ดนตรีเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาพร้อม ๆ กับชีวิตมนุษย์โดยที่มนุษย์เองไม่รู้ตัว ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์มีความสุข สนุกสนานรื่นเริง ช่วยผ่อนคลายความเครียดทั้งทางตรงและทางอ้อม ดนตรีเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจของมนุษย์ให้มีความเบิกบานหรรษาให้เกิดความสงบและพักผ่อน กล่าวคือในการดำรงชีพของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายดนตรีมีความเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจสืบเนื่องมาจากความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ โดยตรงหรืออาจเกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงประกอบในการทำงาน เพลงที่เกี่ยวข้องในงานพิธีการ เพลงสวดถึงพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น
ดนตรีเป็นศิลปะที่อาศัยเสียงเพื่อเป็นสื่อในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ไปสู่ ผู้ฟังเป็นศิลปะที่ง่ายต่อการสัมผัส ก่อให้เกิดความสุข ความปลื้มปิติพึงพอใจให้แก่มนุษย์ได้ นอกจากนี้ได้มีนักปราชญ์ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ดนตรีเป็นภาษาสากลของมนุษยชาติ เกิดขึ้นจากธรรมชาติและมนุษย์ได้นำมาดัดแปลงแก้ไขให้ประณีตงดงามไพเราะเมื่อฟังดนตรีแล้วทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ” นั้นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราได้ทราบว่ามนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดภาษาใดก็สามารถรับรู้อรรถรสของดนตรีได้โดยใช้เสียงเป็นสื่อได้เหมือนกัน
มีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่ตั้งคำถามว่า “ดนตรีคืออะไร” แล้ว “ทำไมต้องมีดนตรี” คำว่า “ดนตรี” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “เสียงที่ประกอบกันเป็นทำนองเพลง เครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดังทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศกหรือรื่นเริง” จากความหมายข้างต้นจึงทำให้เราได้ทราบคำตอบที่ว่าทำไมต้องมีดนตรีก็เพราะว่าดนตรีช่วยทำให้มนุษย์เรารู้สึกเพลิดเพลินได้
คำว่า “ดนตรี” มีความหมายที่กว้างและหลากหลายมากนอกจากนี้ยังมีการนำดนตรีไปใช้ประกอบในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยเช่น การใช้ประกอบในภาพยนต์ เนื่องจากดนตรีนั้นสามารถนำไปเป็นพื้นฐานในการสร้างอารมณ์ลักษณะต่าง ๆ ของแต่ละฉากได้ พิธีกรรมทางศาสนาก็มีการนำดนตรีเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยจึงทำให้มีความขลัง ความน่าเชื่อถือ ความศรัทธา มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ดนตรีบางประเภทถูกนำไปใช้ในการเผยแพร่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มคนหรือเชื้อชาติ บางครั้งมนุษย์เราใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการแยกประเภทของมนุษย์ออกเป็นกลุ่ม ๆ เช่น วัยรุ่นในเมืองก็จะชอบฟังเพลงที่มีจังหวะหรือทำนองสนุก ๆ ครื้นเครงความรักหวานซึ้งส่วนวัยรุ่นที่อยู่ในชนบทก็มักจะชอบฟังประเภทเพลงเพื่อชีวิต เพลงลูกทุ่ง วัยหนุ่มสาวก็ชอบเพลงทำนองอ่อนหวานที่เกี่ยวกับความรัก สำหรับผู้ใหญ่ก็มักจะชอบฟังเพลงที่มีจังหวะหรือทำนองที่ฟังสบาย ๆ และชอบฟังเพลงที่คุ้นเคย
มนุษย์เราใช้ดนตรีเป็นเครื่องกระตุ้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการขับรถ การเรียน การวิ่งเหยาะ ๆ ออกกำลังกาย เป็นต้น ที่กล่าวมาข้างต้นการใช้ดนตรีเหล่านี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือใช้ดนตรีเป็นส่วนประกอบในการทำร่วมกับกิจกรรมนั้น ๆส่วนจุดมุ่งหมายอื่นๆเป็นเรื่องรองลงมาก่อนที่จะมาเป็นดนตรีให้เราได้ยินได้ฟังกันจนกระทั่งปัจจุบันนี้มนุษย์ได้คิด ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาแล้วไม่น้อยกว่าพันปีดังนั้นดนตรีจึงถือได้เป็นสิ่งที่มีมาคู่กับมนุษย์เลยก็ว่าได้
มีดนตรีชนิดหนึ่งซึ่งแตกต่างจากที่ได้กล่าวมาแล้วซึ่งต้องใช้สติปัญญาสมาธิ ความตั้งใจในการฟังดนตรีชนิดนี้เรียกว่า “ดนตรีคลาสสิก” (Classical Music) ส่วนใหญ่มนุษย์ฟังดนตรีประเภทนี้ฟังเพราะความพอใจและความรู้สึกสนุกสนานในการฟังไม่มีเหตุผลหรือจุดมุ่งหมายใด ๆมนุษย์จำนวนมากไม่เข้าใจว่าดนตรีสำคัญอย่างไร ดนตรีจะมีค่าได้อย่างไรในเมื่อเราไม่สามารถใช้มันเพื่อทำอะไรได้เลยเพราะดนตรีเป็นการสื่อในลักษณะของนามธรรม โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เราเข้าใจว่าสิ่งของส่วนใหญ่สำคัญเพราะเราจำเป็นต้องใช้มันในลักษณะของรูปธรรม แต่สำหรับดนตรีและงานศิลป์อื่น ๆ เช่น ภาพเขียน รูปปั้น ประติมากรรม บทกวี วรรณคดี ฯลฯ มีเพียงกลุ่มคนที่สนใจจริง ๆ เท่านั้นที่จะเข้าใจและซาบซึ้ง เพราะความสำคัญของสิ่งเหล่านั้นเป็นไปในแง่ของจิตวิทยา ไม่ใช่ในแง่ของการปฏิบัติ
เพราะเหตุใดมนุษย์เราจึงต้องสร้างสิ่งดังกล่าวขึ้นมาซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น การประเมินคุณค่าจำเป็นต้องใช้สติปัญญาและความพอใจของคนคนนั้นจึงจะรู้คุณค่า นอกจากนี้ไม่มีใครรู้แน่นอนว่าความพอใจมีมาตรฐานของการวัดอย่างไร ถึงแม้ว่าจะมีทฤษฎีที่น่าสนใจมากมายสำหรับศึกษาเปรียบเทียบ อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่แน่นอนที่สุดคือ การแสดงออกเหล่านี้เป็นสิ่งที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์ เพราะสัตว์ไม่มีดนตรี ไม่มีความงามทางศิลป์ ฯลฯนอกจากนี้แล้วมนุษย์ยังแตกต่างจากสัตว์ตรงคำว่า “การดำรงอยู่” (Exist) และ “การดำรงชีวิต” (Live) มนุษย์เราไม่ต้องการเพียงแต่เพื่อดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น แต่มนุษย์เรายังมีความต้องการสิ่งอื่น ๆ เช่น อยากรวยมากขึ้น อยากมีรถหรู ๆ ขับ อยากมีบ้านสวย ๆ อยู่ อยากมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามสัตว์ไม่ได้มีความต้องการอยากจะได้เช่นเดียวกับมนุษย์