รูปภาพของลัดดาวัลย์ พึ่งทอง
สัมผัสชีวิต...สัมผัสเด็กกลุ่มปัญญา
โดย ลัดดาวัลย์ พึ่งทอง - ศุกร์, 19 เมษายน 2013, 08:34AM
 

      “แม่มาแล้ว!………พี่ ๆ อัสสัมมาแล้ว!” เสียงเล็ก ๆ ที่ส่งมาพร้อมกับใบหน้าเปื้อนยิ้มของเด็ก ๆ กลุ่มใหญ่ที่วิ่งกรูเข้ามา ทันทีที่รถเบนซ์(6ล้อ) แล่นเข้ามาในเขตโรงเรียน 

 เมื่อรถจอดเข้าที่เรียบร้อย ยังไม่ทันที่จะก้าวลงจากรถ เด็ก ๆ วิ่งมาเปิดประตูให้พร้อมกับส่งเสียงทักทายจ้าละหวั่น และเชื่อหรือไม่ว่า เราต้องทักทายเด็ก ๆ ให้ครบทุกคน (เพื่อไม่ให้เค้ารู้สึกเสียใจ) ความรู้สึกขณะนั้นบอกฉันว่า “นี่ฉันเป็นซุปตาไปแล้วหรือ? พวกดาราที่ไปออกงานตาม อีเว้นท์ต่าง ๆ คงรู้สึกเช่นนี้กระมัง”  หลงไหลอยู่ในภวังค์ได้ไม่นาน ฉันก็ต้องรีบตื่น และบอกให้พี่ ๆ ม.6 ที่มาด้วยร่วมกิจกรรมสัมผัสชีวิต ลงจากรถแล้วนำอุปกรณ์ อันประกอบด้วย ขนม เครื่องดื่ม ตุ๊กตา เสื้อผ้า และอุปกรณ์สำหรับเล่นเกมต่างๆ ไปที่ลานจัดกิจกรรมของโรงเรียนโดยด่วน

 กิจกรรมที่ฉันพานักเรียนออกมาจัดนี้ เราเรียกว่า “กิจกรรมสัมผัสชีวิต” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสอนให้นักเรียนของเรามีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่าง  ดังนั้นสถานที่ที่ฉันเลือกจัดให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คือ โรงเรียนนครราชสีมาปัญญานุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาให้กับเด็ก 2 ประเภทคือ 1) เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน (กลุ่มภาษามือ) และ 2) เด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง (กลุ่มปัญญา) ซึ่งเราก็ได้รับการตอบรับการเข้าร่วมกิจกรรมจากทางโรงเรียนเป็นอย่างดี โดยเด็กที่จะเข้าร่วมกิจกรรมกับเราคือ เด็กกลุ่มปัญญา ซึ่งมีตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ประมาณ 75 คน

 เนื่องจากนักเรียนชั้น ม.6 ของเรามีจำนวนมาก และเราต้องการให้นักเรียนทุกคนได้รับ ประสบการณ์ตรงจากการร่วมกิจกรรม ดังนั้นจึงได้จัดตารางให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นห้อง ออกไป จัดกิจกรรมสัปดาห์ละ 2 วัน จนครบทั้ง 8 ห้อง และเมื่อพี่ ๆ ม.6 ทราบว่าจะไปจัดกิจกรรมให้กับน้อง ๆ (กลุ่มปัญญา) ต่างก็ตื่นเต้นดีใจมาก และวางแผนในการจัดกิจกรรมอย่างเต็มที่ ซึ่งจะต้องเตรียมแบ่ง หน้าที่รับผิดชอบ เตรียมเกม (ที่เหมาะกับน้อง ๆ) จัดหาอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในแต่ละเกม การจัดลำดับเกมก่อนหลัง และแม้กระทั่งการซ้อมเล่นเกม การเตรียมแผนสำรองหากไม่สามารถคุมเกมได้ (เนื่องจากเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นเด็กพิเศษที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงตามอารมณ์ของเด็กแต่ละคน) และการวางแผนจัดเตรียมขนมและเครื่องดื่มที่จะนำ ไปแจกน้อง ๆ เป็นต้น

