ทำเนียบอธิการ โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา

ทำเนียบอธิการ


.:: พ.ศ. 2509-2511 อธิการซีเมออน เปอร์ติโต ::.

สังฆมณฑลจังหวัดนครราชสีมา มุขนายกอาแลง วังกาแวร์ เชิญภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ให้มาเปิดโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2510 ยกที่ดินให้ 51 ไร่ 26.5 ตารางวาโดย ภราดาซีเมออน เปอร์ติโต เป็นอธิการคนแรก เปิดสอน 8 ห้องเรียน มีครู 13 คน และนักเรียน 330 คน

.:: พ.ศ. 2512-2514 อธิการอารมณ์ วรศิลป์ ::.

ขยายชั้นเรียนมาเป็น 21 ห้องเรียน มีครู 25 คน และนักเรียน 684 คน และ มีการก่อสร้างโรงอาหารเสร็จสมบูรณ์และเริ่มก่อสร้างอาคารเรียนที่ 2 (อาคารคาเบรียล)

.:: พ.ศ. 2515-2518 อธิการ ดร.เลอชัย ลวสุต ::.

ขยายชั้นเรียนเป็น 28 ห้อง มีครู 40 คนและนักเรียน 1,092 คน ได้สร้างอาคารเรียนที่ 2 (อาคารคาเบรียล) จนเสร็จสมบูรณ์

.:: พ.ศ.2519-2523 อธิการ อรุณ เมธเศรษฐ ::.

ขยายการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และขยายห้องเรียนเป็น 42 ห้องเรียน มีครู 55 คน และนักเรียน 1,537 คน

.:: พ.ศ. 2524-2529 อธิการสุรสิทธิ์ สุขชัย ::.

ขยายนักเรียนครบทุกระดับชั้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต่อมาในปี 2526 เริ่มรับสมัครนักเรียนหญิง ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีนักเรียน 2,160 คน ครู 94 คนและได้ก่อสร้างอาคารสัพพัญญู จำนวน 5 ชั้น

.:: พ.ศ. 2530-2531 อธิการวิจารณ์ แสงหาญ ::.

ขยายระดับการศึกษาในระดับอนุบาล และรับสมัครนักเรียนหญิงและชายทุกระดับชั้น เป็นโรงเรียนสหศึกษาสมบูรณ์แบบและครบสายสามัญศึกษา มีนักเรียน 1,566 คน ครู 87 คน

.:: พ.ศ. 2532-2536 อธิการ ดร.วินัย วิริยวิทยาวงศ์ ::.

เป็นยุคบูรณะซ่อมแซม มีการก่อสร้างอาคารรุ่น 5 โดยศิษย์เก่ารุ่นที่ 5 และ ปีการศึกษา 2534 ได้ก่อสร้างอาคารเรียนสำหรับนักเรียนก่อนประถมศึกษา (อาคารหิรัญสมโภช) มีนักเรียน 1,316 คน ครู 75 คน

.:: พ.ศ. 2537-2539 อธิการบัญญัติ โรจนารุณ ::.

พัฒนาด้านอาคารสถานที่ และสร้างบรรยากาศที่ร่มรื่นน่าอยู่ให้กับนักเรียน โดยเน้นความสะอาดมีระเบียบ พัฒนาด้านการเรียนการสอน โดยเฉพาะทางด้านภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ กีฬาและดนตรี ได้จ้างครูชาวต่างประเทศมาสอนตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม และ ปวช. มีนักเรียน 1,976 คน ครู 115 คน

.:: พ.ศ. 2540-2546 อธิการ ดร.อาทิพย์ สอนสุจิตรา ::.

มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ทั้งในด้านการเรียนการสอน และด้านพัฒนาบุคลากร รวมทั้งพัฒนาด้านอาคารสถานที่ เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพมาตรฐาน ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการศึกษาจาก สช. เน้นการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ/ภาษาจีน) และโครงการนักกีฬาช้างเผือก มีนักเรียน 2,207 คน ครู 162 คน

.:: พ.ศ. 2547-2549 อธิการ ดร.พีระนันท์ นัมคณิสรณ์ ::.

จัดศึกษาโดยเน้นที่การเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนในทุกด้านด้วยวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมการเมือง และเศรษฐกิจในบรรยากาศที่เอื้อต่อการจัดการศึกษา ด้านการบริหารเน้นให้ครูมีส่วนร่วมและปฏิบัติหน้าที่ที่สอดคล้องกับจริยธรรม ส่งเสริมให้นักเรียนรับผิดชอบต่อตนเอง และทำประโยชน์เพื่อสังคม รู้จัก แสวงหา พัฒนาความรู้ด้วยตนเอง ตั้งอยู่ในกรอบแห่งวินัยในตนเอง ให้มีความวิริยะ อุตสาหะในการทำงาน ในส่วนทางด้านการพัฒนาอาคารสถานที่ ได้เน้นการสร้างบรรยากาศภายในโรงเรียนให้เกิดการเรียนรู้ โดยได้ทำการปรับปรุงสวนหย่อมภายในโรงเรียน บริเวณวสวนแม่พระ บริเวณข้างสระว่ายน้ำอัสสัมชัญ ในด้านอาคารเรียนได้ทาสีอาคารเรียนทุกอาคาร และติดหินกาบผนังอาคารคาเบรียล อาคารมงฟอร์ต ปรับพื้นที่บริเวณหน้าอาคารหอพักเซนต์แอนนาและหน้าอาคารสระว่ายน้ำ เพื่อใช้เป็นที่จัดกิจกรรมให้แก่นักเรียน English Programและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามลำดับ

.:: พ.ศ. 2550-2555 อธิการ ดร.วีรยุทธ บุญพราหมณ์ ::.

มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ทั้งในด้านการเรียนการสอน และด้านพัฒนาบุคลากร รวมทั้งพัฒนาด้านอาคารสถานที่ โดยมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ต่างๆ รอบบริเวณโรงเรียน, สร้างอาคารประกอบการ 2 หลังคือ

      อาคารสิรินธร เป็นอาคารประกอบการที่รวมแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ มารวมไว้ภายในอาคาร อาทิเช่น ห้องสมุด, ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์, ห้องประชุมสัมนาขนาดใหญ่ และโรงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ

      อาคารเรยีนา เชลี เป็นอาคารประกอบการที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีทั้งหมด 5 ชั้น ประกอบด้วย ห้องสำนักงาน, ห้องประชุม, ห้องเรียนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6, ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์, ห้องคหกรรม และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการจัดการเรียนการสอน ซึ่งนำไปสู่การศึกษาที่มีคุณภาพ

.:: พ.ศ.2556-2560 อธิการ ดร.มณฑล ประทุมราช ::.

ปี พ.ศ. 2556 ภราดา ดร.มณฑล ประทุมราช ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต และดำรงตำแหน่งอธิการ/ผู้อำนวยการและผู้จัดการ พร้อมด้วย ภราดาศิริชัย ผังรักษ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และภราดาอนุชา การุณย์ภรต ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้อำนวยการ มุ่งเน้นพัฒนาให้ผู้เรียนรู้จักช่วยเหลือตนเอง ปลูกฝังคุณธรรม และความเป็นเลิศทางวิชาการ เน้นการสอนคนมากกว่าสอนหนังสือ โดยให้รู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์และสามารถเอาตัวรอดได้ในสังคมได้ดี ได้ปรับปรุงอาคาร ทาสีและตกแต่งอาคาร จัดทำรั้วโรงเรียนอย่างเพิ่มเติมอีก 21 ช่อง จัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 130 เครื่อง จัดสร้างหลังคาสระว่ายน้ำปฐมวัย จัดสวนและทำที่นั่งใต้ต้นไม้สำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง มุ่งเน้นเรื่องระเบียบ ความมีวินัยและความสะอาด

       ปี พ.ศ. 2557 มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ได้ประกาศแต่งตั้งให้ภราดาจำรัส แก้วอำคา ภราดาใหม่มาประจำที่โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโรงเรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ของนักเรียน จัดทำห้องปฏิบัติการทางภาษา มีการปรับปรุงสาธารณูปโภคบริเวณโดยรอบโรงเรียน จัดทำพื้นยางสนามเด็กเล่นระดับปฐมวัยและประถมศึกษา จัดทำป้ายข้อความ คำสอนต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดสร้างอุทยานการศึกษาดอกคูน ให้นักเรียนศึกษาหาความรู้จากแหล่งพรรณไม้ต่างๆ จัดทำสวนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สวนภาษาอังกฤษ สวนวรรณคดี สวนวิทยาศาสตร์ สวนภาษาจีน สวนอาเซียน สวนกล้วยไม้และสวนหย่อมรอบบริเวณโรงเรียนให้สวยงาม

       ปี พ.ศ. 2558 โรงเรียนได้จัดพิธีต้อนรับ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ประธานในพิธีเปิดนิทรรศการและมอบหนังสือเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ โรงเรียนฯ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดอาคารเรียน "เรยีนา เชลี" เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เวลา 13.50 น. มีการปรับปรุงสาธารณูปโภคโดยรอบโรงเรียน ปูพื้นถนนหน้าอาคารมงฟอร์ตด้วยกระเบื้อง Marblex จัดทำที่นั่งบริเวณชั้นล่างอาคารมงฟอร์ต และปูพื้นหินขัดบริเวณชั้นล่างอาคารเรยีนา เชลี จัดสร้างแท็งค์รูปแชมเปญสำหรับเก็บน้ำบริเวณหอพักนักเรียนประจำชาย

       ปี พ.ศ. 2559 มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ได้ประกาศแต่งตั้งให้ ภราดาสยาม แก้วประสิทธิ์ มาประจำที่โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา ด้วยการประกาศจากสำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลา 15.52 น.ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ยังความวิปโยคโทมนัสที่ยิ่งใหญ่แก่ชาวอัสสัมชัญนครราชสีมาและพสกนิกรชาวไทยทุกคน และเพื่อเป็นการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ชาวอัสสัมชัญนครราชสีมาจึงพร้อมใจกันร่วมแสดงความไว้อาลัยต่อพระองค์ท่าน

