รูปภาพของชัญญานุช บางปา
ซื้ออะไรให้สมองลูกดี
โดย ชัญญานุช บางปา - พฤหัสบดี, 7 มีนาคม 2013, 11:02AM
 
สมมติว่า เรามีงบ 1 หมื่นบาทสำหรับซื้อของเล่น หรืออุปกรณ์พัฒนาฝึกสมองให้กับลูก เราจะซื้ออะไรดี

“จะซื้อของเล่นอะไรให้ลูกดี ลูกถึงจะเป็นอัจฉริยะ” อันดับแรกเราคงต้องย้อนกลับไปดูนิยามคำว่า อัจฉริยะ ของแต่ละคนกันก่อน เพราะเราแต่ละคนมีนิยามคำนี้ไม่เหมือนกันแน่ๆ ก็คล้ายๆ กับคำว่า “รัก” แต่ละคนก็นิยามแตกต่างกันไป ถ้าจะเอามาเปรียบเทียบกันได้ ก็ต้องให้แน่ใจก่อนว่า เรานิยามเหมือนๆ กัน

คำนิยามนั้นอยู่ในหนังสือ “อัจฉริยะสร้างได้” นั่นก็คือ อัจฉริยภาพของคนมีหลายด้าน และทุกคนมีแล้วในตัว ปัญหาคือ สำหรับหลายๆ คน มันซ่อนอยู่และไม่โชว์ตัวออกมาเป็นศักยภาพที่จับต้องได้เสียที
ตรงนี้ล่ะที่พ่อแม่และโรงเรียนจะต้องมีบทบาทเข้ามาพัฒนาเด็กๆ ร่วมกัน เพื่อให้เขาแสดงออกมาให้กับโลกภายนอกมองเห็นได้

“อัจฉริยภาพ” คือ ความสามารถในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาระดับเด็กๆ ที่แย่งของเล่นกัน หรือปัญหาระดับชาติ สิ่งนี้พัฒนาไปตามวัย และปัญหาก็ยากง่ายซับซ้อนขึ้นไปตามอายุของเราที่โตขึ้นมา

ดังนั้น การเลือกของเล่นพัฒนาสมอง มีกฎหลักๆ 3 ข้อ

1. พ่อแม่ คือของเล่นราคาแพงที่สุดของลูก หากของเล่นชิ้นไหน พ่อแม่เล่นด้วยได้ พูดคุยสอนลูกไปด้วยได้ ของเล่นชิ้นนั้นจะนับว่าได้คะแนนสูง

2. ของเล่นต้อง “ไม่คิดมาให้เด็กแล้วทั้งหมด” นั่นก็คือ หากเป็นของเล่นที่ซับซ้อน มีการคิดกระบวนการเล่นไว้แล้วเสร็จสรรพ เด็กไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เล่นไปให้จบตามที่คนออกแบบของเล่นกำหนดไว้ ก็เพียงพอแล้ว อันนี้ ไม่สนับสนุนค่ะ เพราะจะเป็นการฝึกให้ลูกเราไม่ต้องคิด ฝึกให้เป็นผู้ตามอย่างเดียว ของเล่นมันสร้างสรรค์เกินจนกลายเป็นผู้นำของเด็กโดยไม่เจตนา
สังเกตว่า ของเล่นแพงๆ มักอยู่ในกลุ่มนี้ค่ะ แถมมักจะเป็นกลุ่มเสียบปลั๊กใช้ไฟฟ้าด้วย เช่น เกมวิดีโอต่างๆ หรือเกมที่มีการเริ่มต้น กลาง จบที่ชัดเจน

3. ระลึกไว้เสมอว่า ของเล่นที่ดีคือ “เป็นของเล่นแค่ 10% ส่วนอีก 90% ต้องเป็นจินตนาการของลูก” เพราะจะฝึกให้เด็กได้ออกแบบวิธีเล่นเอง คิดและสร้างสรรค์เอง ของเล่นประเภทนี้จะดูบ้านๆ มาก ราคาไม่แพง เช่น กิ่งไม้ ใบตอง เครื่องครัวดินเผา ม้าก้านกล้วย สาคู ถ้วยตวง หุ่นนิ้วมือ หุ่นมือ โรงหุ่นทำจากลังกระดาษ ลังกระดาษเปล่าๆ ฯลฯ หรือถ้าจะเล่นให้หรูขึ้นมาหน่อย ก็คือ ไม้บล็อคแบบไม้จริง ซื้อมาหลายๆ เซ็ตแล้วให้ห้องเด็กเป็น “ห้องบล็อค” ไปห้องหนึ่งเลย ไม่ต้องรื้อแต่ให้เขาสร้างเพิ่มไปเรื่อยๆ

ไม้บล็อคช่วยสร้างกระบวนการคิดหลายอย่าง โดยเฉพาะทักษะคณิตศาสตร์ เด็กที่เล่นบล็อคมาเยอะจะเข้าใจคอนเซปต์คณิต โดยเฉพาะเรื่องรูปทรงและปริมาตรเร็วมากจนน่าทึ่ง อีกสิ่งที่เล่นได้ดีไม่แพ้บล็อคคือ เลโก้ ต้องขอคารวะคนคิดค่ะ วิธีการเลือกง่ายดาย ยิ่งเด็กอายุน้อยเท่าไร ยิ่งต้องเลือกของเล่น หรือพู่กัน ดินสอ แปรง ที่อันใหญ่ขึ้นเท่านั้น เพราะกล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรง ดังนั้น มีบล็อคและเลโก้เท่านั้น ที่เป็นของแพงแล้วมาอยู่ใน Category ของเล่นที่น่าเลือกลงทุน


นี่คือ คำแนะนำสำหรับเด็กเล็กในวัยอนุบาล ซึ่งในการพัฒนาสมองเด็กวัยนี้ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ไม่ควรให้เด็กมาเล่นเกมในมือถือของพ่อแม่ อย่าเห็นว่าน่ารักหากลูกวัยอนุบาลรับมือกับหน้าจอเป็น เล่นเกมนี้เกมนั้นได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะหน้าจอกับเด็กเล็กไม่ใช่สิ่งที่คู่ควรกัน สมองของเด็กจำเป็นต้องได้เรียนรู้จากของ “สามมิติ” คือ จับต้องได้ มีรูปทรง ไม่ใช่ของในหน้าจอ

ส่วนวัยพี่ประถมนั้น หากมีงบ 1 หมื่น จะลงทุน “ซื้อหนังสือ” แน่นอนว่า ในปัจจุบัน เราดาวน์โหลดในหน้าจอได้ แต่การอ่านหนังสือจากหน้าจอนั้นทำร้ายดวงตากว่าที่เราคิด แม้จะมีการโฆษณาว่า หน้าจอรุ่นใหม่ถนอมสายตาอย่างไรก็ตาม คนขายของก็ต้องบอกว่า ของเขาดีอยู่แล้ว สิ่งใดก็ตามที่ไม่ได้รับการพิสูจน์โดยงานวิจัยต่อเนื่องเกิน 10 ปีขึ้นไป ก็ขอไม่เชื่อถือไว้ก่อน เพราะไม่อยากเป็นหนูทดลอง


วันนี้ หากเราเป็นพ่อแม่วัยอนุบาล ลองมองหาของเล่นที่เป็นของเล่นแค่ “10%” ดูนะคะ ส่วนพี่ประถม หากพ่อแม่มีงบไม่เกิน 1 หมื่นก็มองหนังสือดีๆ เป็นตัวเลือกแรกๆ แล้วคุณจะไม่ผิดหวังค่ะ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์