 และทุกครั้งที่รถของเราแล่นผ่านเข้าประตูโรงเรียน ก็จะพบบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกว่า เด็ก ๆ (กลุ่มปัญญา) เค้ารอคอยการมาเยือนของพี่ ๆ อัสสัม ทั้งวิ่งมารับ ทั้งกอด จูงไม้จูงมือเข้าไปในลานจัดกิจกรรม ซึ่งจากการสังเกต พบว่า พี่ ๆ ม.6 จะค่อนข้างกลัวในระยะแรก เราซึ่งเป็นครู จะต้องทำให้เป็นตัวอย่าง ว่าเด็กไม่ได้น่ากลัวอย่างที่(คนทั่วไป)คิด เราสามารถกอดได้ พูดคุยได้ ถึงแม้ว่า เด็กบางคนมีลักษณะการพูดออกเสียงที่ไม่ชัด และไม่เป็นประโยค แต่เมื่อเรา “เปิดใจ” และรับฟัง เราก็สามารถเข้าใจและสื่อสารกับเด็กเหล่านั้นได้รู้เรื่องอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อพี่ ๆ ม.6 เห็นตัวอย่างจากเรา เค้าก็ปฏิบัติตาม และสามารถปรับตัวเข้ากับน้องได้ในที่สุด

กิจกรรมแต่ละห้อง ดำเนินไปอย่างสนุกสนาน นักเรียนได้รับประสบการณ์จากการจัดกิจกรรม ที่แตกต่างกัน บางห้องประสบผลสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ บางห้องแม้จะล้มเหลวในการนำเล่นเกม (สังเกตจากน้อง ๆ หลับบ้าง ไม่สนใจบ้าง) แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่นักเรียนกล้าที่จะพูดคุยและเล่นกับน้องโดย ไม่แสดงความรังเกียจ บางคนยอมให้น้องหนุนตัก อุ้มน้องเล่นเกม ได้สนุก ได้หัวเราะ และบางคน ถึงกับมีน้ำตา หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ทุกคนต่างมีความสุข อิ่มเอมใจ และโบกมือลาด้วยรอยยิ้ม น้อง ๆ มาส่งพี่ที่รถ ร่ำลากันเป็นเวลานานทีเดียว 

นักเรียนหลายคนถามว่า ทำไมถึงเลือกมาจัดกิจกรรมที่ โรงเรียนแห่งนี้ (กับนักเรียนกลุ่มปัญญา) ฉันถามกลับไปว่า ถ้านักเรียน พบเห็นคนที่มีลักษณะนี้ ตามท้องถนน นักเรียนกล้าที่จะเข้าไปพูดคุย ด้วยหรือไม่ หลายคนตอบว่า “ไม่กล้า”  แน่นอนว่าในนั้นก็มีฉันด้วย เช่นกัน ทุกคนมองว่าคนกลุ่มนี้มีลักษณะที่เป็นอันตราย และได้รับการ ปลูกฝังว่า “ไม่ควรเข้าใกล้” แต่ในความเป็นจริง คนเหล่านี้ไม่ได้มี ความน่ากลัวเสมอไป  เมื่อนักเรียนได้มาสัมผัสและได้พูดคุย จะพบว่า น้องหลายคนมีลักษณะเหมือน คนปกติทั่วไป แต่สังคมไม่ให้โอกาสเค้า ไม่มีใครอยากพูดคุย หรือรับฟังในสิ่งที่พวกเค้าต้องการเล่า สิ่งที่พวกเค้า พบเจอในโลก(จินตนาการ)ของเค้า  การที่นักเรียนได้มาจัดกิจกรรม จึงถือเป็นโอกาสดีในชีวิต ที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจถึงความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และพร้อมที่จะช่วยเหลือพวกเค้าเมื่อมีโอกาส

และท้ายที่สุด ฉันบอกกับนักเรียนและบอกกับตัวเองว่า “เรา เกิดมาโชคดี มีร่างกายสมบูรณ์ อยู่ในสังคมที่ดี ครอบครัวดี ดังนั้น จงภูมิใจและปฏิบัติตนเป็นคนดี ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยการเป็นนักเรียนที่ดี เป็นลูกที่ดี เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม และไม่ลืมที่จะเสียสละ แบ่งปัน เอื้ออาทร และให้โอกาสกับผู้ที่อ่อนแอ และด้อยโอกาสกว่าเรา”

            …มิสลัดดาวัลย์  พึ่งทอง…