       ปี พ.ศ. 2560 มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ได้ประกาศแต่งตั้งให้ภราดาคมสันต์ หมูนคำ มาประจำที่โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา ในปีนี้โรงเรียนได้มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากร ได้มีการจัดทำเวทีศักยภาพ ชั้น 1 อาคารคาอัสสัมชัญ จัดทำพื้นหินขัด ชั้น 1 อาคารคาเบรียล เปลี่ยนหลังคาอาคารประกอบอาหาร นักเรียนประจำ จัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย

.:: พ.ศ.2561-2564 อธิการ ดร.สอาด สัญญลักษณ์ ::.

ปี พ.ศ. 2561 ภราดาสอาด สัญญลักษณ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตและดำรงตำแหน่งอธิการ/ผู้อำนวยการและผู้จัดการ พร้อมด้วย ภราดาชาญณรงค์ บุญพราหมณ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และภราดาอนุชา การุณย์ภรต ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้อำนวยการ ได้มีนโยบายมุ่งเน้น ครูอยู่ดี มีความสุข เพียบพร้อมคุณธรรม วิชาการเข้มข้นในยุคดิจิตอล บุคลากรครู นักเรียน พนักงาน มีระเบียบวินัย และยังเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้บริหาร ครู บ้าน ผู้ปกครอง นักเรียน อีกทั้งยังมุ่งเน้นคุณธรรมจริยธรรมสำหรับนักเรียน และยังได้มีการปรับปรุงพื้นอาคารยินเนเซี่ยม จัดสร้าง n caf? เพื่อบริการผู้ปกครองที่มารอนักเรียน ครู และนักเรียน มีการปรับโครงสร้างบริหารโรงเรียนเพื่อให้การบริการจัดการมีความคล่องตัวและเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน อีกทั้งยังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่อำนวยความสะดวก และเอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

.:: ปัจจุบัน อธิการ วิทยา เทพกอม ::.

ปี พ.ศ. 2565 ภราดาวิทยา เทพกอม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตและดำรงตำแหน่งอธิการ/ผู้อำนวยการ พร้อมด้วย ภราดาพัชรปกรณ์ ลังบุบผา ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ/ที่ปรึกษาฝ่ายปฐมวัย/หัวหน้างานทรัพยากรมนุษย์  ภราดาคมสันต์ หมูนคำ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ/ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการนักเรียน/หัวหน้างานนักเรียนประจำ และภราดาอนุชา การุณย์ภรต ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้อำนวยการ ได้มีนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีมาตรฐานสากล (International Standard) ตามทิศทางการจัดการศึกษาในแนวมงฟอร์ต (Montfort Education Charter) เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับการพัฒนาทุกมิติ (Holistic Development) ส่งเสริมพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล ให้มีคุณภาพ เพื่อให้นักเรียนได้เป็นผู้เรียนรู้ (Learner) ผู้สร้างสรรค์ (Inventor) และพลเมืองที่เข้มแข็ง (Active Citizen) รวมทั้งมีทักษะที่จำเป็นแห่งโลกแห่งอนาคต ตลอดจนยกระดับผลสัมฤทธิ์ ผลการแข่งขันทางวิชาการ และผลการศึกษาต่อ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีมาตรฐานตามวิชาชีพ (Professional Standard) และมาตรฐานสากล (International Standard) โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ความสามารถทางการสื่อสารด้วยภาษาสากล มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างสรรค์โรงเรียนให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ควบคู่ไปกับพัฒนาการบริหารจัดการสู่ความเป็นเลิศ (Management Towards Excellency) โดยยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) รวมถึงการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เพื่อให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั่งยังพัฒนาโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมาให้เป็น "โรงเรียนแห่งองค์ปัญญา (School of Wisdom)" ยึดหลักธรรมคำสอนตามวิถีมงฟอร์ต (Montfort Education Charter) และพัฒนาประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายทางการศึกษา (Educational Partnership) กับผู้ปกครอง ศิษย์เก่า องค์กรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ และคำนึงถึงพัฒนาและบริหารกองทุน (Funding Management) เพื่อความยั่งยืนของโรงเรียน รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Environmental and Natural Conservation) อย่างต่อเนื่อง

       ปัจจุบัน โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา มีครูไทย จำนวน 182 คน ครูต่างชาติ จำนวน 30 คน พนักงาน(นักการ-ภารโรง) 70 คน และนักเรียน 2,678 คน มีอาคารเรียน 7 หลัง อาคารประกอบ 8 หลัง อาคารพักอาศัย 2 หลัง อาคารที่พักนักเรียนประจำ 2 หลัง มีห้องเรียน 92 ห้อง ห้องปฏิบัติการ 88 ห้อง