrM%3Bhttp%253A%252F%252F2.bp.blogspot.com%252F_DC6mzSOdwfc%252FTDF3bG_y7aI%252FAAAAAAAAAFs%252FBelXTN-YPBk%252Fs1600%252FERP_Circle.jpg%3Bhttp%253A%252F%252Fsiyuandus.blogspot.com%252F2010%252F07%252Ferp.html%3B395%3B344